เด็ก 2 ล้านคนตกหล่นไร้สวัสดิการ ตบเท้าเรียกร้องรัฐบาลใหม่
ตบเท้ายื่นข้อเสนอต่อว่าที่ผู้สมัคร สส. เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ รัฐสวัสดิการ ผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เครือข่ายชนเผ่า
เวทีเสวนาประชาหารือเนื่องในวาระวันสตรีสากลและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการเลือกตั้ง ตามแนวคิด “สังคมดี - การเมืองดี ต้องมีสตรีร่วมทาง : women Together Stand for Good Society & good Politicals” ได้มีการกล่าวถึงกลุ่มคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะ "เด็ก"
โดย สุนี ไชยรส ประธานขับเคลื่อนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า กล่าวว่า วันนี้คนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังคือ กลุ่มเด็ก สถานการณ์ปัจจุบันทุกกลุ่มมีสวัสดิการแม้ไม่ถ้วนหน้าก็ตาม ทั้งกลุ่ม ผู้สูงอายุ บัตรทอง
แต่เด็ก 0-6 ปี ไม่มีสวัสดิการใดๆ ที่เรียกว่าถ้วนหน้า วันนี้เด็กมีประมาณ 4.3 ล้านคน ได้เงินสนับสนุน 2.2 ล้านคน แต่เด็กอีก 2 ล้านกว่าคนทำไมถึงไม่ได้รับสวัสดิการ รวมไปถึงปัญหาแม่วัยใสที่มีมากขึ้นด้วย
พร้อมขอเรียกร้องสิทธิลาคลอดเพิ่มเป็น 180 วัน และขอให้มีศูนย์เลี้ยงเด็ก ที่รับเด็กตั้งแต่ 6 เดือน – 6 ปี เพื่อรองรับความต้องการของผู้ปกครองที่ต้องทำงานด้วย
ขอบรรจุวิชาเพศศึกษาลงในหลักสูตรในโรงเรียนอย่างจริงจัง แก้ปัญหาแม่วัยใส
นอกจากนี้ สมาคมเพศวิถี ขอให้บรรจุวิชาเพศศึกษาลงในหลักสูตรในโรงเรียนอย่างจริงจัง เพื่อแก้ปัญหาแม่วัยใส ขณะที่กลุ่มเยาวชน จากสภาเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ปัจจุบันเครือข่ายเด็กและสตรี ไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในเชิงนโยบาย จึงขอให้มีสัดส่วนของ สส.หญิงและกลุ่มเพศสภาพเพิ่มมากขึ้น
ในขณะที่เยาวชนจากพื้นที่ชุมชนแออัด ขอให้พรรคการเมืองพิจารณานำพื้นที่ชุมชนแออัดเป็นพื้นที่เรียนรู้ เพื่อให้เยาวชนในพื้นที่มีโอกาสแสดงความสามารถผ่านพื้นที่ของตนเอง
ขอพรรคการเมืองตระหนัก "ความรุนแรงทางเพศ"
ด้าน สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กล่าวว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นด้วยเหตุแห่งเพศ ยังคงเกิดขึ้นในสังคม ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองตระหนักถึงเรื่องนี้ ขอให้มีการดำเนินการกับคนที่กระทำความผิดเรื่องเพศ และขอให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และขอให้ผู้เสียหายได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม กระบวนการยุติธรรมถึงจะมีความเป็นธรรมอย่างแท้จริง
ในขณะที่ผู้แทนจากแรงงานนอกระบบ ขอให้พรรคการเมือง รับรองอนุสัญญาที่ 87 และ 98 ที่พูดถึงเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรอง อนุสัญญา C177 เรื่องรับงานไปทำที่บ้าน อนุสัญญา C189 งานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทางบ้าน อนุสัญญา 190 ความรุนแรงในโลกของการทำงาน และขอให้มีการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่าง ๆ ขอให้มีการตั้งกองทุนอาชีพ ช่วยควบคุมราคาสินค้าด้วย
ยังไม่มีพรรคไหนมีภาษามือนำเสนอนโยบายให้กับคนหูหนวก
ด้านกลุ่มคนพิการ ขอให้พิจารณาปรับแก้ไขกฎหมายส่งเสริมศักยภาพคนพิการ เพื่อให้เพิ่มสิทธิของสตรีพิการประเภทของความพิการจะเปลี่ยนไปตามโลก ซึ่งในส่วนของการจ้างงานคนพิการ ขอให้จ้างงานอย่างถาวร และส่งเสริมให้ภาครัฐจ้างงานคนพิการมากขึ้น วางนโยบายมาจากคนพิการอย่างแท้จริง ผู้แทนจากกลุ่มคนพิการยังเสริมด้วยว่า ณ วันนี้การหาเสียงของพรรคการเมือง ยังไม่มีพรรคไหนมีภาษามือนำเสนอนโยบายให้กับคนหูหนวก
ส่วนกลุ่มเครือข่ายสตรีพิการ สวาท ประมูลศิลป์ กล่าวว่างาน อัตราการจ้างของศูนย์การศึกษาพิเศษควรเป็นคนพิการ เพราะจะได้รู้และเข้าใจคนพิการ เด็กพิการจะได้รับการเลี้ยงดูแบบเข้าใจ
พร้อมขอเสนอให้มีกฎหมายสำหรับแม่เลี้ยงเดี่ยวคนพิการ โดยระบุให้เงินเดือนของสามีครึ่งหนึ่งให้กับภรรยา หากเลิกรากันแล้วผู้หญิงจะได้มีเงิน และควรบรรจุเรื่องการบริหารจัดการการเงินของครอบครัวลงไปในกฎหมายด้วย
กลุ่มฟ้าศรีรุ้ง ขอให้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อผลักดันประเด็นเพศสภาพ
และขอให้พรรคการเมืองมีนโยบายผลักดันกฎหมายของกลุ่มLGBT ด้วย เข่น กฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายรับรองเพศสภาพ กฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล กลุ่มเปราะบางต่าง ๆ กฎหมายยกเลิกการค้าประเวณี รวมถึงปรับปรุงแก้ไขกฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 77
กลุ่มผู้สูงอายุ ขอสนับสนุนงบประมาณให้ชมรมผู้สูงอายุ เดือนละ 3,000 บาท เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของผู้สูงอายุแก้ปัญหาผู้สูงอายุติดเตียง
นอกจากนั้นยังมีข้อเสนอจาก
ผู้แทนจากเครือข่ายสลัมสี่ภาค ขอให้พรรคการเมืองพิจารณาประเด็นที่อยู่อาศัย การไล่รื้อ ซึ่งการไล่รื้อส่งผลกระทบกับชุมชนเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ขอให้พรรคพิจารณานโยบายรัฐสวัสดิการให้เป็นจริง โดยขึ้นเป็น 3,000 บาทให้กับทุกคน
เครือข่ายสตรีชนเผ่า กล่าวว่า ทั้งประเทศมี 52 ชาติพันธุ์ ความหวังเครือข่ายฯ ฝากไว้ที่ว่าที่ผู้สมัคร สส.ทุกคน ให้ช่วยผลักดันกฎหมายสภาชนเผ่าพื้นเมืองด้วย ซึ่งเป็นการรวมตัวกันตั้งแต่เหนือจรดใต้ เจตนารมณ์คือการคุ้มครองทุกคนให้มีสิทธิเท่าเทียม
อย่างไรก็ตาม เวทีเสวนาประชาหารือเนื่องในวาระวันสตรีสากลและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการเลือกตั้ง ตามแนวคิด “สังคมดี - การเมืองดี ต้องมีสตรีร่วมทาง : women Together Stand for Good Society & good Politicals” จัดโดย สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายเพื่อการพัฒนา สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี สถาบันพระปกเกล้า ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) UN Women สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และ Friedrich Ebert Stiftung (FES)
ขอบคุณ... https://bit.ly/3n35dLF (ขนาดไฟล์: 105)