ปักหมุด แชร์ข้อมูล สร้าง'เมืองใจดี'
เป็นคำถามที่ค้างคาและสงสัยอยู่ในสังคมมาตลอด ที่จอดรถ ทางลาด ห้องน้ำ ทางลาดเลื่อน ลิฟต์ของคนพิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา รวมไปถึงคนที่มีข้อจำกัดด้านการเดินทาง ตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ราชการ ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล โรงแรม รีสอร์ท ฯลฯ พื้นที่อำนวยความสะดวกให้คนพิการ สิ่งจำเป็นที่จะสร้างความสบายกายสบายใจอย่างชัดเจนพิกัดอยู่ตรงไหน? ในขณะที่ตัวเลขผู้สูงอายุทั่วประเทศมี 12.69 ล้านคน คนพิการ 2.7 ล้าน แนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อยากชวนทุกคนมาร่วมกันสำรวจ แบ่งปันข้อมูล สร้างฐานข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ ผ่านโครงการเมืองใจดี LINE OA @jaideecity เป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนาต่อยอดจากทราฟฟี่ฟองดูว์ โดยสำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่เปิดโอกาสใหเประชาชนมีส่วนร่วมปักหมุดและเพิ่มข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ตลอดจนแจ้งซ่อมหรือสร้างใหม่ให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกช่วยคนพิการ ผ่านไลน์แชทบอท”เมืองใจดี” เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ง่ายๆ ส่งเสริมการสร้างสังคมที่เท่าเทียมมากขึ้น
ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า แน่นอนว่า การเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ของคนพิการ คนสูงอายุ คนท้อง คนใช้วีลแชร์ คนท้อง ส่วนใหญ่ไม่รู้ข้อมูลว่า พื้นที่จอดรถพิการอยู่จุดไหน จากช่องจอดรถไปทางลาดไกลกันแค่ไหน หรือแม้แต่ห้องน้ำของคนพิการอยู่บริเวณไหนภายในอาคาร ซึ่งตามกฎหมายกำหนดลักษณะอาคาร สถานที่ หรือบริการสาธาณะ ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ แต่ไม่มีใครรู้ข้อมูล ยกตัวอย่าง รพ.รามาธิบดี มีทางลาด 20 แห่ง คนไข้และผู้ดูแลไม่รู้ หากมีการรวบรวมสร้างฐานข้อมูลอำนวยความสะดวกเพื่อคนพิการที่ตรงกับการใช้งาน ค้นหาเข้าถึงได้ง่าย มีแผนที่นำทาง จะสามารถวางแผนเดินทางล่วงหน้าได้ สะดวกสบาย เหมือนค้นหาข้อมูลใบไม้เปลี่ยนสีญี่ปุ่น พร้อมจุดชม เช่นเดียวกันกับสิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการ ระบบนี้คล้ายเกมโปเกม่อนที่มีค้นหาสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆ แต่แพลตฟอร์มนี้ค้นหาสิ่งอำนวยความสะดวกตามสถานที่ต่างๆ กลายเป็นผู้ค้นพบ
“ แพลตฟอร์มนี้ใช้งานง่าย เป็นระบบไลน์และเอไอ เพราะประชาชนใช้ไลน์ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว 90% สามารถปักหมุด เพิ่มข้อมูล แชร์ตำแหน่ง เลือกสถานที่ เพิ่มภาพประกอบ ถ้าสถานที่นั้นไม่มี ก็ขอให้มีได้ โดยปักหมุดเพื่อนำส่งข้อมูลให้จังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสามารถแจ้งปัญหา มีแล้ว แต่ใช้งานไม่ได้จริง แจ้งซ่อมได้ เมืองใจดีจับคู่ระหว่างคนเจอสิ่งอำนวยความสะดวกกับคนที่อยากจะใช้บริการ ที่สำคัญเป็นฐานข้อมูลที่มีชีวิต ปัจจุบันมีข้อมูลแล้วกว่า 6,000 จุด ยิ่งข้อมูลมาก เกิดประโยชน์ค้นหาปลายทาง ต่างจากทราฟฟี่ฟองดูว์จับคู่ประชาชนที่พบเจอปัญหากับหน่วยงานแก้ปัญหา “ ดร.วสันต์ กล่าว
สำหรับข้อมูลที่อยากให้แชร์เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ 7 ประเภท ตามมาตรฐานกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประกอบด้วยทางลาด ลิฟต์ ป้ายสัญลักษณ์ ห้องน้ำภายนอก ห้องน้ำภายใน ที่จอดรถ ทางเดิน และศูนย์บริการข้อมูล ดร.วสันต์ระบุปัจจุบันศูนย์บริการข้อมูลมีหลายรูปแบบ ทั้งให้ข้อแนะนำ บริการให้ยืมอุปกรณ์ของผู้พิการ เช่น ไม้เท้า รถเข็น อุปกรณ์ช่วยพยุง ที่นั่งสำหรับขับถ่าย ฯลฯ
ความวาดฝันจากโครงการนี้ ดร.วสันต์ กล่าวว่า เวลาเดินทางไปที่ไหน มีข้อมูลเตรียมตัวสำหรับคนพิการ คนสูงอายุ ช่วยลดอุปสรรคและความยากลำบากสำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจากสิ่งอำนวยความสะดวก ฐานข้อมูลนี้ระยะแรกชวนทุกคนมาช่วยกันเพิ่มข้อมูล ระยะต่อไปคนช่วยกันใช้ข้อมูล เพราะเมื่อพบว่าเกิดประโยชน์จะช่วยกันเพิ่มข้อมูลร่วมสร้างเมืองที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม อีกทั้งเตรียมพร้อมรองรับคนพิการและคนชราที่รวมกันแล้วกว่า 16 ล้านคน นอกจากนี้ คนไทยอายุเฉลี่ยมากขึ้น ร่างกายเสื่อมตามสภาพ ฐานข้อมูลนี้เด็กเล็ก คนท้อง คนแขนขาเจ็บ หรือแม้แต่กลุ่มคนใช้ล้อในเมืองเดินทางก็ใช้บริการได้ การพัฒนารูปแบบนี้จะเกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน สร้างระบบเมืองใจดีให้เกิดขึ้น
สำหรับแพลตฟอร์มเมืองใจดี มี 5 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และอีก 8 ภาคี อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ประชาคมคนพิการกรุงเทพมหานคร ฯลฯ ร่วมระดมพลังปักหมุดสร้างฐานข้อมูลดังกล่าว
ภานุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาผู้ว่า กทม. กล่าวว่า การสร้างฐานข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อทุกคนควรมีมานานแล้ว แต่การขับเคลื่อนช้ามาก เมื่อทุกหน่วยงานร่วมสร้างข้อมูลในแพลตฟอร์มเมืองใจดีแสดงถึงการขับเคลื่อนต่อ กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนไม่ได้ หากมีคนบางกลุ่มถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ทุกวัยเดินทางไปมาอย่างสะดวก ออกแบบสิ่งต่างๆที่อำนวยความสะดวกทุกคนจริงๆ
“ ไม่เพียงคนพิการ ผู้สูงอายุ แต่เป็นเรื่องทุกคน อยากให้ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ตรงจุดไหนที่อาจจะอยู่ตรงซอกหลีบเล็กๆ ที่มีปัญหา ช่วยกันปักหมุด แจ้งให้ทราบ ยกตัวอย่างเวลาไปจุดที่มีทางลาดและบันได คนจะนิยมใช้ทางลาดมากกว่าเดินขึ้นลงบันได นี่คือ ทางกายภาพ ความสำเร็จจะเกิดขึ้น ถ้ามีความเห็นอกเห็นใจจากผู้มีส่วนร่วม เมืองใจดีแล้ว คนต้องใจดีด้วย กทม.จะทำอาคารที่มีป้ายสัญลักษณ์ต้อนรับผู้สูงอายุ คนพิการ คนตั้งครรภ์ ในต่างประเทศก้าวไปถึงห้องน้ำสำหรับครอบครัว ห้องให้นมลูก ไปไกลแล้ว ถ้าประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดี ต่างชาติอยากเดินทางมา และได้รับการพูดถึงเป็นใจดีซิตี้ “ ที่ปรึกษา ภานุมาศ กล่าว
ด้าน สุริยา สมสีลา ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ ผู้ใช้รถวีลแชร์ซึ่งทดลองใช้งานไลน์แชทบอท”เมืองใจดี” กล่าวว่า แอปนี้ตอบโจทย์การเดินทางคนพิการและคนทุกกลุ่ม ทุกคนมีไลน์ เราเป็นทั้งผู้ใช้ข้อมูลและผู้สำรวจ ยกตัวอย่างหากต้องการไปเที่ยวพักผ่อนต่างจังหวัดจะเลือกโรงแรมที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ทั้งทางลาด ลิฟต์สำหรับคนพิการ เพียงกดปุ่มค้นหาข้อมูลได้คำตอบประกอบการตัดสินใจควรจองที่พักนี้หรือไม่ แอปใช้ง่าย เข้าใจง่าย มีเอไอแนะนำการใช้งาน อยากเชิญชวนทุกคนมาสร้างสังคมที่ดี สร้างเมืองใจดี ค้นหาสถานที่และแชร์ข้อมูลสถานที่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก เมื่อผู้พิการค้นหาจะตัดสินใจง่ายขึ้น ตนเองจะชวนเครือข่ายของมูลนิธิและเครือข่ายผู้ปกครองเด็กพิการช่วยกันปักหมุดเพื่อคนที่รักและเพื่อส่วนรวม
คนรุ่นใหม่เป็นอีกเป้าหมายร่วมสร้างเมืองใจดี อิทธิกร ช่างสากล ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ศธ. ดูแลหน่วยงานในสังกัด 500 หน่วย นักเรียนกว่า9 ล้านคน ครู 4 แสนคน แล้วยังมีสถานศึกษาพิเศษ เฉพาะผู้พิการทางสายตา การได้ยิน และการเรียนแบบเรียนรวม บุคลากรในสถานศึกษาทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมีผู้พิการร่วมทำงาน นอกจากการสร้างและปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ จะร่วมสร้างสังคมเท่าเทียมผ่านแพลตฟอร์มนี้ ชวนบุคลากร นักเรียน นักศึกษาทุกสถานศึกษาร่วมปักหมุดแชร์จุด เพื่อให้ข้อมูลทุกคน นวัตกรรมเมืองใจดียังเปิดโอกาสให้แจ้งปัญหาจุดต่างๆ เช่น ทางลาดชันหรือสูงไป ราวจับทางลาดหรือในห้องน้ำชำรุดบกพร่อง หรืออุปสรรคของแต่ละสถานที่ ช่วยสะท้อนปัญหา เป็นหูเป็นตา นำไปสู่การแก้ไขต่อไป
การปักหมุดสร้างเมืองช่วยทุกคน ทุกคนวัย มีตั้งแต่รูปแบบจิตอาสาร่วมกันแขร์ข้อมูลแล้ว ยังมีรูปแบบการแข่งขันหลายประเภท บุคคลทั่วไป ผู้สูงอายุ คนพิการ สถานศึกษา ระดับกรุงเทพฯ ระดับจังหวัด รวมถึงชวนอินฟลูเอนเซอร์ผลิตสื่อสร้างสรรค์แนะนำการใช้งานฐานข้อมูลเมืองใจดี ไปจนถึงประกวดคลิปวิดีโอช่วยคนพิการและผู้สูงอายุได้จริง