‘เลขาฯ สภาคนพิการ’ จับตาเลือกตั้ง ชี้ยังไม่มีพรรคไหนช่วยคนพิการจริงจัง แนะจัดสรรงบ – ปรับสภาพแวดล้อม รพ.
เลขาฯ สภาคนพิการ สะท้อนความเห็น ยังไม่มีพรรคการเมืองไหนจะทำนโยยายเพื่อคนพิการอย่างจริงจัง เผยสภาพแวดล้อมหน่วยบริการสาธารณสุขก็ไม่เอื้อต่อคนพิการ เทคโนโลยีการแพทย์พัฒนาทุกวัน แต่คนพิการไม่มีช่องใช้บริการ
นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ เลขาธิการสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “The Coverage” ถึงข้อเสนอต่อพรรคการเมืองในการสร้างนโยบายสุขภาพเพื่อคนพิการว่า ยังไม่เห็นพรรคการเมืองใดจริงจังต่อการช่วยเหลือ หรือขับเคลื่อนระบบสุขภาพเพื่อคนพิการใดๆ เลย แม้ที่ผ่านมา ทางสมาคมสภาคนพิการฯ จะถูกเชิญไปเสนอความคิดเห็น แต่ในส่วนพรรคการเมืองก็ทำเพียงแค่รับฟัง แต่ไม่มีนโยบายใดออกมาบ้างเลย
"เราอยากให้พูดชัดเจนว่าจะช่วยเหลือ หรือมีนโยบายอะไรที่สนับสนุนด้านสุขภาพให้กับคนพิการบ้าง โดยเฉพาะกับคนพิการในระดับ L3 ที่ต้องมีการช่วยเหลือเป็นพิเศษ รวมไปถึงคนพิการระดับปานกลางขึ้นไป ที่อุปกรณ์การช่วยดำรงชีวิต หรือระบบการฟื้นฟูสมรรถภาพจำเป็นอย่างมาก แม้แต่ระบบบริการสาธารณสุขที่พัฒนาในปัจจุบัน ก็ยังไม่มีระบบที่จะช่วยให้คนพิการเข้าถึงได้บ้างเลย" นายชูศักดิ์ กล่าว
นายชูศักดิ์ กล่าวด้วยว่า คนพิการเมื่อเจ็บป่วยจะมีปัญหาอย่างมากต่อการเข้าไปรับบริการในหน่วยบริการต่างๆ โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมของโรงพยาบาลหลายแห่งที่ยังไม่พร้อม หรือยังไม่ได้ปรับปรุงให้เหมาะสมสำหรับคนพิการ แม้ว่าจะมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการอนุมัติเพื่อปรับสภาพแวดล้อมสำหรับคนพิการ แต่ในทางปฏิบัติยังไม่เกิดขึ้นจริง เพราะในหน่วยบริการ หรือโรงพยาบาลไม่มีงบประมาณจะไปดำเนินการ ซึ่งก็เป็นความท้าทายของพรรคการเมือง และรัฐบาลชุดต่อไปเช่นกันที่จะสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจังหรือไม่
อีกทั้ง คนพิการทางมองเห็น ก็ยังเข้าไม่ถึงระบบเทคโนโลยีที่ให้บริการสุขภาพ ทั้งการแพทย์ทางไกล หรือเทเลเมด ที่ไม่เอื้อสำหรับคนพิการกลุ่มนี้ หรือคนพิการทางการได้ยิน คนหูหนวก ที่เจ็บป่วยก็ต้องใช้บริการล่ามของ TTRS (ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย) แต่ไม่สามารถเข้าไปฟังการวินิจฉัยร่วมกับแพทย์ได้ เนื่องจากยังติดขัดข้อกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้มีความยากลำบากอย่างมาก
นอกจากนี้ อยากเสนอให้รัฐบาลชุดต่อไป ส่งเสริมให้มีผู้ช่วยคนพิการให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันมีคนพิการทั่วประเทศกว่า 2 ล้านคน แต่มีผู้ช่วยคนพิการเพียงแค่หลักร้อยคนเท่านั้น
"องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ แม้จะมีกองทุนสุขภาพประจำตำบลที่ดูแลอยู่ แต่สำหรับคนพิการยังมีข้อจำกัดในการใช้เงินในกองทุน เพราะไม่มีการระบุรายละเอียดการช่วยเหลืออย่างชัดเจน ทำให้ท้องถิ่นไม่กล้าที่จะใช้เงินเพื่อช่วยเหลือคนพิการ เพราะเกรงว่าจะถูกตรวจสอบ ซึ่งเราเคยพูดคุยกับกระทรวงมหาดไทย แต่ฝ่ายนั้นก็ยอมรับว่ามีข้อติดขัดด้านกฎหมาย" เลขาธิการสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย กล่าว