บูรณาการ "ทางเท้า"ทั่วกรุง เป็นแบบเดียวกันหมด

นายจักกพันธ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) โครงการปรับปรุงดูแลทางเท้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เกิดปัญหาการปรับปรุง ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นายจักกพันธ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยว่า จากโครงการปรับปรุงดูแลทางเท้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เกิดปัญหาการปรับปรุง ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย เนื่องจากหน่วยงานในการดูแลทางเท้า จะมีการดูแลปรับปรุงทั้งจากสำนักงานเขตพื้นที่นั้นๆและสำนักการโยธา โดยที่ผ่านมาปัญหาทางเท้า เป็นปัญหาที่ประชาชนร้องเรียนถึงสภาพชำรุดเสียหาย ผิวทางเท้าขรุขระ มีสิ่งกีดขวางทางเท้า และมีน้ำขัง สร้างความไม่สะดวกในการสัญจรอย่างมาก ดังนั้นตนจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการปรับปรุงทางเท้าสาธารณะ สภาพแวดล้อม และจัดสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการใช้งานของทุกคนในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อวางแนวทางการปรับปรุงดูแลทางเท้าที่ชัดเจน ในรูปแบบเดียวกันทั้งหมด โดยเบื้องต้น ทางเท้าของกรุงเทพฯทุกแห่ง จะต้องมีการจัดทำทางลาดขึ้นลงเพื่อให้ผู้พิการ ผู้ใช้รถเข็นสามารถใช้ทางเท้าได้อย่างสะดวก โดยอาจกระจายทางลาดขึ้นลงทางเท้าในจุดต่างๆ ระยะ 100 เมตร นอกจากนี้การติดตั้งป้ายโฆษณาบนทางเท้า จะต้องดูแลไม่ให้มีการติดตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างเด็ดขาด

โครงการปรับปรุงดูแลทางเท้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เกิดปัญหาการปรับปรุง ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นายจักกพันธ์ กล่าวต่อว่า ศาลาที่พักผู้โดยสาร หรือการตั้งเก้าอี้ที่พักบนทางเท้า ก็จะต้องตั้งวางอย่างเหมาะสม และอาจปรับปรุงรูปแบบศาลาที่พักตามอัตลักษณ์พื้นที่ เช่นพื้นที่ย่านราชประสงค์ พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อให้มีความสวยงาม บ่งบอกถึงประวัติของพื้นที่นั้นๆ ส่วนตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ตั้งวางบนทางเท้า ซึ่งกทม.ได้ทำการรื้อย้ายตู้ที่ติดตั้งไม่ได้รับอนุญาตออกไปแล้ว แต่ตู้ที่ติดตั้งอย่างถูกต้อง ก็ยังมีจำนวนมาก และปัจจุบันมีการใช้โทรศัพท์สาธารณะลดน้อยลง ดังนั้น จะมีการประสานความร่วมมือเจ้าของตู้โทรศัพท์ ปรับปรุงขนาดตู้ให้เล็กลง เพื่อไม่ให้กีดขวางทางสัญจร และการติดตั้งตู้โทรศัพท์ ต้องมีจำนวนที่เหมาะสม ไม่มีการติดตั้งป้ายโฆษณาขนาดใหญ่แฝงมากับตู้

อย่างไรก็ตาม ในแต่ละปีนั้น กทม.ต้องจัดสรรงบประมาณในการซ่อมแซมทางเท้า ไม่ต่ำกว่าปีละ50 ล้าน ซึ่งโดยปกติแล้ว การซ่อมแซม จัดทำทางเท้าในแต่ละพื้นที่ จะมีอายุการใช้งานอยู่ที่ประมาณ 5-10 ปี ทางเท้าสามารถรองรับน้ำหนักได้ ไม่เกิน 200กิโลกรัมต่อตารางเมตร แต่เหตุที่ทำให้ทางเท้าเกิดการพุพังก่อนกำหนด เนื่องจากทางเท้าในพื้นที่กรุงเทพฯส่วนใหญ่มักมีรถจักรยานยนต์ขึ้นไปขับขี่ อีกทั้งบางพื้นที่ที่มีทางเท้ากว้างก็จะมีรถยนต์ขึ้นไปจอด กทม.อยากขอความร่วมมือประชาชนใช้งานทางเท้าให้เหมาะสม ไม่นำรถมาขับขี่หรือจอดบนทางเท้าอย่างเด็ดขาด เพราะนอกจากผิดกฎหมายแล้ว ยังสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนผู้อื่นแล้ว ยังทำให้ทางเท้าชำรุดเสียหาย กทม.ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณในการซ่อมแซมจำนวนมาก.

ขอบคุณ... https://www.dailynews.co.th/bangkok/587143

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 23 ก.ค.60
วันที่โพสต์: 24/07/2560 เวลา 13:15:23 ดูภาพสไลด์โชว์ บูรณาการ "ทางเท้า"ทั่วกรุง เป็นแบบเดียวกันหมด