"นายกไพเจน" หนุนการสร้างเครือข่ายระดับตำบล ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส อย่างเท่าเทียม
เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา)ประธานเปิดโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก สตรี เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ป่วยติดเตียง โดยมีนายวิทยา ทิพย์มณี นายกเทศบาลตำบลท่าช้าง กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยผู้บริหาร สมาชิกสภา และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดเทศบาลตำบลท่าช้าง ร่วมด้วยนายวินัย ขวัญปาน นายกสมาคมคนพิการจังหวัดสงขลาและคณะกรรมการ วิทยากร ผู้ดูแลผู้พิการ และผู้พิการจาก 22 ชุมชนที่เข้ารับการอบรม ร่วมในพิธีเปิดโครงการ ณ สำนักงานเทศบาลตำบลท่าช้าง อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา
ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการสร้างเครือข่ายคนพิการในระดับตำบล ให้คนพิการเกิดการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน สามารถที่จะพึ่งพากันและกันได้ เพื่อเพิ่มความรู้ในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในด้านการสร้างเครือข่ายเพื่อให้ได้รับรู้สิทธิหน้าที่ และส่งเสริมการประกอบอาชีพแก่คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส พร้อมทั้งให้เข้ามามีส่วนร่วมทางสังคมอย่างเต็มประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ เพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการในพื้นที่จังหวัดสงขลา ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อทุกคนจะได้มีความสุข และมีชีวิตที่ดีอย่างเท่าเทียมกัน
นายกไพเจน กล่าวว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลามีหลายโครงการที่ดูแลผู้สูงอายุ คนพิการ กลุ่มเปราะบาง และผู้มีภาวะพึ่งพิง โดยเฉพาะในเรื่องกายอุปกรณ์จำพวกวิลแชร์ทั้งหลาย นอกจากนี้เรายังมีธนาคารกายอุปกรณ์ ศูนย์ยืมคืน และศูนย์ซ่อมสร้างสุข ที่วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ และมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนทั้งจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุ เด็ก สตรี คนพิการและผู้ด้อยโอกาส เรามีการดำเนินโครงการและ กิจกรรมที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตในหลายด้าน นอกจากนี้ยังมีธนาคารพันเตียง คือให้กับผู้ที่ป่วยติดเตียง ซึ่งจะเป็นระบบไฟฟ้าปรับได้ สามารถทำภารกิจทุกอย่างบนเตียงได้ นี่เป็นภารกิจหนึ่งที่ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาดูแลคนแก่ ผู้ป่วยติดเตียง คนพิการ โดยเน้นครัวเรือนที่ยากจน ไม่มีกำลังพอที่จะไปซื้อได้ และอีกภารกิจหนึ่งคือ การเอาเงินกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดสงขลา ซึ่งมีนายกอบจ.สงขลาเป็นประธานกองทุนดังกล่าว โดยการนำเงินกองทุนนี้มาปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้กับผู้ป่วย ให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายการใช้ในชีวิตประจำวัน ของผู้ป่วย ผู้พิการหรือคนชรา โดยมีคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม และมีสถาปนิกมาช่วยออกแบบ ซึ่งขณะนี้ได้มีการปรับสภาพที่อยู่อาศัยไปแล้วร่วม 500 หลัง และในปี 67 ยังได้สนับสนุนงบประมาณไปกับทุกท้องถิ่นที่ขอมา ซึ่งจะมี 3 ระดับคือตั้งแต่สองหมื่น สี่หมื่น และหกหมื่น บาท และนี่ก็เป็นอีกภารกิจหนึ่งของทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ที่ดูแลคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงโดยเฉพาะผู้พิการ
นายกไพเจนกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ทาง อบจ.สงขลา ยังมีการอบรมให้ความรู้เรื่องสิทธิการจ้างงาน การเสริมสร้างสุขภาวะที่ดี การส่งเสริมการประกอบอาชีพแก่คนพิการและผู้ด้อยโอกาส การให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุข นอกจากการปรับสภาพที่อยู่อาศัย และจัดให้มีอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ซึ่งได้ดำเนินการครอบคลุมทั้ง 16 อำเภอ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิและบริการใด้ ซึ่งการทำงานในด้านต่างๆ จะดำเนินการให้ประสบความสำเร็จไม่ได้ หากขาดการประสานงานและร่วมมือกันกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ องค์กรอิสระ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะเห็นได้ว่าการสร้างเครือข่ายในการทำงานนั้นมีความสำคัญอย่างมากเพราะจะทำให้งานที่ดำเนินการเป็นตามวัตถุประสงค์ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมดังกล่าว จะเป็นกิจกรรมที่สามารถช่วยให้เกิดการสร้างเครือข่ายในระดับตำบล ทำให้คนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ อาสาสมัคร และผู้นำชุมชน มีความเข้าใจแนวทางการดำเนินงาน และการขับเคลื่อนงานด้านคนพิการ อันจะนำไปสู่เครือข่ายที่มีความเข้มแข็ง คนพิการเกิดความภาคภูมิใจ ไม่ด้อยค่าในตนเอง และสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข