กสม.เสนอ พม.แก้ กม.คุณภาพชีวิตคนพิการให้สอดคล้องหลักสิทธิมนุษยชน

กสม.เสนอ พม.แก้ กม.คุณภาพชีวิตคนพิการให้สอดคล้องหลักสิทธิมนุษยชน

กสม.ยินดี ครม.เห็นชอบร่าง กม.คุ้มครองสิทธิประชาชนรับบริการสาธารณสุข เล็งเสนอ พม. แก้ไขคุณภาพชีวิตคนพิการให้สอดคล้องหลักสิทธิมนุษยชน

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายภาณุวัฒน์ ทองสุข ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 11/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

1. กสม. ยินดี ครม. เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาคุ้มครองสิทธิประชาชนในการรับบริการสาธารณสุขเกี่ยวกับการเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรค หลังประธาน กสม. มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเสนอให้เร่งแก้ปัญหา

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามสถานการณ์สิทธิด้านสุขภาพและรับทราบข้อห่วงกังวลจากภาคีเครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุขในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

อันเนื่องมาจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มีมติเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ให้ชะลอการจัดสรรงบประมาณด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (Promotion and Prevention: PP) การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (PP-HIV) การดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง และกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น ซึ่งต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เป็นผลให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินจากกองทุนของ สปสช. เป็นค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ สำหรับประชาชนที่อยู่นอกสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) อันได้แก่ ข้าราชการ พนักงานของรัฐ และผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 ของกฎหมายประกันสังคม ประมาณ 18 ล้านคน เช่นที่เคยเป็นมาได้

จากสถานการณ์ดังกล่าว กสม. และภาคีเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชนจึงได้จัดประชุมเพื่อรับฟังข้อมูลและข้อคิดเห็นต่อกรณีข้างต้นจากผู้ที่เกี่ยวข้องเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม 2566 พบว่า ปัจจุบันหน่วยบริการไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายสร้างเสริมสุขภาพฯ จาก สปสช. สำหรับผู้ที่อยู่นอกสิทธิบัตรทองได้ ทำให้หน่วยบริการบางแห่งยุติการให้บริการดังกล่าวแก่ผู้อยู่นอกสิทธิบัตรทอง ส่วนหน่วยบริการที่ยังคงให้บริการต่อเนื่องต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เอง จึงอาจไม่สามารถให้บริการได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้การเข้าไม่ถึงบริการป้องกันโรค เช่น บริการคุมกำเนิด การฝากครรภ์ การยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย การให้วัคซีนป้องกันโรคแก่เด็ก และการป้องกันการติดเชื้อ/การดูแลสุขภาพผู้ติดเชื้อเอชไอวี อาจทำให้ปัญหาสุขภาพสำคัญที่รัฐบาลพยายามแก้ไขและมีความก้าวหน้ามาเป็นลำดับกลับมาเป็นปัญหาอีก เช่น การตั้งครรภ์

ในวัยรุ่น การติดเชื้อและเสียชีวิตจากเอชไอวี/เอดส์ในอัตราที่สูงขึ้น รวมถึงมีผลกระทบต่อบริการสาธารณสุขในระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการสำหรับผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน

กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า การสร้างเสริมสุขภาพช่วยลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ และลดภาระงบประมาณของประเทศในการดูแลรักษาพยาบาลให้แก่ประชาชน ซึ่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และรัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐอย่างทั่วถึง การที่หน่วยบริการไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายของผู้ที่อยู่นอกสิทธิบัตรทองจากงบประมาณสร้างเสริมสุขภาพฯ ของ สปสช. ซึ่งเป็นปัญหาเกิดขึ้นมานานกว่า 5 เดือน และเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนบางกลุ่มที่ต้องได้รับบริการต่อเนื่องนั้น ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 47 และมาตรา 55 รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและรัฐมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามเพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับสิทธิที่จะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่เป็นได้

ด้วยเหตุนี้ กสม. โดย นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงมีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 10 มีนาคม 2566 เรื่อง ข้อเสนอแนะมาตรการคุ้มครองสิทธิรับบริการสาธารณสุขเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณามอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองสิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขด้านสร้างเสริมสุขภาพฯ สำหรับผู้ที่อยู่นอกสิทธิบัตรทองให้มีผลในทางปฏิบัติโดยเร่งด่วน

ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา เห็นชอบในหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา 4 ฉบับ ที่กำหนดให้ผู้ที่ไม่ได้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ และบริการสาธารณสุขอื่นที่จำเป็นตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ อันสอดคล้องกับข้อเสนอของ กสม.

สำหรับข้อเสนอของ กสม. ประกอบด้วย

(1) ขอให้ ครม. เร่งรัดให้ สปสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการให้การจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 9 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 อันมีสาระให้สิทธิบริการด้านสร้างเสริมสุขภาพฯ ครอบคลุมถึงผู้ที่อยู่นอกสิทธิบัตรทอง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่าง

การเปิดรับฟังความคิดเห็นมีผลใช้บังคับโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนที่อยู่นอกสิทธิบัตรทองทุกกลุ่มมีสิทธิเข้าถึงบริการสาธารณสุขด้านการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ และบริการสาธารณสุขอื่นที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตได้อย่างเท่าเทียม

(2) ในระหว่างการจัดทำกฎหมายตามข้อ (1) ให้ ครม. สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ที่อยู่นอกสิทธิบัตรทองสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อคุ้มครองและแก้ไขปัญหาแก่ผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงชดเชยเงินให้แก่หน่วยบริการสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชนที่ได้สำรองค่าใช้จ่ายในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปก่อนแล้ว

“เป็นที่น่ายินดีที่ ครม. ตอบรับข้อเสนอ และลงมาช่วยแก้ปัญหา ซึ่งจะช่วยขจัดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขด้านการเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรค อย่างไรก็ตาม อยากฝากเรื่องการเยียวยาและชดเชยเงินให้กับหน่วยบริการสุขภาพที่ได้สำรองเงินไปก่อนด้วย” นายวสันต์ กล่าว

2. กสม. เตรียมเสนอกระทรวง พม. แก้ไขปรับปรุงกฎหมายส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน

นายภาณุวัฒน์ ทองสุข ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือน เมษายน 2565 เรื่อง สิทธิคนพิการ ระบุว่าพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีรายละเอียดไม่ครอบคลุมสตรีพิการและเด็กพิการ ส่งผลให้ถูกกีดกันจำกัดสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรและแหล่งทุน ขาดโอกาสการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจระดับนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อสตรีและเด็กพิการ ถูกแสวงหาประโยชน์ กระทำความรุนแรงและ

การล่วงละเมิดในรูปแบบต่าง ๆ นอกจากนี้บทบัญญัติบางมาตราในกฎหมายดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริง บทบัญญัติของกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน งานวิจัย และความคิดเห็นจากผู้ร้อง หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่ากรณีบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ

อาจกระทบต่อหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และอาจไม่เป็นไปตามหลักความเสมอภาคหรือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 4 และมาตรา 27 ที่กำหนดคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล และกำหนดว่าการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพของบุคคลจะกระทำไม่ได้

ด้วยเหตุดังกล่าว กสม. ในคราวประชุม กสม. ด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ไปยังกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สรุปได้ดังนี้

(1) ให้แก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และ

ที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4 โดยกำหนดให้คำว่า “องค์การคนพิการแต่ละประเภท” หมายความว่า องค์กรสมาชิกระดับชาติตามประเภทความพิการ หรือองค์กรคนพิการที่สมาชิกมีความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ และสถานะของบุคคลที่ได้แจ้งชื่อไว้กับกรมตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

(2) ให้แก้ไขปรับปรุง มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการพ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยกำหนดให้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากผู้เชี่ยวชาญในด้านสิทธิ คนพิการซึ่งมีประสบการณ์ทำงานหรือมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ และกำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องเป็นสตรีพิการไม่น้อยกว่าสองคน เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้แทนของสตรีพิการจะสามารถเสนอนโยบายและความเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการต่อคณะรัฐมนตรีได้ รวมถึงคำนึงถึงสัดส่วนผู้พิการชายและหญิงด้วย

(3) ให้แก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยยกเลิกมาตรา 15 วรรคสาม ที่ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติที่มีเหตุผลทางวิชาการจารีตประเพณี หรือประโยชน์สาธารณะ ต่อคนพิการ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการใช้ดุลพินิจของผู้ใช้กฎหมายในการตีความกฎหมายที่อาจมีผลเป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการ

(4) ให้เพิ่มเติมคุณสมบัติขององค์กรที่ขอแจ้งเป็นองค์การคนพิการใน ข้อ 4 ของระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติว่าด้วยการรับแจ้งชื่อองค์การคนพิการแต่ละประเภท พ.ศ. 2554 โดยให้ “มีผู้แทนของกลุ่มคนพิการที่สะท้อนถึงภูมิหลังหรืออัตลักษณ์ที่หลากหลายของแต่ละบุคคล” ด้วย เพื่อให้องค์กรที่จะได้รับแจ้งชื่อเป็นองค์การคนพิการมีคุณสมบัติสอดคล้องกับนิยามองค์การคนพิการแต่ละประเภทตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ขอบคุณ... https://bit.ly/3mWJXas (ขนาดไฟล์: 136)

ที่มา: isranews.org/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 16 มี.ค.66
วันที่โพสต์: 16/03/2566 เวลา 13:41:20 ดูภาพสไลด์โชว์ กสม.เสนอ พม.แก้ กม.คุณภาพชีวิตคนพิการให้สอดคล้องหลักสิทธิมนุษยชน