เสริมทักษะ คนพิการ “เฮ็ดดิ” บ้านเต่างอย เพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ “ผงสีธรรมชาติจากพืช”
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยเมื่อช่วงเดือน มิ.ย. 2566 ว่าการสกัดสีย้อมจากวัสดุธรรมชาติเป็นภูมิปัญญาวัฒนธรรมมายาวนาน ปัจจุบันกระบวนการผลิตสีมีการพัฒนารูปแบบใหม่ๆ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังเช่น ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่นจากฝีมือของคนพิการชุมชนบ้านเต่างอย จังหวัดสกลนคร ภายใต้แบรนด์ “เฮ็ดดิ” ในโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการและผู้สูงอายุของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ล่าสุด กำลังพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์ “ผงสีธรรมชาติจากพืช”เพื่อนำไปทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่เพียงแค่สีย้อมผ้า อาทิ สีเทียน สีน้ำวาดรูป หรือการนำไปผลิตเทียนหอม เป็นต้น
“ผลิตภัณฑ์ผงสีธรรมชาติจากพืชเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) สีตามธรรมชาติที่ได้มาจากพืชจะแตกต่างกัน เช่น ดอกดาวเรือง เมื่อแยกเม็ดสีออกมาแล้วจะได้สีเหลืองเอ้อเฮ่อ ตามภาษาอีสาน คือ สีเหลืองสดมากๆ ต้นรงทอง สีที่ได้จากยางจะให้สีเหลืองที่สว่างกว่า สำหรับดอกกุหลาบที่เราเห็นเป็นสีแดง จริงๆ แล้วธรรมชาติของกุหลาบจะให้สีน้ำเงิน หรือ สีชมพูม่วงๆ ที่เห็นเป็นสีแดง เพราะเยื่อผิวของกลีบดอกเมื่อโดนแสงตกกระทบมาเข้าตา ทำให้เราเห็นเป็นสีแดง” พรพิมล มิ่งมิตรมี (ครูหมิว) ศิลปินท้องถิ่นบ้านหนองส่าน อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Craft Colour และกูรูเรื่องสี กล่าว
ครูหมิว บอกว่า ได้รับการติดต่อจาก มจธ. ให้เข้ามาช่วยถ่ายทอดความรู้จากงานที่เราทำอยู่ เพื่อเพิ่มทักษะให้กับกลุ่มคนพิการ และให้ร่วมออกแบบการเรียนรู้ในท้องถิ่น รวมถึงพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ร่วมกับสมาชิกคนพิการที่เข้าอบรมในโครงการฯ จึงได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ ส่วนแนวคิดในการเลือกทำผงสีธรรมชาติ เพราะปัจจุบันตลาดส่วนใหญ่จะเป็นสีย้อม ไม่ใช่ผงสี และการทำผงสี จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้คนพิการได้มีทางเลือกใหม่ๆ เพราะมีตลาดรองรับ สามารถสร้างเป็นอาชีพ สร้างรายได้ โดยจะสอนการทำผงสีต่างๆ จากวัสดุธรรมชาติในพื้นที่ตำบลเต่างอย สร้างเป็นคอลเลกชันผงสีพิเศษของตำบลเต่างอย
สำหรับขั้นตอนการทำผงสีเริ่มจากการสำรวจหาวัตถุดิบพืชที่อยู่ในท้องถิ่น นำใบ ดอก เปลือก ราก หรือส่วนต่างๆ ของลำต้น มาตำหรือบด เติมสารส้มเพื่อสกัดสี ใส่ดินสอพองคนให้ตกตะกอน นำไปตากแดดให้แห้ง จากนั้นนำไปอบ แล้วนำมาตำหรือบดให้เป็นผงละเอียด ก็จะได้เป็นผงสีธรรมชาติ โดยพืชให้สีจากธรรมชาติที่นำมาทดลองผลิตเบื้องต้นจากกิจกรรมครั้งนี้ พบว่า ดอกไม้ที่เหมาะนำมาทำผงสี ได้แก่ ดอกดาวเรือง ให้สีเหลือง ใบสาบเสือให้สีโทนเหลืองและเขียว ใบหางนกยูง ให้สีเขียว และ เปลือกเมล็ดอินทนิลน้ำ ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสกลนคร ให้สีน้ำตาล เป็นต้น แต่สิ่งที่ต้องคำนึง คือ วัตถุดิบเหล่านี้จะต้องมีในปริมาณที่มากเพียงพอจะผลิตเป็นผงสีที่จะนำมาใช้อย่างต่อเนื่องต่อไปได้ เช่น ดอกอัญชัน เหมาะใช้เป็นสีผสมอาหารมากกว่านำมาทำผงสี เพราะสีที่ได้เพียง 1 กรัม จะต้องใช้ปริมาณดอกสดเป็นจำนวนมาก
“การได้เข้าร่วมโครงการกับ มจธ. ครั้งนี้ ทำให้เห็นว่าถึงแม้สภาพร่างกายของกลุ่มคนพิการจะไม่เอื้ออำนวย แต่ใจของทุกคนสู้มาก รู้สึกมีความสุขมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคม และดีใจมากที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับทุกคน” ครูหมิว กล่าว
นอกจากกิจกรรมการสอนทำผงสีแล้ว ภายใต้ “หลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น ในโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการและผู้สูงอายุของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)” พื้นที่ชุมชน ต.เต่างอย อ.เต่างอย จ.สกลนคร ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 3 (ระยะเวลาอบรม ตั้งแต่เดือนเมษายน – ตุลาคม 2566) ยังมีการอบรมให้ความรู้ด้านการตลาดจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ พฤติกรรมผู้บริโภค ความเป็นไปได้และโอกาสของผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ (ECO Product) กลุ่มลูกค้า ความรู้เบื้องต้นด้านการจัดการธุรกิจ และพื้นฐานการบริหารธุรกิจในยุคดิจิทัล กระบวนการจัดการธุรกิจรูปแบบต่างๆ การทำบัญชี การวางแผน และการออกแบบ รวมถึงความรู้พื้นฐานด้าน e-Commerce ทักษะการถ่ายและการตัดต่อวิดีโอ ฯลฯ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ
ผศ.วรนุช ชื่นฤดีมล อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. ในฐานะหัวหน้าหลักสูตรฯ กล่าวว่า การฝึกอบรมของคนพิการรุ่นที่ 3 นี้ มีคนพิการที่เข้าร่วมทั้งสิ้น 12 คน ส่วนใหญ่เป็นคนพิการด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว แขนขาอ่อนแรง และด้านการได้ยิน ซึ่งรุ่นนี้เป็นรุ่นสุดท้ายสำหรับโครงการฯ นี้ จากการดำเนินงานรุ่นแรกที่จะเน้นเรื่องของการออกแบบชิ้นงานหัตถกรรมที่ใช้ฐานทุนวัตถุดิบและภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การย้อมสีธรรมชาติ การถักมัดไม้กวาด รุ่นสองเริ่มมีการแบ่งทีมโครงสร้างการทำงานมากขึ้น และเน้นเรียนลงลึกในการย้อมสีธรรมชาติให้ได้คุณภาพและสวยงาม ทำให้ในรุ่นที่สามนี้ เราจึงอยากลงลึกมากขึ้นในเรื่องของ “สีธรรมชาติ” จากวัตถุดิบในท้องถิ่นที่ใช้พื้นที่ในการ workshop สอนทำผงสี ณ พื้นที่บ้านนาฮี ซึ่งความรู้เรื่องสีธรรมชาติในท้องถิ่นจะทำให้ภาพของ “เฮ็ดดิคราฟ” ชัดเจนมากขึ้น เพื่อสร้างผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Leadership) โดยมีเป้าหมายปลายทางที่หวังไว้ คือ จะทำให้เป็นธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) ที่สามารถหารายได้เลี้ยงตัวเอง และครอบครัวได้
ด้านศิริพัฒน์ กล่ำกลิ่น ที่ปรึกษาและวิทยากรสถาบันพัฒนา และทดสอบทักษะดิจิทัล (DDTI) ในฐานะวิทยากร กล่าวเสริมว่า เนื่องจากในปีนี้ มีคนพิการที่เข้าร่วมมาจากรุ่นที่ 2 จำนวน 4 คน และคนใหม่ 8 คน จึงมีทักษะที่ต่างกัน ทำให้จะต้องมาปรับจูนวิธีการทำงานกันใหม่ และจะต้องพยายามสื่อสารให้เขาได้เห็นภาพของงานที่ตรงกัน ซึ่งแรกๆ อาจจะยังไม่เข้าใจว่าทำอะไร เพราะจริงๆ แล้วการทำผงสีถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับเขามาก หลายคนไม่เคยเห็นและสัมผัสมาก่อน จึงต้องใช้ความพยายามกันค่อนข้างมาก นอกจากตัวผลิตภัณฑ์แล้ว เราก็อยากให้คนพิการมีทักษะทั้งเรื่องแนวคิดและการบริหารจัดการ เพื่ออย่างน้อยองค์ความรู้ทักษะด้านการบริหารจัดการจะติดตัวเขาไปด้วย เพราะเมื่อจบโครงการไป เขาจะสามารถนำเอาความรู้เหล่านี้ไปปรับใช้กับธุรกิจส่วนตัวของเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำเกษตรหรือเลี้ยงสัตว์
ขณะที่ ผศ. ดร.บุษเกตน์ อินทรปาสาน อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. กล่าวว่า นอกจากครูหมิว กูรูเรื่องสี ที่มาช่วยสอนการทำผงสีแล้ว ยังมีศิลปิน เช่น คุณแมน-ปราชญ์ นิยมค้า สมาชิกกลุ่มสกลเฮ็ด, คุณแพรี่พาย อินฟลูเอนเซอร์ด้านสีธรรมชาติ ที่มาช่วยวางแผนการออกอีเว้นท์ จัดแสดงผลงานต่างๆ และเนื่องจากในปีนี้เรายังเน้นเรื่องการตลาด จึงได้วางแผนการทำตลาดสินค้าคนพิการ 4 ภูมิภาคขึ้น โดยจะเป็นการจัดในรูปแบบ Social Enterprise (SE) เพื่อเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม โดยในปีนี้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นภายใต้โครงการฯ เบื้องต้นจะนำไปออกบูธจำหน่ายภายในงาน 10 ปีโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการ ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการและผู้สูงอายุ ณ มจธ. บางมด ในวันที่ 27 ต.ค. และสวนแมน Creative Crafts Center ในงานเทศกาลสกลจังซั่นระหว่างวันที่ 8 -11 ธ.ค. 2566
“ขณะนี้เรากำลังวางแผนการทำตลาดสินค้าคนพิการ 4 ภาคขึ้น ประกอบด้วย ภาคอีสาน ที่ จ.สกลนคร ภาคเหนือ ที่ จ.แม่ฮ่องสอน และภาคใต้ ที่ จ.ภูเก็ต ส่วนภาคตะวันออกกำลังอยู่ระหว่างประสานหน่วยงานหรือภาคเอกชนที่สนใจ โดยคาดหวังว่า คนพิการเมื่อจบโครงการนี้ไปแล้ว จะสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง สามารถนำความรู้ที่ได้ไปทำธุรกิจของตัวเอง หรือต่อยอดเป็นรายได้เสริม ไม่ต้องพึ่งพาเงินทุนจากภายนอกอีก” ศิริวัฒน์ คันทารส รองผู้จัดการมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ วิทยากรอีกท่านหนึ่ง กล่าวในตอนท้าย
สำหรับหลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น เป็นหนึ่งในสามหลักสูตรในโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการ”ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการและผู้สูงอายุ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) รุ่นที่ 3 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมาตรา 35 ซึ่งคนพิการที่เข้าร่วมฯ อบรม ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ โดยจะได้รับเบี้ยเลี้ยง อาหารกลางวัน และค่าเดินทาง ตลอดระยะเวลาในการฝึกอบรม
ขอบคุณ... https://www.tcijthai.com/news/2023/6/current/13014