‘ดรุณวรรณ’ ชี้ยุทธศาสตร์ “สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ” หนุนคนพิการพึ่งพาตนเองได้
"ดรุณวรรณ" ชี้ยุทธศาสตร์ “สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ” ช่วยสร้างอาชีพ สร้างความมั่นคง ให้คนพิการพึ่งพาตนเองได้ ส่งเสริมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้ร่วมเสวนาพร้อมกับตัวแทนจากพรรคการเมืองอื่นในงาน “เวทีประชาชน คนพิการอยู่ไหน ในการเมืองไทย” ซึ่งจัดโดย เครือข่ายคนพิการและภาคีร่วมภาคประชาชน ร่วมกับ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ และสถาบันปฏิรูปประเทศไทย มหาวิทยาลัยรังสิต
นางดรุณวรรณ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอแนวคิด “เปลี่ยนผู้ด้อยโอกาส ให้เป็นผู้ได้โอกาส” ในการทำนโยบายเพื่อคนพิการ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ “สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ” ของพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมนำเสนอประเด็นที่สำคัญ กล่าวคือ
1. ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และสร้างเจตคติที่ดีให้เกิดการยอมรับผู้พิการภายใต้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันและ “เขาไม่ได้แตกต่างจากเรา”
2. ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของคนพิการ เพื่อช่วย “สร้างคน” โดยพรรคฯ มีจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องการศึกษา เพราะเชื่อว่าการศึกษาคือความมั่นคงของชาติ ดังนั้นการศึกษาสำหรับผู้พิการก็จะเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับผู้พิการด้วยเช่นกัน ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์จะขับเคลื่อน และส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของผู้พิการ โดยเฉพาะเรื่องการออกแบบหลักสูตรที่เหมาะสมกับประเภทและระดับความพิการแต่ละบุคคล (IEP – Individual Education Program) ซึ่งต้องสอดคล้องกับความต้องการเรียนรู้ตามทักษะความสามารถและสอดรับกับประเภทความพิการ (Education Choices)
ในปี 2565 ถือเป็นปีที่สำคัญของการเรียนร่วม ซึ่ง ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จากพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่ดูแลกำกับการศึกษาพิเศษได้ผลักดันให้เกิดการเรียนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน และต้องทำให้เกิดขึ้นในโรงเรียน 245 แห่ง เพื่อให้เป็นโรงเรียนคุณภาพต้นแบบครบทุกเขตพื้นที่การศึกษา พร้อมกับสนับสนุนเรื่องการเพิ่มอัตรากำลังของครูในโรงเรียนการศึกษาพิเศษ เพราะการเรียนในระบบการศึกษาพิเศษนอกจากจะต้องมีครูเพื่อให้ความรู้ทางวิชาการแล้ว ยังจำเป็นจะต้องมีครูสายสนับสนุนเพิ่มเติม ปัจจุบันได้รับการอนุมัติกรอบอัตรากำลังมาแล้ว รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงเชื่อมั่นว่าการมีบุคลากรเพิ่มเติมจะทำให้ระบบการศึกษาพิเศษดีขึ้น ดูแลได้ทั่วถึงมากขึ้น
พรรคประชาธิปัตย์คิดเรื่อง “ทำอย่างไรจะต้องมีรายได้ระหว่างเรียน” ไม่ใช่คิดเพียงแค่ให้เรียนจบแล้วมีงานทำ เพราะการเรียนในระบบการศึกษาพิเศษนั้น นอกจากต้องส่งเสริมทักษะวิชาการแล้วยังต้องสร้างทักษะอาชีพตั้งแต่ในรั้วสถานศึกษาไปพร้อมๆ กัน ยกตัวอย่างเช่นโรงเรียนพิษณุโลกปัญญานุกูล เป็นโรงเรียนที่นักเรียนมีรายได้ระหว่างเรียน 100% ซึ่งการฝึกอาชีพถือเป็นการ “สร้างเงิน” สร้างงาน สร้างอาชีพให้เกิดขึ้นตั้งแต่ในรั้วโรงเรียน เพื่อช่วยให้เด็กมีรายได้ระหว่างเรียนช่วยลดภาระผู้ปกครอง รวมถึงจัดให้มีการเรียนรู้ทักษะ CODING และการเรียนแบบ STEAM Education เพื่อฝึกให้นักเรียนสามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคม และการจัดการเรียนรู้ด้านศิลปะ ดนตรี กีฬา ช่วยสร้างสมาธิและส่งเสริมความสามารถ
3. สนับสนุนการปรับเบี้ยผู้พิการให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ริเริ่ม “เบี้ยผู้พิการถ้วนหน้า” จากจุดเริ่มต้น 500 บาท และเพิ่มขึ้นเป็น 800 บาท ในปี 2557 โดยล่าสุดปี 2565 พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ในฐานะประธานบอร์ดผู้พิการแห่งชาติ ได้พยายามผลักดันเบี้ยผู้พิการเป็น 1,000 บาทแบบถ้วนหน้า และนำเรื่องเสนอต่อ ครม. แล้ว แต่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบเนื่องจากกรอบงบประมาณ สำหรับในเรื่องนี้หากพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งที่จะถึง ก็พร้อมเดินหน้าผลักดันอย่างเต็มที่
พรรคประชาธิปัตย์ยังมีความจริงใจที่จะเปิดพื้นที่ให้กับผู้พิการได้มาร่วมทำงานทางการเมืองควบคู่ร่วมกันกับพรรค ในรูปแบบต่างๆ และพร้อมสนับสนุน ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ของสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยและองค์การคนพิการระดับชาติ หากมีการนำเสนอร่างนี้เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร
“นอกจากการสร้างเงิน สร้างคน แล้ว การสร้างชาติโดยการปราบปรามยาเสพติดและทุจริตคอรัปชั่นก็สำคัญเพราะจะทำให้ประเทศมีงบประมาณนำมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ ภายใต้แนวทางทั้งหมดนี้ เราเชื่อว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมและสร้างคุณค่าความเป็นมนุษย์ให้กับผู้พิการทุกคน” นางดรุณวรรณกล่าว
ขอบคุณ... https://www.komchadluek.net/special-pr/news/politics/545493