ชีวิตในออสเตรเลียเป็นอย่างไร สำหรับผู้ย้ายถิ่นที่มีความพิการ?
นักเคลื่อนไหวด้านความพิการและผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การตีตราทางวัฒนธรรมและกฎหมายการย้ายถิ่นฐานทำให้ผู้อพยพที่มีความพิการถูกกีดกันและถูกผลักไสจากสังคมมากยิ่งขึ้น
อคติภายในและข้อแตกต่างทางวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้พิการในชุมชนผู้อพยพไม่สามารถเข้าถึงการสนับสนุนได้
“แม้ว่าพวกเขาจะรู้ว่ามีการสนับสนุนอยู่ แต่ก็มักจะไม่ใช้สิทธิ์นั้น เพราะพวกเขารู้สึกว่ามันจะทำให้ตัวเองต้องรู้สึกอับอาย” วาเนสซา ปาปาสตาฟรอส (Vanessa Papastavros) ผู้จัดการระดับชาติของโครงการ Speak My Language สำหรับผู้พิการ กล่าวกับ SBS Examines
“ในกลุ่มผู้ดูแลครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นผู้พิการ พวกเขาเองก็มักจะจำกัดโอกาสของบุคคลนั้นในการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมหรือประสบการณ์ต่างๆ ด้วย เพราะกลัวว่าคนในชุมชนจะมองด้วยอคติหรือก่อให้เกิดความอับอาย”
ทางด้าน มาร์ก ตองกา (Mark Tonga) ผู้อพยพจากฟิจิ กล่าวว่า หลังจากที่เขาได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลังจนเป็นอัมพาตทั้งแขนและขา เพื่อนๆ ในชุมชนเริ่มปฏิบัติต่อเขาแตกต่างไปจากเดิม
“ผู้คนมักตื่นตระหนกเมื่อพวกเขาไม่รู้ว่าจะรับมือกับมันอย่างไร” เขากล่าว
แต่เขาย้ำว่า อาการบาดเจ็บไม่ใช่สิ่งที่ฉุดรั้งเขาไว้ แต่เป็นการขาดโอกาสในการเข้าถึงสิ่งต่างๆ ต่างหาก"
The world has a disability. We don’t have a disability.
“เวลาที่คุณมีอาคาร แล้วมีคนในอาคารพูดว่า ‘โอ้ คนพิการคงไม่เข้ามาที่นี่หรอก’ งั้นคุณก็สร้างทางลาดสิ... พวกเราจะได้เข้าไป!”
อีกอุปสรรคหนึ่งสำหรับผู้อพยพที่มีความพิการหรือปัญหาสุขภาพเรื้อรังคือ ข้อกำหนดด้านสุขภาพในการย้ายถิ่นฐาน (Migration Health Requirement) ซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้ประเมินว่าค่ารักษาพยาบาลของบุคคลนั้นจะส่งผลต่อค่าใช้จ่ายของชุมชนออสเตรเลียมากแค่ไหน
ดร. แจน ก็อธาร์ด ตัวแทนด้านการย้ายถิ่นฐานและนักเคลื่อนไหวกล่าวว่าข้อกำหนดนี้เป็นการเลือกปฏิบัติ
“มันทำให้ผู้พิการรู้สึกถูกกีดกันหรือถูกผลักไสให้อยู่นอกสังคม” เธอกล่าว
“นอกจากนี้ยังเป็นการส่งสารไปยังสังคมว่า คนที่มีภาวะสุขภาพหรือความพิการเป็นภาระของชุมชน”
SBS Examines บทนี้ พาไปสำรวจความท้าทายของผู้อพยพที่มีความพิการในออสเตรเลีย
ขอบคุณ... https://shorturl.asia/SaZjr