การสะกดนิ้วมือไทย หน้า 1

การสะกดนิ้วมือไทย คือการใช้นิ้วมือทำท่าภาษามือแทนตัวอักษร สระ วรรณยุกต์ในภาษาไทย รวมทั้งตัวเลขเพื่อสะกดเป็นคำที่มีความหมายต่างๆ

การสะกดนิ้วมือไทยสำหรับคนหูหนวกนี้ ผู้คิดค้นดัดแปลงจากตัวสะกดนิ้วมืออเมริกันมาเป็นตัวสะกดนิ้วมือไทยสำเร็จคนแรกเมื่อปี พ.ศ. 2499 คือ คุณหญิงกมลา ไกรฤกษ์ อ.บ. , ป.ม., M.A., อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนสอนคนหูหนวก (โรงเรียนเศรษฐเสถียรในขณะนี้) ซึ่งสำเร็จวิชาการสอนคนหูหนวก จากมหาวิทยาลัยกาเลาเด็ท กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา

การสะกดนิ้วมือชุดนี้ เกิดขึ้นจากคณะศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนหูหนวกกลุ่มหนึ่ง ได้พยายามปรับปรุงให้สมบุรณ์ยิ่งขึ้นเพื่อครู – นักเรียนหูหนวก และบุคคลหูปรกติสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง โดยมีมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกในพระบรมราชินูปถัมภ์ สนับสนุนด้านวิชาการและทุนในการจัดพิมพ์

การสะกดนิ้วมือช่วยคนหูหนวกซึ่งเป็นผู้เรียนรู้ทางตาในการศึกษาหาความรู้และช่วยให้สื่อสารกันได้อย่างชัดเจนและสะดวก ดังนั้นการใช้ท่าทางต่างๆ พร้อมด้วยการสะกดด้วยนิ้วมือ จึงจำเป็นต่อการสื่อสารของคนหูหนวกเป็นอย่างยิ่ง การสะกดนิ้วมือของไทย แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

    ส่วนที่ 1 แบบสะกดตัวอักษร การเรียงลำดับของอักษรไทย สระ วรรณยุกต์ ในภาษามือแตกต่างจากการเรียงลำดับตัวอักษรปรกติ โดยอักษรภาษมือหรือแบบสะกดนิ้วมือไทยได้เรียงลำดับตัวอักษรตามลักษระของท่ามือที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่น ก. จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับ ข. ค. และ ฆ. ส่วนตัวอักษรตัวต่อไปเป็นตัว ต. ซึ่งมีตัวอักษรที่มีลักษณะท่ามือคล้ายคลึงในกลุ่มนี้ถึง 5 ตัว คือ ถ ฐ ฒ ฑ ฎ ส่วนตัว ฮ ซึ่งเป็นอักษรตัวสุดท้ายสำหรับคนปรกติแต่สำหรับคนหูหนวก ตัว ฮ. จะอยู่ในกลุ่มของตัว ห. เป็นต้น ดังนั้นอักษรตัวสุดท้ายของแบบสะกดนิ้วมือของคนหูหนวกไทย จึงเป็นตัว อ. แทน อย่างไรก็ตามแบบสะกดนิ้วมือไทยไม่มีตัว ฃ ฅ เนื่องจากคนหูหนวกพบเห็นตัวอักษร 2 ตัวนี้ในการอ่าน การเขียนน้อยมากจึงไม่มีท่ามือดังกล่าว//ส่วนที่ 2 แบสะกดนิ้วมือ สระ วรรณยุกต์ และสัญลักษณ์อื่นๆ ซึ่งได้จัดเรียงตาม ลักษณะที่คนหูหนวกเห็นและใช้อยู่ตามปรกติ ซึ่งไม่เหมือนกับการเรียงลำดับของสระในภาษาไทย//ส่วนที่ 3 แบบสะกดตัวเลข ซึ่งมีตั้งแต่ 1 ถึง 10 และตัวเลขหลักสิบถึงล้านตามลำดับ

ลักษณะสำคัญของการสะกดนิ้วมือไทยอีกอย่างหนึ่งที่ปรากฏในเอกสารฉบับนี้คือการเคลื่อนไหวต่างๆ ลัญลักษณ์ที่ใช้แสดงการเคลื่อนไหว เพื่อแสดงลำดับของการทำท่าอักษรสะกดนิ้วมือโดยใช้ศร โดยกำหนดให้โคนศรเป็นท่าที่ 1 และปลายศรจะเป็นท่าถัดไป ส่วนภาพที่เป็นเส้นประ หมายถึงการทำท่าเป็นลำดับแรก

การสะกดนิ้วมือนี้ ผู้ใช้ควรแสดงอาการให้งดงามโดยไม่ยกแขนเกะกะให้มองดูกีดขวางน่ารำคาญให้มีจังหวะคล้ายการพูดที่มีวรรคตอนที่มีการเว้นระยะหายใจไม่ทำท่าทางให้เร็วจนเกินไป เพราะคู่สนทนาหรือผู้ติดตามเรื่องจะมองตามไม่ทัน หากในประโยคที่แสดงอาการนั้นจะต้องใช้คำที่สะกดด้วยนิ้วมือร่วมด้วยผู้ใช้ภาษามือควรใช้นิ้วสะกดคำให้ช้าและถูกต้องเพื่อความชัดเจนและคะเนให้คู่สนทนาได้มีเวลาอ่านได้ทันด้วย การเคลื่อนไหวนิ้วมือในการสะกดตัวอักษรถ้าไม่ชัดเจนจะทำให้เข้าใจผิดได้ง่าย เพราะการสะกดด้วยนิ้วมือในภาษาไทยเรามีถึง 49 ท่า ร่วมั้งท่าชี้บนฝ่ามืออีก 17 ท่า รวม 66 ท่า ถ้าผู้สะกดนิ้วมือไม่ระวังในการใช้นิ้วให้ถูกต้องแนบเนียน อาจเป็นเหตุให้การทำท่ามือและการอ่านสับสนได้

คนหูหนวกส่วนใหญ่ใช้การสะกดนิ้วมือ เมื่อกล่าวถึงบุคคล ชื่อเฉพาะ ชื่อย่อ และสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย เพื่อความเข้าใจที่ถุกต้องชัดเจน

(ที่มา: มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์)