แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7
เนื้อหาบางส่วน
การพัฒนาการเงินการคลัง และตลาดทุน
1. ผลการพัฒนาการเงินการคลัง และตลาดทุนที่ผ่านมา
1.1 ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 เศรษฐกิจเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในอัตราเฉลี่ยถึงร้อยละ 10.5 ต่อปี เทียบกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 แม้ในช่วงปลายแผนฯ ระดับเงินเฟ้อ การขาดดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดได้เพิ่มสูงขึ้นและมีแนวโน้มที่จะสูงต่อไปในช่วงแผนพัฒนาฉบับที่ 7 แต่เสถียรภาพด้านการคลังมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพสูงโดยรัฐบาลเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมายมาก คิดเป็นร้อยละ 19.7 ของผลผลิตรวมภายในประเทศในปี 2533 เทียบกับร้อยละ 15.1 ในปี 2529 ซึ่งแม้รัฐบาลจะได้เพิ่มการใช้จ่ายขึ้นอย่างมากเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีลักษณะเป็นปัญหาคอขวด แต่รัฐบาลก็ยังมีการเกินดุลเงินสดมากและมีเงินคงคลังเพิ่มขึ้นถึงระดับกว่า 1.84 แสนล้านบาทในเดือนมิถุนายน 2534 ประกอบกับภาระหนี้เงินกู้ต่างประเทศได้ลดลงตามลำดับ การออมของภาครัฐบาลจึงได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.3 ของผลผลิตรวมในประเทศในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 เป็นเฉลี่ยร้อยละ 0.6 ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 นอกจากนั้นทุนสำรองเงินตรา
ต่างประเทศก็ได้เพิ่มขึ้นในระดับสูงขึ้นถึง 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อกลางปี 2534 ด้วย อย่างไรก็ดีในภาคครัวเรือนยังคงมีการออมที่คงตัวอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่ารัฐบาลจะได้ดำเนินมาตรการด้านภาษีเพื่อกระตุ้นการออมแล้วหลายประการ
1.2 ด้านการเงิน ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 ได้มีการปรับโครงสร้างให้มีความยืดหยุ่นและ
มั่นคงมากขึ้น โดยยกเลิกเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่มีอายุเกิน 1 ปี ปรับเพดานอัตรา
ดอกเบี้ยเงินกู้ของสถาบันการเงิน การรับพันธะข้อ 8 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศและ
ผ่อนคลายปริวรรตเงินตรา เป็นต้น ซึ่งช่วยให้ระบบการเงินก้าวหน้าทันต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของการเงินของโลก รวมทั้งเปิดโอกาสให้ไทยก้าวสู่ความเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาค
ดาวน์โหลดเอกสาร : แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7
ที่มา: http://www.nesdb.go.th/Default.aspx?tabid=89
วันที่โพสต์: 9/10/2556 เวลา 09:02:14