'น้ำในหูไม่เท่ากัน'กำเริบ ห้ามยืน-เดินเสี่ยงล้มหัวฟาดพื้น
แพทย์ชี้ “โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน” เป็นแล้วรักษาไม่หายขาด ถ้าอาการกำเริบ เช่น เวียนศีรษะขณะเดินให้หยุดนั่งพัก หากฝืนเดินอาจทำให้หกล้มเกิดอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึงได้
จากกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่มาฟังคำพิพากษาคดีจำนำข้าวโดยอ้างว่าป่วยเป็น “โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน” นั้น ศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้ความรู้ว่า “น้ำในหูไม่เท่ากัน” หรือ “มีเนีย” (Meniere’s disease) เป็นโรคที่มีความผิดปกติของ “หูชั้นใน” โดยมีน้ำในหูชั้นในมากผิดปกติ ซึ่งปกติหูชั้นในของคนเรามีเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัวและการได้ยินอยู่ จะมีน้ำในหูชั้นในปริมาณที่พอดีกับการทำงานของเซลล์ประสาทและมีการไหลเวียนถ่ายเทเป็นปกติ
เมื่อมีการเคลื่อนไหวของ “น้ำในหู” ขณะเคลื่อนไหวศีรษะ จะกระตุ้นเซลล์ประสาทดังกล่าวให้มีการส่งสัญญาณไปยังสมองเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย เมื่อใดก็ตามมีความผิดปกติของการไหลเวียนของ “น้ำในหู” เช่น การดูดซึมของน้ำในหูไม่ดี ทำให้น้ำในหูชั้นในมีปริมาณมากขึ้นกว่าปกติ จะส่งผลต่อการทำงานของเซลล์ประสาทที่ควบคุมการทรงตัว และการได้ยิน ทำให้เซลล์ดังกล่าวทำงานผิดปกติ
ผู้ป่วยจึงมีอาการ ได้แก่ “ประสาทหูเสื่อม” คือ หูอื้อ ได้ยินไม่ชัด รู้สึกแน่นในหูเป็นๆ หายๆ บางครั้งการได้ยินดีขึ้น บางครั้งการได้ยินเลวลง ถ้าเป็นในระยะยาวระดับการได้ยินจะแย่ลงเรื่อยๆ อาจถึงขั้นหูหนวกได้ ซึ่งในระยะแรกอาจมีอาการที่หูข้างเดียว และระยะหลังอาจมีอาการที่หูทั้ง 2 ข้าง ซึ่งจะมีอาการปวดหูหรือปวดศีรษะข้างที่เป็นด้วย “มีเสียงดังในหู” และ “มีเวียนศีรษะบ้านหมุน” บางครั้งอาจคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกร่วมด้วย อาการเวียนดังกล่าวมักเป็นๆ หายๆ ส่วนใหญ่ไม่เกินครึ่งชั่วโมง เมื่อมีอาการเวียนศีรษะ มักมีอาการทางหู เช่น หูอื้อ เสียงดังในหูร่วมด้วย อาการเวียนศีรษะเป็นอาการที่รบกวนผู้ป่วยมากที่สุด ทำให้ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติต้องนอนพัก
ถามว่าใครเสี่ยงที่จะเป็นน้ำในหูไม่เท่ากันมากที่สุด โรคนี้พบมากในคนอายุ 30-60 ปี ทั้งเพศชายและเพศหญิง โดยมากอาการมักจะเริ่มเมื่ออายุ 30 ปี ในประเทศไทยจากข้อมูลทางระบาดวิทยาของโรคนี้ยังมีน้อย และมักเป็นในหูข้างเดียว แต่อาจเป็นทั้งสองหูได้ร้อยละ 30 รวมถึงอาการของโรคนี้มักจะเกิดขึ้นทันทีทันใด อาจมีอาการทุกวัน หรือนานๆ ครั้งก็ได้ ซึ่งอาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดท้อง หรือท้องเสียร่วมด้วยก็ได้
เมื่อเป็นแล้วส่วนใหญ่ไม่สามารถรักษาหายขาดได้ เพียงแค่เข้าใจว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อมีอาการเวียนศีรษะ ใช้ยาบรรเทาอย่างไร เช่น เมื่อเวียนศีรษะขณะเดินก็ให้หยุดนั่งพัก เพราะหากฝืนเดินอาจทำให้ล้มเกิดอุบัติเหตุได้ ถ้าหากมีอาการขณะขับรถควรหยุดรถข้างทาง ไม่เช่นนั้นอาจเกิดอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึงได้ ถ้าเวียนศีรษะมากให้นอนบนพื้นราบที่ไม่มีการเคลื่อนไหว กินยาขณะมีอาการ อย่ากินอาหารและเครื่องดื่มมาก เพราะอาจมีอาเจียนร่วมด้วย