“นัท” ไม่ท้อ แม้อุบัติเหตุทำเดินไม่ได้ ลุกขึ้นสู้ สู่เจ้าของฟาร์มเมล่อน สร้างรายได้ให้ครอบครัว!

“นัท” ไม่ท้อ แม้อุบัติเหตุทำเดินไม่ได้ ลุกขึ้นสู้ สู่เจ้าของฟาร์มเมล่อน สร้างรายได้ให้ครอบครัว!

รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา พาคุณผู้ชมไปรู้จัก “นัท” หนุ่มกำแพงเพชร ที่แม้อุบัติเหตุจะทำให้เขาไม่สามารถเดินได้อีกต่อไป แต่เขาได้ตัดสินใจลุกขึ้นสู้ เพื่อมีอาชีพของตัวเอง จนในที่สุด สามารถเป็นเจ้าของฟาร์มเมล่อน โดยมีแม่ช่วยด้วยอีกแรง สามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวให้อยู่ได้

“นัท” นราวุฒิ แก้วละแสน หนุ่มชาว จ.กำแพงเพชร ไม่มีโอกาสได้อยู่กับพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก เพราะบุพการีทั้งสองต้องไปทำงานหาเงินต่างถิ่น แต่เขาก็ไม่ขาดความอบอุ่น เพราะมีปู่และย่าคอยเลี้ยงดูอบรมสั่งสอน

“หลังจากคลอดเขามา แม่ก็ทำงานที่กรุงเทพฯ ก็มาให้ปู่กับย่าเขาเลี้ยงประมาณ 3 เดือน มาอยู่ที่บ้าน แม่ก็จะส่งเงินให้ และแม่ไม่ค่อยได้กลับมาเท่าไหร่ เดือนละครั้ง บางทีก็คิดถึง พ่อกับแม่ช่วงนั้นลำบาก” ธัญญา แก้วละแสน แม่ของนัท

แม้นัทจะมีโอกาสได้ร่ำเรียน แต่ความจนก็ทำให้เขาเลือกทิ้งอนาคตทางการศึกษาไว้แค่ ม.3 แล้วออกมาทำงานรับจ้าง เพราะอยากแบ่งเบาภาระพ่อแม่

“จริงๆ อยากเรียนนะ แต่เผอิญว่า ด้วยภาระครอบครัวที่หนักขึ้น มีรายจ่ายที่มากขึ้น ทุกอย่างก็ต้องมากขึ้น เราเลยตัดสินใจหยุดเรียน อยากแบ่งเบาภาระพ่อแม่ อยากทำให้ครอบครัวมีความสุข อยากมีอาชีพให้ตัวเอง”

ขณะที่แม่ยอมรับว่า อยากให้ลูกเรียน เพราะลูกเรียนเก่ง แต่ลูกตัดสินใจที่จะกำหนดอนาคตของตนเอง

“ตอนนั้นก็อยากให้เขาเรียน เขาเป็นคนที่คิดเอง ตัดสินใจของเขา เรียนไปก็เท่านั้น แต่จริงๆ แล้วเป็นเด็กเรียนเก่ง”

หลังออกจากการเรียน นัทเดินหน้าทำงานรับจ้าง ทั้งทำนา หว่านปุ๋ย ขับรถเกี่ยวข้าว ขับรถไถ ไปจนถึงขับรถสิบล้อ ซึ่งเขายอมรับว่า รายได้ดีมาก

“มีดินหินทรายแล้วแต่เขาจะสั่ง แล้วเงินค่าตอบแทนก็ดีมาก ดีจากที่เราเคยทำมา ก็คิดว่าตอนนั้น พ่อกับแม่ต้องกลับมาได้แน่นอน คิดว่าเป็นทุน อย่างน้อยเก็บเป็นทุนไว้ให้พ่อแม่กลับมาสร้างบ้านได้สักหลังหนึ่ง อยู่ด้วยกันเป็นครอบครัว”

นัทอดทนทำงานอย่างหนักเป็นเวลาหลายปี ด้วยหวังอยากเร่งสร้างฐานะให้เร็วที่สุด แต่แล้ว! อุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด ก็ดับฝันของเขาลงในเสี้ยววินาที

“ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาประมาณ 2 ทุ่ม เขาให้นัทไปขึ้นข้าวของอีกโรงสีหนึ่ง ก็อยู่ในจังหวัดเดียวกัน แต่คนละอำเภอ ก็วิ่งไปขึ้นข้าวช่วงนั้นประมาณ 2-3 ทุ่ม ก็เข็นข้าวมาเที่ยวหนึ่งเต็มๆ เลย และขับออกมาจากโรงสีได้ประมาณ 500 เมตร โรงสีช่วงนั้นจะเป็นทางโค้ง แล้วพอดีว่ามีมอเตอร์ไซค์ ประมาณวัยรุ่นขับมา 2 คัน แข่งกันและไม่มีไฟหน้า ตอนนั้นทำให้เราตัดสินใจเหยียบเบรค และไปชนกับต้นไม้ข้างทาง ตัวก็ติดอยู่ในนั้น”

นัทไม่เพียงถูกส่งตัวไปรักษาหลาย รพ.มาก แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ยังทำให้ขาทั้งสองข้างของเขาอ่อนแรงลง จนเดินไม่ได้อีกต่อไป

“มันมืดมน มองไม่เห็นทาง ไม่รู้จะไปต่อยังไง ไม่รู้จะเอายังไงกับชีวิต เคยคิดว่า อยู่ต่อดีไหม มันรู้สึก (ถาม-ท้อ?) มากกว่าท้อ ไม่อยากอยู่ บางทีคำว่า พิการ จะให้รับเลยภายใน 1-2 วัน ผมคิดว่าบางคนให้ใจแข็งขนาดไหน ให้เราเป็นยังไง ต่อให้เจออะไรมามากมาย ถ้ามาเจออะไรแบบนี้ มันเหมือนมันหมดทุกอย่าง”

ความรู้สึกที่ต้องทนทุกข์ทรมาณจากการป่วยติดเตียง เมื่อได้รับการฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจจาก รพ.พระมงกุฏเกล้า ทำให้นัทมีแรงใจที่จะลุกขึ้นสู้อีกครั้ง

“จริงๆ นัทก็คิดว่า ถ้าเราไปมองคนที่มีมากกว่าเรา คนที่มีแขนขาใช้แขนขาได้ เราจะรู้สึกว่าตนเองมีปมด้อย สู้เขาไม่ได้ แต่ถ้าเราได้คุยกับอีกคนหนึ่ง ที่เขาเป็นเหมือนเรา หรือบางคนที่เขาเป็นมากกว่าเรา เราก็ยังคิด อย่างน้อยเราก็ไม่ได้นอนติดเตียงเหมือนเขา อย่างน้อยเรายังใช้ได้ครึ่งหนึ่ง ท่อนหนึ่ง ถึงขาเราใช้ไม่ได้ เราก็ใช้วีลแชร์แทนขาไป ก็เลยตัดสินใจลุกขึ้นสู้ ถ้าเราไม่สู้ มันอยู่อย่างนี้ มันจะเป็นไปได้ยังไง แม่ก็ต้องลำบาก พ่อก็ต้องลำบาก ทำงานคนเดียวอีก แล้วเมื่อไหร่พ่อจะได้กลับบ้าน แล้วเมื่อไหร่พ่อกับแม่จะสบายสักที”

หลังจากร่างกายและจิตใจแข็งแรงดีแล้ว นัทเริ่มเดินหน้าหาอาชีพของตัวเองอีกครั้ง ด้วยการปลูก “เมล่อน”

“จริงๆ เลย ตอนแรกยังไม่อยากลงทุน เพราะเงินมันหายากใช่ไหม ก็เลยไปหาเก็บกล่องโฟมมา ไปขอกล่องโฟมเขาที่เขาแพ็คของสดมาและโยนทิ้งตามตลาด เก็บมา 1-2 กล่อง มาทดลองปลูกก่อน พอปลูกไปปลูกมา มันมีปัญหาเยอะ บางทีไก่ที่มาจากที่อื่นก็มาจิก น้ำรั่วบ้าง ทำให้เสียหาย พอดีว่าตอนนั้นขึ้นทะเบียนผู้พิการไว้แล้ว แล้วได้เบี้ยยังชีพผู้พิการ เลยเอาเงินตัวนั้นมาลงทุนซื้อท่อพีวีซี ให้พ่อเป็นคนทำให้”

2 ปีผ่านไป นัทไม่เพียงเป็นเจ้าของฟาร์มเมล่อน “อุ่นไอรักฟาร์ม” แต่เขายังปลูกผักสลัด เพื่อเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วย

“(ถาม-ฟาร์มนี้มีหลังคา ไปเอาวิธีการมาจากไหน?) ก็มีให้ศึกษาทางยูทูบ ในอินเทอร์เน็ต และกลุ่มเฟซบุ๊กอยู่แล้ว เราก็ไปดูว่า เขาดูแลยังไง ปลูกยังไง อย่างเรามีหลังคา เวลาฝนตก ความเสียหายจะลดน้อยลง มีมุ้งกันเรื่องแมลง ไม่จำเป็นต้องไปใช้สารเคมี”

แม้กระแสการตอบรับเมล่อนของนัทค่อนข้างดี แต่เขายอมรับว่า การเป็นเกษตรกร แต่ละวันจะเจอปัญหาไม่เหมือนกัน เช่น เรื่องสภาพอากาศ ซึ่งจะส่งผลต่อผลผลิตให้เสียหายได้ แต่ถึงแม้จะมีปัญหาบ้าง ขาดทุนบ้าง เขาก็ไม่เคยคิดล้มเลิกสิ่งที่ทำอยู่

“ไม่เคยคิดล้มเลิกนะ มีแต่คิดว่า เราลองถอยสักก้าวหนึ่งไหม ปัญหาที่เราเจอมันคืออะไรมากกว่า คิดทบทวนมากกว่า ว่าเราต้องทำยังไงต่อไปให้มันได้ นัทคิดว่า มันไม่มีอาชีพไหนที่ไม่เคยล้มเหลวผิดพลาด”

“จริงๆ ถ้าเรามองปัญหาแค่ตรงนี้ หลายคนอาจมองเป็นปัญหาใหญ่ แต่นัทมองปัญหาตัวนี้เป็นปัญหาที่น้อยนิด ถ้าเทียบกับวันที่เราสูญเสียขาไป ปัญหาแค่นี้เป็นเรื่องเล็กน้อยเลย มันไม่สามารถทำให้เราถอยหรือล้มเลิกความตั้งใจทำตรงนี้ได้”

ความสำเร็จในการปลูกเมล่อนของนัท ไม่เพียงสะท้อนถึงการก้าวข้ามข้อจำกัดทางร่างกาย แต่ยังหมายถึงการเดินถึงฝันในการมีอาชีพของตัวเอง และที่สำคัญ คือการได้มีโอกาสอยู่พร้อมหน้าพ่อแม่ลูกมากขึ้น เพราะแม่คืออีกหนึ่งแรงสำคัญที่ช่วยให้ฟาร์เมล่อนของเขาอยู่มาได้ถึงวันนี้ วันที่เข้าปีที่ 3 แล้ว

“นัท” ไม่ท้อ แม้อุบัติเหตุทำเดินไม่ได้ ลุกขึ้นสู้ สู่เจ้าของฟาร์มเมล่อน สร้างรายได้ให้ครอบครัว!

“ถ้าเป็นเรื่องในฟาร์ม แม่จะช่วยเหลือทุกอย่าง ผสมเกสร และพันยอดขึ้น เขาจะดูแลระบบน้ำ และปุ๋ย ทำมา 2 ปีแล้ว ก็ดีอยู่นะ ได้อยู่กับลูก ได้ดูแลครอบครัวด้วย มีรายได้จากตรงนี้พอช่วยเหลือครอบครัวได้ ภูมิใจในตัวเขา ถ้าไม่มีเขา แม่ก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ได้ไหม เขาอาจสูญเสียการเคลื่อนไหว แต่เรายังเห็นหน้ากันทุกวัน เราได้ดูแลซึ่งกันและกัน ก็มีความสุขแล้ว”

“จริงๆ ถ้าเรามองในมุมขาด มันก็คือขาด แต่สิ่งที่เราเสียไป ไม่ใช่ว่าจะเสียทุกอย่าง เราเสียไป เรายังได้บางอย่างกลับคืนมา เช่น เราไม่เคยอยู่กับพ่อแม่เลย แม่ก็มาอยู่กับเราตลอด พ่อก็ได้กลับบ้านบ่อยขึ้น และครอบครัวก็มีรายได้ เราก็ยังไม่ได้ทิ้งฝันตอนเรายังปกติอยู่ ยังไมได้ประสบอุบัติเหตุ เราก็ยังตามฝันได้อยู่ ทุกอย่างมันอยู่ที่ตัวเรา ถ้าใจเราสู้ มันเป็นไปได้จริงๆ ทุกอย่างมันเริ่มที่ตัวเรา”

“นัท” ไม่ท้อ แม้อุบัติเหตุทำเดินไม่ได้ ลุกขึ้นสู้ สู่เจ้าของฟาร์มเมล่อน สร้างรายได้ให้ครอบครัว!

แม้ปัจจุบัน นัทจะมีโรงเรือนสำหรับเมล่อนแค่ 2 โรง แต่เขาฝันจะมีโรงที่ 3 ให้ได้ เพราะเมล่อน 3 เดือนจะได้ผลผลิตครั้งหนึ่ง หากมี 3 โรง แม่ก็จะมีรายได้ทุกเดือน

นัทไม่เพียงประสบความสำเร็จในการปลูกเมล่อน แต่เขายังทำให้ผลผลิตที่ออกมามีคุณภาพ และได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) จากกรมวิชาการเกษตรเรียบร้อยแล้ว

หากท่านใดสนใจแลกเปลี่ยนความรู้การปลูกเมล่อน หรืออุดหนุนเมล่อนของ“นัท”ติดต่อได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก“อุ่นไอรักฟาร์ม Melon farm”

คลิกชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ตอน “เกษตรกรวีลแชร์” https://www.youtube.com/watch?v=jZrEscpqnHg (ขนาดไฟล์: 919563)

ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-09.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 )

ขอบคุณ... https://mgronline.com/news1/detail/9650000100596

ที่มา: mgronline.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 21 ต.ค.65
วันที่โพสต์: 21/10/2565 เวลา 09:39:41 ดูภาพสไลด์โชว์ “นัท” ไม่ท้อ แม้อุบัติเหตุทำเดินไม่ได้ ลุกขึ้นสู้ สู่เจ้าของฟาร์มเมล่อน สร้างรายได้ให้ครอบครัว!