มองมายาคติคนพิการผ่านโอกาสและการกีดกัน | 8 พ.ย. 67
เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 67 ที่ผ่านมา ประชาไทจัดเสวนา ‘งาน การเดินทาง อิสรภาพ: อุปสรรคและมายาคติที่คนพิการเจอ’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์เสวนา ‘ประเทศไทยในรอบ 20 ปี’ ในวาระครบรอบ 20 ปี ก่อตั้งสำนักข่าวประชาไท ร่วมเสวนาโดย ผศ.ดร. ลลิล ก่อวุฒิกุลรังษี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , เสาวลักษณ์ ทองก๊วย นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีพิการ , และอรรถพล ศรีชิษนุวรานนท์ นักเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของคนพิการ ที่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
อรรถพล ศรีชิษนุวรานนท์ นักเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของคนพิการ เล่าย้อนประสบการณ์ทำงาน ว่าเคยถูกจ้างงานตามมาตรา 35 ช่วงสั้นๆ 2 - 3 ปี ตนเข้าใจว่าบริบทแง่ของกฎหมายเจตนาออกแบบเพื่อสำหรับคนพิการที่พิการรุนแรงและเพื่อลดอุปสรรค์การเดินทาง บริษัทจ่ายเงินเป็นรายเดือน ในส่วนของสวัสดิการทางสังคมอื่นๆ บริษัทแจ้งว่า ผู้พิการมีสิทธิหลักประกันสุขภาพ (ท.74) อยู่แล้ว ทั้งหมดนี้จึงยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ในแนวทางการปฎิบัติเรื่องของการใช้กฎหมาย ต่อมาบริษัทที่ทำงานเก่าได้ติดต่อให้กลับไปทำงาน ตนประกอบอาชีพวิศวกรโยธาควบคุมงานก่อสร้างมาก่อนจึงกลับไปทำ บริษัทในขณะนั้นยังไม่มีความเข้าใจในกฎหมายการจ้างงานคนพิการไม่ว่าจะเป็นมาตรา 33 , มาตรา 34 และมาตรา 35 องค์กรจ้างโดยใช้ทัศนคติและมองว่า คนพิการนั้นมีศักยภาพในการทำงานได้หรือไม่มากกว่า
อรรถพล กล่าว ประเด็นการจ้างงานคนพิการยากขึ้นมาจาก 2 ประเด็นหลัก 1. ความเสมอภาคทางโอกาส และ 2. การกีดกัน
ทั้งสองหลักเป็นมายาคติหนึ่งต่อคนพิการที่รวบรวมอยู่ หลักการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ (Independent Living: IL) ที่มุ่งไปสู่เรื่องของการให้สิทธิเคารพสิทธิเสรีภาพในการคิดและตัดสินใจเอง ถ้าสามารถทำตามหลักแนวคิดนี้จะเป็นการสร้างความเสมอภาคทางโอกาสทางความคิดให้และเคารพการตัดสินใจของคนพิการ อีกหนึ่งตัวช่วยที่สามารถทำให้เข้าถึงการทำงานคือ ผู้ช่วยคนพิการ (PA) ตนเห็นด้วยกับ ผศ.ดร. ลลิล ก่อวุฒิกุลรังษี ที่ได้พูดถึงเคสกรณีของคนพิการและผู้ช่วยคนพิการในห้องสอบ ไม่ว่าจะช่วยตอบคำถาม เขียน ฯลฯ ซึ่งถ้าหากเชื่อหลักการ IL แล้ว ผู้ช่วยคนพิการมีหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือ สนับสนุนให้เข้าถึงการทำงานของคนพิการ ไม่ได้มีบทบาทหน้าที่ในการตัดสินใจ คิดแทนคนพิการ ตนคิดว่าหากหลักการนี้ขยายไปอยู่ในทุกๆ องคาพยพของฝั่งรัฐได้ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงทบวงกรมไหนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานฝ่ายการเมือง ทางการเมืองหรือฝ่ายค้านหรือนิติบัญญัติรวมไปถึงแม้ศาลสถิตยุติธรรมด้วยก็ดี
"คนพิการเองไม่ได้ต้องการความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา ผมคิดว่ามายาคติเหล่านี้มันได้ยึดโยงว่าคนพิการไร้ความสามารถ ไร้ความคิดและตัดสินใจด้วยตัวเองไม่ได้ มันจึงส่งผลต่อสิทธิต่างๆ กฎหมาย ที่ยังจำกัดและยังไม่มีทางแนวทางการแก้ไข"
ส่วนความคาดหวังทิศทางการจ้างงานคนพิการมี 3 ระยะ 1. ในระยะสั้น ได้เห็นคนพิการที่กำลังมีปัญหา ออกมาเรียกร้อง กล้าสะท้อนปัญหาเพื่อให้สามารถรับรู้ได้ 2. ในระยะกลาง ได้เห็นภาคการเมืองเปิดโอกาสรับแนวคิด Independent Living: (IL) ที่ถูกบัญญัติไว้นำมาใช้ และ 3. ในระยะปลาย การแก้ไข้รัฐธรรมนูญใหม่ ควรจะต้องจริงจังการการที่มีรัฐธรรมนูญที่ถดถอยจากการรัฐประหารมันถ่วงรั้งความเป็นประชาธิปไตย ที่หลักคือการเคารพสิทธิ์และเสียงและเสรีภาพของประชาชน หากสามารถแก้ารัฐธรรมนูญได้ จะส่งผลต่อความเจริญทางด้านประชาธิปไตย ส่งผลทําให้มายาคติ ความเชื่อ อคติของคนพิการเนี่ยมันลดน้อยลงได้