ม.รังสิต จับมือ ภาคีเครือข่ายสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จังหวัดเชียงใหม่
ม.รังสิต จับมือ ภาคีเครือข่ายสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จังหวัดเชียงใหม่สร้างความร่วมมือแบบหุ้นส่วนในการพัฒนาชุมชน
คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต ลงนามความร่วมมือทางการวิจัยและพัฒนา ระหว่าง คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา และศูนย์พัฒนาหลักหก มหาวิทยาลัยรังสิต กับ ภาคีเครือข่ายสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จังหวัดเชียงใหม่ และเครือข่ายศูนย์บริการคนพิการภาคเหนือ 5 จังหวัด (เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำปาง แม่ฮ่องสอน)
ผศ.ดร.นเรฏฐ์ พันธราธร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต พร้อมด้วยดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์ คณบดีคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา ร่วมลงนามความร่วมมือทางการวิจัยและพัฒนา ระหว่าง คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา และศูนย์พัฒนาหลักหก มหาวิทยาลัยรังสิต กับ ภาคีเครือข่ายสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จังหวัดเชียงใหม่ และเครือข่ายศูนย์บริการคนพิการภาคเหนือ 5 จังหวัด (เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำปาง แม่ฮ่องสอน)
ผศ.ดร.นเรฏฐ์ กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นการพัฒนาบุคลากรร่วมกันทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ รวมถึงความร่วมมือในการศึกษา วิจัย พัฒนา และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านกายภาพบำบัดและวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อให้บุคลากรได้พัฒนาขีดความสามารถและนำองค์ความรู้ใหม่ไปใช้ประโยชน์ต่อนักศึกษา ผู้ป่วยและวงการสาธารณสุข ซึ่งเป็นการสร้างความร่วมมือแบบหุ้นส่วนในการพัฒนาชุมชนและศักยภาพของคนในชุมชน โดยมีศูนย์บริการคนพิการตำบลชมภูและเครือข่ายศูนย์บริการคนพิการภาคเหนือ 5 จังหวัด(เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำปาง แม่ฮ่องสอน) รับเป็นสถานที่ฝึกประสบการณ์ให้แก่นักศึกษาคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา
“เรามีองค์ความรู้จริง เราทำวิจัยจริง แต่ที่ผ่านมาท่านคงได้ยินคำว่าวิจัยขึ้นหิ้ง แต่ในวันนี้สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นมิติใหม่คือ ปัญหาที่แท้จริงจากสังคม ปัญหาที่อยากให้มหาวิทยาลัยรังสิตช่วยจะมาเป็นโจทย์ให้กับนักศึกษาของเรา ซึ่งเราจะได้สื่อสารกัน วันนี้ม.รังสิต จะมาเรียนรู้จากชุมชน เราอยากติดอาวุธทางวิชาการให้แก่ชุมชนและเดินไปพร้อมกัน” รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าว
ด้านนายอนันต์ แสงบุญ ประธานภาคีเครือข่ายสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ผมรู้สึกดีใจและตื้นตันมาก เพราะว่าเวลาเราทำงานในชุมชน แม้ว่าเราจะมีความตั้งใจอย่างไรก็ตาม เรามีความรู้และทักษะที่จำกัด ซึ่งการที่เรามีความปรารถนาดีต่อคนพิการ แต่ด้วยทักษะความรู้ที่เรามีอย่างจำกัดอาจจะเป็นการซ้ำเติมให้กับความพิการของเขามากขึ้น ผมคิดว่าองค์ความรู้ที่จะได้รับในอนาคตกับงานให้บริการด้านการศึกษาและวิชาการของมหาวิทยาลัยรังสิต เป็นโอกาสที่จะเติมเต็มองค์ความรู้ พัฒนาศักยภาพให้กับจิตอาสาและชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่การป้องกันความพิการให้กับประชาชนทั่วไปในอนาคตได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยรังสิตและผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างสูง