เสริมพลังใจให้แก่กัน กรมสุขภาพจิตมอบรถเข็นชนิดพิเศษให้ผู้พิการ 9 จังหวัดฟรี ปีนี้ 2,000 คน
กรมสุขภาพจิต จับมือองค์การกุศลไทยและนานาชาติ มอบอุปกรณ์การแพทย์พระราชทานในพระนามาภิไธยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นรถเข็นชนิดพิเศษและเครื่องช่วยเหลือความพิการ ให้ผู้พิการทุกประเภททุกวัยฟรี ตั้งเป้าปีนี้จำนวน 2,000 คนใน 9 จังหวัด ที่จ.สระแก้ว มอบให้ใน 4 อำเภอชายแดน จำนวน 185 คน มูลค่า 2.2 ล้านบาท เพื่อเสริมพลัง สร้างโอกาสให้ผู้พิการช่วยเหลือตนเอง และใช้ความสามารถตัวเองที่มีอยู่ เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆในสังคม ชุมชน เผยผลการวิจัยพบว่าผู้พิการที่ได้รับการช่วยเหลือแล้ว มีสุขภาพกายจิตดีขึ้น มีความสุขใจอยู่ในระดับมากเกือบเต็ม100เปอร์เซนต์
วันที่ ( 10 สิงหาคม 2560 ) ที่กองกำลังบูรพา ต.ห้วยโจด อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมด้วย พ.อ.วรยุทธ แก้ววิบูลย์พันธุ์ รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ และนายแพทย์สมัย ทองศิริถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต มอบอุปกรณ์การแพทย์พระราชทานในพระนามาภิไธยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นเครื่องช่วยเหลือความพิการให้แก่เด็กและผู้พิการทางการเคลื่อนไหว และด้อยโอกาส ที่อยู่ในพื้นที่ 4อำเภอตามแนวชายแดน ของจ.สระแก้ว ประกอบด้วย อ.วัฒนานคร อ.อรัญประเทศ อ.ตาพระยา และอ.โคกสูง จำนวน 185 คน ส่วนใหญ่พิการอัมพาตครึ่งซีก ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ขาขาดจากระเบิด ประกอบด้วยรถเข็น 55 คัน วอคเกอร์ช่วยพยุงตัวเดิน 20 ตัว โรเลเตอร์หรือรถหัดเดินแบบมีล้อ 30 ตัว ไม้ค้ำยัน 10คู่ เก้าอี้สุขภัณฑ์ 5 ตัว ไม้เท้าก้านเดี่ยวและสามขา 5 อัน ราวจับห้องน้ำ 4 อัน รองเท้า 50 คู่ ฟูกนอน 6 อัน แพมเพอส 2กล่อง รวมมูลค่า 2.2 ล้านบาท ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกองกำลังบูรพากับสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิตและมูลนิธิพัฒนาการเด็กราชนครินทร์
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้จัดโครงการจัดหาและสนับสนุนอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการ เพื่อบรรเทาความยากลำบากและเสริมพลังใจสนับสนุนให้เด็กและผู้ใหญ่ที่มีความพิการได้ใช้ความสามารถของตัวเองที่มีอยู่ช่วยเหลือตนเองและมีส่วนร่วมกิจกรรมต่างๆในสังคม สร้างความภาคภูมิใจ เติมเต็มกระบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ช่วยลดภาระการดูแลให้ครอบครัวได้ โดยมอบให้สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์เชี่ยวชาญด้านพัฒนาฟื้นฟูเด็กที่มีปัญหาทางด้านพัฒนาการของกรมสุขภาพจิตเป็นหน่วยงานหลักและได้มีความร่วมมือกับองค์กรการกุศลต่างประเทศ ได้แก่ องค์กรวีลส์ ออฟ โอป ( Wheels of hope ) และองค์กรวีลส์ ฟอร์ เดอะ เวิร์ล ( Wheels for the world) ประเทศสหรัฐอเมริกา องค์กรวีลแชร์ ออฟโฮป ( Wheelchairs of hope) ประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ องค์กร เม็ด เอดส์ ฟอร์ คิดส์ ( Med Aids for kids )ประเทศไอร์แลนด์ และ องค์กรคอนวอย ออฟ โฮป ( Convoy of hope) ประเทศเยอรมัน บริษัทไอซีซี และบริษัทไทเกอร์โลจิสติกส์ ในการจัดหาอุปกรณ์เครื่องช่วยเหลือความพิการต่างๆภายในพระนามาภิไธยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี นำไปช่วยเหลือแก่เด็กพิการที่มีความต้องการพิเศษรวมทั้งผู้พิการทั่วไป และผู้ด้อยโอกาส ในปี 2560 นี้ตั้งเป้ามอบจำนวน 2,000 คน ใน 9 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว ปัตตานี นราธิวาส เชียงใหม่ น่าน พะเยา อุทัยธานี เลย และเพชรบูรณ์
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า อุปกรณ์ช่วยลดข้อจำกัดความพิการในโครงการนี้ จะมีความพิเศษ โดยเฉพาะรถเข็นนั่ง โดยจะมีการวัดขนาดตัวของผู้พิการ และปรับขนาดรถให้พอดีเหมาะสมกับสภาพความพิการ เนื่องจากผู้พิการประมาณร้อยละ80 พิการตั้งแต่กำเนิด เช่น สมองพิการ กล้ามเนื้ออ่อนแรง นั่งทรงตัวลำบาก แขนขาผิดรูป อัมพาตครึ่งท่อน เป็นต้น ส่งผลให้ผู้พิการสามารถนำไปใช้ได้อย่างสะดวก ไม่ต้องกลัวตกจากรถเข็น โดยจะมีการสอนญาติ ผู้ดูแล ผู้พิการในการใช้เคลื่อนย้ายตัวเอง รวมทั้งการฝึกอบรมเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้รถเข็น ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตได้เริ่มโครงการนี้ต่อเนื่องตั้งแต่พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน มอบไปแล้ว 11,981 ชิ้น ประกอบด้วยรถเข็น 5,447 คัน ที่เหลือเป็นอุปกรณ์ช่วยความพิการเช่น วอล์คเกอร์ ไม้เท้ารวม 6,534 ชิ้น มูลค่า 205 ล้านบาท
ทางด้านนายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ ได้ทำการสำรวจคุณภาพชีวิตและและความสุขของผู้พิการด้านการเคลื่อนไหวหลังจากที่ได้รับมอบรถเข็นเครื่องช่วยความพิการไปใช้ จำนวน 200 คนในปี 2557 พบว่า ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นใช้ชีวิตประจำวันสะดวกสบายขึ้นร้อยละ 96 ช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้นร้อยละ 83 ช่วยเรื่องสุขภาพกายร้อยละ 80 ผู้พิการมีความสุขอยู่ในระดับมากร้อยละ 99.5 ผลแห่งความสุขใจนี้ จะช่วยให้ผู้พิการเกิดพลังใจ มีความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาตนเองในด้านอื่นๆหรือสร้างอาชีพตนเองต่อไป
สำหรับรถเข็นที่มอบให้ผู้พิการในโครงการนี้ มีหลายรูปแบบ ได้แก่ รถสปอร์ตวีลแชร์ รถเข็นมาตรฐาน รถเข็นแบบปรับเอนได้ รถเข็นแบบให้ผู้อื่นเข็น รถเข็นนั่งไฟฟ้า รถเข็นสำหรับเด็กที่มีความพิเศษ เช่น คอไม่แข็ง รถเข็นผู้สูงอายุ รถเข็นสุขภัณฑ์ รถหัดเดินแบบมีล้อ วอล์คเกอร์ อุปกรณ์ช่วยยกผู้ป่วย เก้าอี้อาบน้ำ เก้าอี้สุขภัณฑ์ ไม้ค้ำยัน ทั้งนี้รายงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ล่าสุดในปี 2559 มีผู้พิการทุกประเภททั่วประเทศ 1,568,847 คน คิดเป็นร้อยละ 2.38 ของประชากรทั้งหมด