จัดโครงการส่งเสริมความรู้และป้องกันภาวะซึมเศร้า แก่ผู้พิการทางสติปัญญา และผู้ดูแลฯ
ชมรมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาจังหวัดเชียงราย จัดโครงการส่งเสริมความรู้และป้องกันภาวะซึมเศร้า แก่ผู้พิการทางสติปัญญา และผู้ดูแลฯ
วันนี้ 16 กันยายน 2567 ชมรมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาจังหวัดเชียงราย ได้จัดกิจกรรมให้ความรู้และกิจกรรมสันทนาการ สร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า โครงการขอรับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ประจำปี 2567 เพื่อป้องกันภาวะซึมเศร้าแก่ผู้พิการทางสติปัญญาและผู้ดูแลผู้พิการทางสติปัญญา และให้ผู้พิการและผู้ดูแลฯ มีคุณภาพชีวิตครอบครัวที่ดีขึ้น โดยมี นางยุพิน แก้วรากมุข ประธานชมรมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาจังหวัดเชียงราย สมาชิกชมรมฯ คณะวิทยากรกลุ่มมัดปุ๊กเชียงราย ผู้พิการทางสติปัญญา และผู้ดูแลฯ รวมกว่า 70 คน เข้าร่วมกิจกรรม
จากสถานการณ์โรคซึมเศร้าในประเทศไทย กรมสุขภาพจิต รายงานว่า มีผู้ป่วยร้อยละ 5 ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 3 ล้านคน และมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ในปัจจุบันพบว่าคนไทยให้ความสนใจกับโรคนี้น้อย มักมีทัศนคติในทางลบ คิดว่าเป็นโรคจิตหรือโรคประสาท ทำให้ไม่กล้ารับการรักษา จึงพบว่าการเข้าถึงบริการและวินิจฉัยรักษาเพียงร้อยละ 28 เท่านั้น โรคซึมเศร้าเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญ หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที จะก่อให้เกิดการสูญเสียสุขภาวะ ส่งผลกระทบต่อครอบครัว สังคมและเศรษฐกิจ นอกจากนี้หากเป็นเรื้อรังจะทำให้ผู้ป่วยมีความคิดทำร้ายตนเองและฆ่าตัวตายในที่สุด ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามีหลายปัจจัย ได้แก่ พันธุกรรม ความเครียด การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ผู้ที่เก็บกดอารมณ์มองโลกในแง่ร้ายหรือมีโรคทางกายหรือโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เนื่องจากโรคเรื้อรังเป็นการเจ็บป่วยที่รักษาไม่หายและไม่สามารถกลับคืนสู่สภาพปกติได้ ต้องใช้เวลารักษายาวนาน มีผลกระทบต่อร่างกายทุกระบบ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความเครียด วิตกกังวล หากผู้ป่วยไม่สามารถจัดการกับความเครียดและความวิตกกังวลจะก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตที่รุนแรงขึ้นได้ ทำให้เกิดความท้อแท้ สิ้นหวัง เบื่อหน่าย ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองลดลง จนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า
ชมรมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาจังหวัดเชียงราย ได้เล็งเห็นความสำคัญ ในการเกิดภาวะโรคซึมเศร้าในคนพิการและผู้ดูแลคนพิการทางสติปัญญา การตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัวและตนเอง ให้มีความอบอุ่น เข้มแข็ง และเกิดความรักความสามัคคีกันในครอบครัว จนคนพิการและผู้ดูแลคนพิการมีคุณภาพชีวิตครอบครัวที่ดีขึ้น จึงได้จัดโครงการฯ นี้ขึ้น เพื่อให้ผู้พิการและผู้ดูแลฯ มีคุณภาพชีวิตครอบครัวที่ดีขึ้นต่อไป
ขอบคุณ... https://thainews.prd.go.th/thainews/news/view/574863/?bid=1