รถตู้รับส่งคนพิการใช้รถเข็น บริการดีและฟรี…จากกทม.

รถตู้รับส่งผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็นฟรีไม่เสียเงิน

บริการดีๆ จาก กทม. รถตู้รับส่งผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็นฟรีไม่เสียเงิน จะเป็นอย่างไรลองไปชมกันเลย เวลารถติดผมชอบดูรถรา และผู้คนตามท้องถนน ผมสะดุดตากับรถอยู่คันหนึ่ง เป็นรถตู้ของกทม. โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เขียนว่า “โครงการรถบริการสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุใช้รถเข็น” พร้อมเบอร์โทรศัพท์ ผมถ่ายรูปไว้แล้วโทรไปถามข้อมูล เพราะอยากรู้ว่ารถตู้คันนี้จะให้บริการกับคนพิการ และผู้สูงอายุอย่างไรบ้าง ในที่สุดผมก็ได้นัดสัมภาษณ์กับผู้บริหารโครงการนี้

เรานัดคุยกันที่ มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ ในพระบรมราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ถนนติวานนท์ จ.นนทบุรี เพื่อดูการทำงานของรถ และได้คุยกับผู้บริหารของมูลนิธิฯ รวมถึงเด็กพิการที่เคยใช้รถนี้มาก่อนแล้ว

วันที่ไปผมขออนุญาตเข้าพบ คุณสมจิตร์ รามนันทน์ ผู้จัดการฝ่ายบริหารมูลนิธิฯ คุณสมจิตร์ดีใจที่ กทม. มีบริการรถตู้แบบนี้ เพราะทางมูลนิธิฯ โทรไปขอใช้บริการอย่างสม่ำเสมอ อาจจะได้บ้างไม่ได้บ้างขึ้นอยู่กับคิวของผู้ใช้บริการในแต่ละวัน ซึ่งเข้าใจว่ารถมีแค่ 30 คัน ซึ่งเทียบกับผู้ที่ใช้รถเข็นในเขตกทม. มีจำนวนกว่า 60,000 คน ยังไม่รวมผู้สูงอายุยังไงก็ไม่พอก็แบ่งกันไป

รถตู้รับส่งผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็นฟรีไม่เสียเงิน

เนื่องจากในแต่ละเดือน เด็กๆ ที่มูลนิธิฯ จะมีนัดกับคุณหมอตามโรงพยาบาลต่างๆ เกือบทุกวัน ผมถามว่าปกติจะไปที่โรงพยาบาลเดียวกันหรือเปล่า แล้วจะคัดเลือกว่าใครจะได้ไปบ้าง คุณสมจิตร์บอกว่า เด็กพิการที่นี่จะแยกกันตรวจตามแต่สถานพยาบาลที่เด็กแต่ละคนรักษาอยู่ เช่น ศิริราช จุฬา พระมงกุฎ ฯลฯ ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่มาจากต่างจังหวัดและฐานะยากจน เด็กคนไหนที่ครอบครัวพอมีฐานะ และอยู่ในกรุงเทพฯ ที่มูลนิธิฯ จะสอนให้เด็กๆ พยายามพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด เป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ นึกถึงคนอื่นๆ ที่ลำบากกว่าเราเสมอ

ผมถามว่า ถ้าไม่มีรถตู้บริการของ กทม. เด็กๆ พิการจะไปหาคุณหมอได้อย่างไร คุณสมจิตร์บอกว่า ทางมูลนิธิฯ มีรถเช่นกัน แต่ไม่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเท่ากับรถตู้บริการของ กทม. บางครั้งต้องอุ้มเด็กขึ้นรถ และบางครั้งรถไม่มี ต้องไปเรียกแท็กซี่ ซึ่งตรงนี้น่าเป็นห่วงมาก แม้คนขับแท็กซี่ยินดีช่วย แต่ไม่มีความรู้ บางทีไปช่วยอุ้มช่วยพยุง แล้วจัดท่าทางหรือวางน้ำหนักไม่ถูก ทำให้กระดูกหัก เพราะเด็กพิการที่นี่จะกระดูกเปราะมาก

รถตู้รับส่งผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็นฟรีไม่เสียเงิน

ผมขออนุญาตไปสัมภาษณ์เด็กๆ ต่อ คุณสมจิตร์แจ้งว่าสามารถคุยและถ่ายรูปเด็กๆ ออกสื่อได้ เพราะผู้ปกครองและมูลนิธิฯ อนุญาตแล้ว ในวันที่ผมเข้าไปพูดคุย มีเด็กที่นัดกับรถตู้บริการให้มารับไปโรงพยาบาลพอดี ผมจึงขอให้พนักงานขับรถสาธิตวิธีการใช้รถ เริ่มจากเปิดประตูท้ายรถ ด้านหลังจะเป็นลิฟท์ยกรถเข็น ซึ่งจะลดระดับลงมาจนติดพื้น เพื่อให้คนพิการเข็นรถขึ้นไป พนักงานขับรถจะปรับที่ห้ามล้อให้มั่นคง แล้วค่อยกดปุ่มยกรถเข็นขึ้นไปในระดับเดียวกับพื้นรถ ปลดที่ห้ามล้อลง คนพิการจะเข็นรถเข้าไปได้

ด้านในรถตู้ มีลักษณะปรับเปลี่ยนให้ใส่รถเข็นขึ้นได้ 2-3 คัน และที่นั่งด้านข้างสำหรับผู้ติดตาม เมื่อขึ้นรถแล้วพนักงานขับรถจะล็อคล้อทั้ง 4 ข้าง ให้คนพิการคาดเข็มขัดนิรภัยถึงจะออกรถได้ โดยขั้นตอนทั้งหมดตั้งแต่มารับขึ้นรถจนลงรถ พนักงานขับรถจะไม่มีการถูกเนื้อต้องตัวคนพิการเลย ทั้งหมดจะใช้ระบบอัตโนมัติ มีมาตรฐานจากประเทศญี่ปุ่นด้วยการกดปุ่มทั้งหมด เพื่อรักษาสิทธิของคนพิการ ป้องกันการสัมผัสตัว ลดปัญหาทั้งเรื่องการคุกคามทางเพศและการบาดเจ็บในการขนย้าย ซึ่งพนักงานขับรถเองก็จะได้รับการอบรมทั้งในเรื่องการขับรถปลอดภัย ทำเวิร์คช็อปกับผู้พิการ และอบรมด้านธรรมะกับการให้บริการ ก่อนจะรับเข้ามาทำงานอีกด้วย

ผมสัมภาษณ์เด็กพิการว่าใครเคยใช้รถตู้แบบนี้บ้าง แล้วมีความรู้สึกอย่างไร เด็กๆ ทุกคนบอกว่าชอบ เพราะขึ้นรถได้รวดเร็ว ไม่ต้องลงจากรถเข็น แถมอยู่บนรถก็สนุก เพราะบางทีก็ได้ไปโรงพยาบาลพร้อมกับเพื่อน อยากให้มีรถแบบนี้อีกเยอะๆ เด็กผู้หญิงอีกคนบอกว่า เธอเคยไปงานวันเด็กโดยนั่งรถคันนี้ไปที่พิพิธภัณฑ์เด็ก ผู้บริหารโครงการฯ บอกว่า ในวันเด็กจะมีกิจกรรม CSR ของบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด โดยให้พนักงานทุกแผนกที่อยากทำจิตอาสา ไม่ว่าจะเป็นวิศวกร บัญชี ธุรการ ฯลฯ มาช่วยเข็นรถให้เด็กๆ เพื่อพาเที่ยวด้วย

บนถนนเส้นเดียวกันกับมูลนิธิฯ ด้านในจะเป็นศูนย์ส่งเสริมอาชีพคนพิการ ผู้พิการในศูนย์นี้ก็มักเรียกใช้บริการรถตู้ให้ไปรับเช่นกัน ผมได้เจอ คุณอำไพ สราญรื่น หรือผมเรียกว่า “พี่อำไพ” เล่าว่า แต่ก่อนไม่ได้อยู่ที่นี่ก็เรียกรถตู้ของ กทม. ให้ไปรับที่บ้าน ผมจึงขออนุญาตถามว่า ขั้นตอนการเรียกรถให้มารับทำอย่างไร พี่อำไพเล่าว่า ถ้าจะไปวันไหน ต้องโทรไปจองล่วงหน้าก่อน 1-2 วัน โดยทาง กทม. จะเปิดสายให้โทรได้ตั้งแต่ 9 โมงเช้า ใครโทรได้ก่อนก็จะได้นัด

พี่อำไพเล่าว่า ต้องมีความตั้งใจโทรและต้องมีโชคด้วย เพราะไม่ถึง 5 นาที รถทั้ง 30 คันจะเต็มหมดแล้ว ผมหันไปถามผู้บริหารโครงการฯ ว่า รถจองเต็มทุกวันแบบนี้เลยเหรอ แล้วส่วนใหญ่คนพิการจะเรียกรถตู้ให้ไปรับไปส่งที่ไหนกันบ้าง ผู้บริหารโครงการฯ แจ้งว่า คนเต็มอย่างพี่อำไพพูดจริงๆ ซึ่งทางบริษัทจะให้สิทธิ์คนพิการที่จะไปโรงพยาบาลก่อนเสมอ เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน แต่บางครั้งก็อาจจะมีขอไปเรื่องการทำงาน ทำธุระที่เขต เยี่ยมเพื่อนเยี่ยมญาติบ้าง ซึ่งถือเป็นส่วนน้อย รถตู้บริการคนพิการนี้จะวิ่งในเขตกทม. และปริมณฑลเท่านั้น

ผมถามพี่อำไพว่า แล้ววิธีโทรไปจองต้องแจ้งอะไรบ้าง แจ้งชื่อลงทะเบียนและเลขที่บัตรประชาชน ก็ได้ใช้แล้ว โดยทาง กทม. จะเช็คว่าเราเป็นคนพิการ หลังจากนั้นก็จะบอกสถานที่ที่จะไป และสถานที่ที่จะมารับ นัดหมายเวลากัน ทุกอย่างฟรีหมด เสียแค่ค่าโทรศัพท์ที่โทรไปจองเท่านั้น ผมถามว่าถ้าไม่มีรถตู้บริการของ กทม. แล้วพี่อำไพจะทำอย่างไร พี่อำไพบอกว่าต้องเรียกแท็กซี่ ซึ่งเธอรู้ดีว่าแท็กซี่ไม่อยากจะรับคนพิการเท่าไหร่ เห็นอยู่ว่าว่าง แต่พอขับผ่านปิดไฟว่าไม่ว่างเสียอย่างนั้น

พี่อำไพบอกว่า แท็กซี่มักจะอ้างประจำว่า ท้ายรถติดถังแก๊สใส่รถเข็นเข้าไปไม่ได้ ซึ่งจริงๆ รถเข็นมันพับได้ หรือจะเอาไปใส่เก้าอี้ด้านหลังคนขับก็ได้ แต่เขาก็ไม่ยอม บอกว่าเดี๋ยวรถเข็นจะขูดเบาะรถเขาขาด ซึ่งจริงๆ แล้วรถเข็นไม่ได้มีวัสดุไปเกี่ยวเบาะให้ขาดได้ พี่อำไพพูดเหมือนกับเด็กๆ ที่มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการฯ ว่า อยากให้มีรถตู้บริการแบบนี้มากขึ้น

รถตู้รับส่งผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็นฟรีไม่เสียเงิน

ผมจึงหันไปถามผู้บริหารโครงการฯ ว่าเป็นไปได้ไหม ถ้าสมมุติมีคนใจดีอยากจะบริจาคเงินซื้อรถแบบนี้ เขาต้องบริจาคคันละเท่าไหร่ ผู้บริหารโครงการฯ แจ้งว่า รถตู้พร้อมอุปกรณ์ติดตั้งแบบครบเซ็ตมีราคาอยู่ที่คันละเกือบ 2 ล้านบาท ที่ผ่านมา ทางบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้รับการสนับสนุนในรูปแบบ CSR จากสปอนเซอร์หลายราย เช่น รถตู้ที่ซื้อมา โตโยต้าดูแลซ่อมบำรุงรักษาให้ตลอด 5 ปี น้ำมันบางจากก็ลดราคาให้พิเศษ ซึ่งต่ำกว่าราคาท้องตลาด บริษัทยางมิชลินให้ยางรถยนต์ฟรี 5 ปี

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะมีคนใจดีซื้อรถเพิ่มให้ก็ยินดี แต่ลำบากใจเช่นกัน เนื่องจากจะต้องมีค่าบริหารจัดการเพิ่มขึ้นไปด้วย เพราะต้องหาพนักงานขับรถเพิ่ม ค่าอบรม ค่าภาษีและประกันรถยนต์ ฯลฯ ผมจึงถามว่า ถ้าไม่ได้ให้ในรูปของตัวเงินหรือซื้อรถให้ใหม่ ทางรถตู้บริการคนพิการของ กทม. อยากได้อะไรเพิ่มเติมหรือไม่ ผู้จัดการโครงการฯ บอกว่า เนื่องจากบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ดำเนินการเรื่องระบบขนส่ง ราง ล้อ เรือ ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งรถตู้ดังกล่าวทำให้คนทุกคนได้เข้าถึงระบบอย่างสะดวกและปลอดภัย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่บริษัทคำนึงถึงมากที่สุด แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้เราก็ต้องชดเชยให้ผู้โดยสารด้านความรู้สึก และเงินรักษาตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยทุกโครงการที่ดำเนินการได้ซื้อประกันประเภทที่ 1 มาโดยตลอด หากบริษัทประกันเห็นถึงประโยชน์ของประชาชน อาจจะร่วมสนับสนุนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในส่วนประกันภัยได้ และอีกเรื่องที่สำคัญ คือ เรื่องของจำนวนรถให้บริการมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้บริการ หากภาคเอกชนและภาครัฐมาช่วยกันคิดและสนับสนุนการเดินทางของผู้พิการในการเพิ่มจำนวนรถ ซึ่งในระยะแรกที่ทำได้เร็วที่สุดคือ ปรับความคิดของผู้ให้บริการรถแท็กซี่ ให้เข้าใจและยินดีรับส่งผู้พิการได้ ก็เพิ่มจำนวนรถได้แล้ว ส่วนในระยะยาวค่อยมาคิดโมเดลธุรกิจว่า ให้มีการบริการอย่างยั่งยืนได้อย่างไร

ถ้าผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็นท่านไหน ทราบข้อมูลนี้แล้ว ต้องการจะโทรไปจองรถตู้บริการนี้ โทรไปจองล่วงหน้าที่เบอร์ 02-294-6524, 090-090-0720, 090-090-0727, 090-090-0729 เริ่มเวลาโทร 9 โมงนะครับ ส่วนใครที่ต้องการจะช่วยสนับสนุนให้มีรถตู้บริการเพิ่มมากขึ้น สามารถติดต่อ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ที่เบอร์ 02-168-3368 ครับ.

..........................................

คอลัมน์ : ก้อนเมฆเล่าเรื่อง

โดย “น้าเมฆ”

ขอบคุณ... https://www.dailynews.co.th/article/598809

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 18 ก.ย.60
วันที่โพสต์: 19/09/2560 เวลา 10:46:28 ดูภาพสไลด์โชว์ รถตู้รับส่งคนพิการใช้รถเข็น บริการดีและฟรี…จากกทม.