แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1
ลักษณะทั่วไปและสาระสำคัญของแผนพัฒนาการเศรษฐกิจระหว่าง
พ.ศ. 2504 – 2506 - 2509
เอกสารแผนพัฒนาการเศรษฐกิจระหว่าง พ.ศ. 2504-2506-2509 ฉบับนี้ กล่าวถึงจุดหมาย นโยบาย การประมาณกำลังเงิน และการใช้จ่ายในพัฒนาการเศรษฐกิจกับแนวทางดำเนินงานเกี่ยวกับพัฒนาการเศรษฐกิจในแต่ละแขนง โดยเฉพาะแนวทางดำเนินงานเกี่ยวกับพัฒนาการเศรษฐกิจในแต่ละแขนงนั้น มีมาตราการอันจำเป็นที่ควรจัดให้มีขึ้น เพื่อประโยชน์แก่การดำเนินงานพัฒนาการเศรษฐกิจ ในแขนงนั้นๆ ไว้ด้วย เช่น การแก้ไขกฎหมายหรือการออกกฎหมายใหม่ เป็นต้น
ลักษณะทั่วไปของแผนพัฒนาการเศรษฐกิจ
ลักษณะโดยทั่วไปของแผนพัฒนาการเศรษฐกิจระหว่าง พ.ศ. 2504-2506-2509 ฉบับนี้ มีดังต่อไปนี้
1. เป็นแผนพัฒนาการเศรษฐกิจเฉพาะการดำเนินงานพัฒนาการเศรษฐกิจด้านรัฐบาล ถึงแม้จุดหมายที่กำหนดไว้เป็นส่วนรวม จะได้กะประมาณผลที่จะเกิดในด้านเอกชนไว้ด้วยก็ตาม การกะประมาณนั้นๆ ได้อาศัยการคาดผลอันจะเกิดจากการดำเนินงานของรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่
2. ระยะของแผนพัฒนาเศรษฐกิจมีกำหนดหกปี คือ ระหว่าง พ.ศ. 2504 ถึง พ.ศ. 2509 และแบ่งออกเป็นระยะ 3 ปีแรก (พ.ศ. 2504-2506) กับระยะ 3 ปีหลัง (พ.ศ. 2507-2509) การกะประมาณต่างๆ รวมทั้งวงเงินรายรับและรายจ่ายตามแผนนั้น ถือว่าใช้ได้สำหรับระยะ 3 ปีแรก แต่สำหรับระยะ 3 ปีหลัง ถือเป็นการกะประมาณในขั้นต้น ซึ่งจำต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขใหม่ประมาณ พ.ศ. 2505 ทั้งนี้ เพราะปัญหาเกี่ยวกับสถิติและข้อมูลต่างๆ ทำให้ไม่อาจคาดคะเนเหตุการณ์ในระยะยาวกว่า 3 ปีได้
3. โครงการดำเนินงานส่วนใหญ่ในระยะ 3 ปีแรก เป็นกิจการพัฒนาการเศรษฐกิจซึ่งกระทรวงทบวงกรมได้ดำเนินงานอยู่แล้ว เพราะกิจการเหล่านี้มีข้อผูกพันอยู่แต่เดิม เช่น ใช้เงินกู้จากต่างประเทศ เป็นต้น หรือเพราะกิจการเหล่านี้มีสถานที่ อุปกรณ์ และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่แล้ว บางกรณีอาจเพียงแก้ไขปรับปรุงวิธีปฏิบัติงาน ก็อาจเกิดผลดี ทั้งนี้ประกอบกับในปีแรกๆ ของแผนการเงินมีจำกัด จึงไม่อาจริเริ่มกิจการใหม่ๆ ได้กว้างขวาง ในระยะ 3 ปีหลังของแผน อาจมีทางริเริ่มโครงการใหม่ๆ ได้มากขึ้น หากได้มีการพิจารณาและสำรวจโครงการนั้นๆ โดยรอบคอบเสียก่อนในระหว่าง พ.ศ. 2504-2506
4. แผนพัฒนาการเศรษฐกิจฉบับนี้ อาจทำการแก้ไขปรับปรุงได้ตามความเหมาะสมและตามการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ด้านต่างๆ จึงจำต้องมีการสำรวจและประเมินผลของการดำเนินงาน กับการติดตามการเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ด้านต่างๆ เพื่อปรับปรุงแก้ไขแผนเป็นการประจำ
5. แผนพัฒนาการเศรษฐกิจได้คลุมแขนงต่างๆ ของพัฒนาการเศรษฐกิจไว้ทุกด้าน รวมทั้งการสาธารณสุข เฉพาะการศึกษานั้น การกำหนดนโยบายและโครงการดำเนินงานเป็นอำนาจและหน้าที่ของสภาการศึกษาแห่งชาติ จึงเพียงแต่ประมาณวงเงินสำหรับการศึกษาไว้เท่านั้น
6. โครงการดำเนินงานพัฒนาการเศรษฐกิจ หรือโครงการพัฒนาการเศรษฐกิจในแขนงต่างๆ นั้น เจ้าหน้าที่ของกรมและกระทรวงที่เกี่ยวข้องเป็นผู้เขียน วิธีการเช่นนี้มีความประสงค์ที่จะให้โครงการต่างๆ ได้รับการพิจารณาจัดทำจากผู้ที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดกับเหตุการณ์และผู้ชำนาญงานใน
กิจการด้านต่างๆ โดยตรง อันจะช่วยให้โครงการมีลักษณะใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงและอยู่ในสภาพที่จะนำไปปฏิบัติได้ นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ย่อมทราบข้อผูกพันต่างๆ และทราบกำลังงานของตนได้ดี
ดาวน์โหลดเอกสาร : แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1
ที่มา: http://www.nesdb.go.th/Default.aspx?tabid=83
วันที่โพสต์: 9/10/2556 เวลา 09:00:45