สร้างธีออส 2 หนุนจัดการภัยพิบัติและน้ำท่วม
จากข้อจำกัดของดาวเทียมสำรวจโลกดวงแรกของประเทศ ไทย หรือ ธีออส 1 (Thailand Earth Observation Satellite THEOS) ทั้งเรื่องการปกคลุมของเมฆจากการใช้ระบบดาวเทียมเชิงแสง ความถี่การถ่ายวนซ้ำจากวงโคจรของดาวเทียม และกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ไม่เพียงพอ มีปัญหาในการเผยแพร่ข้อมูล มีการพัฒนาประยุกต์ใช้งานดาวเทียมที่ไม่เพียงพอ ทำให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) มี การพัฒนาโครงการระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียม ระยะที่ 2 ของประเทศไทย (Thailand Earth Observation System Phase 2, THEOS-2) เพื่อปรับปรุงระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมของประเทศให้ทันต่อเทคโนโลยี เน้นการบูรณาการข้อมูลและภูมิสารสนเทศจากแหล่งอื่นนอกเหนือจากดาวเทียม
ถ้าจำกันได้เมื่อปี 2551 ดาวเทียมธีออสถูกส่งเข้าสู่วงโคจร โดยดาวเทียมดวงนี้ได้รับพระราชทานชื่อในภายหลังว่าดาวเทียมไทยโชต และเป็นดาวเทียมถ่ายภาพเชิงแสงรายละเอียดสูง ถือเป็นกำลังสำคัญดวงหนึ่งของระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมของประเทศในปัจจุบัน ร่วมกับดาวเทียมของต่างประเทศอีกกว่า 20 ดวง ที่ไทยรับสัญญาณได้เอง หรือมีสัญญากับเจ้าของดาวเทียมในการเข้าถึงข้อมูลภาพจากดาวเทียมเหล่านั้น
แต่เทคโนโลยีมีการพัฒนารวดเร็วและหลากหลาย การจะสร้างธีออส 2 คัดเลือกเทคโนโลยีและรูปแบบการดำเนินการที่เหมาะสมกับไทยต้องพิจารณาอย่าง รอบคอบก่อนจะเริ่มกระบวนการจัดหา วท. ในฐานะเจ้าของโครงการระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมระยะที่ 2 ของประเทศ จึงได้จัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้และจัดทำแผน ธุรกิจของระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมระยะที่ 2 เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ชวนให้ประเทศที่มีศักยภาพทางเทคโนโลยีสูงให้เสนอกรอบแนวคิดของระบบเพื่อ ประกอบการพิจารณาและประเมินความเป็นไปได้ มีการจัดสัมมนารับฟังข้อเสนอแนะ
อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หน่วยงานภายใต้ วท. ซึ่งได้จัดตั้งอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศขึ้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เป็นฐานเชื่อมโยงระบบภาคพื้นดินของดาวเทียมเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อ วิจัยพัฒนานวัตกรรมอวกาศ กล่าวว่า ดาวเทียมธีออส 1 นี้ใช้งานด้านเฝ้าระวังและติดตามภัยพิบัติ เช่น ติดตามสถานการณ์น้ำในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ติดตามคราบน้ำมันจากเหตุน้ำมันรั่วที่ จ.ระยอง เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่เทคโนโลยีอวกาศก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงเร็ว จึงต้องปรับปรุงระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียม โดยระยะที่ 2 เน้นประยุกต์ใช้เพื่อจัดการน้ำและภัยพิบัติ การเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การวางแผนพัฒนาและจัดการพื้นที่เมือง และ
ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นระบบ ส่วนความมั่นคงและการทหาร รวมปัญหายาเสพติด การเคลื่อนย้ายทรัพยากรที่ผิดกฎหมาย แล้วยังขยายเพิ่มด้านสุขภาพอนามัย หมายถึงติดตามสถานการณ์หมอกควันล่วงหน้าสามารถแจ้งเตือนได้ ธีออส 2 เน้นระบบที่ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ใช้งานได้ทันที
"ระบบธีออส 1 ทำงานร่วมกับดาวเทียม 25 ดวง คุ้มทุนในเชิงสังคมแล้ว มีการใช้ภาพถ่ายจากไทยโชต 20,000 กว่าภาพ เฉพาะปี 54 ใช้ถึง 10,000 ภาพ ช่วยลดการนำเข้าภาพถ่ายจากต่างประเทศ ถ้าใช้เต็ม 70,000 ภาพ ลดค่าใช้จ่ายของประเทศมหาศาล ระบบธีออส 2 เป็นการมองไปข้างหน้า 20 ปี อาจจะต้องทำงานร่วมกับดาวเทียมของต่างประเทศถึง 100 ดวง เพราะในอนาคตจะมีดาวเทียมถูกส่งเข้าวงโคจรอีกมาก" ผอ.สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศฯ ให้ภาพการบริหารจัดการในระยะยาว และเพิ่มขีดความสามารถของไทย อย่างไรก็ตาม ระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมของประเทศระยะที่ 2 นี้ อาจจะรวมถึงการจัดหาดาวเทียมเพิ่มเติมหรือไม่ก็ได้ ซึ่งอานนท์กล่าวทิ้งท้ายว่า การพัฒนาโครงการนี้ไม่ได้ให้น้ำหนักที่การจัดหาดาวเทียมเพิ่ม ไม่ใช่แค่เทคโนโลยี สำหรับตนมองที่การใช้งานและเข้าถึงข้อมูลจากดาวเทียม รวมทั้งเชื่อมโยงมีระบบบูรณาการข้อมูลเพื่อตอบสนองภารกิจสำคัญด้านภัยพิบัติ การจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่ต่างคนต่างใช้งานจากดาวเทียมกว่า 20 ดวงที่ไทยรับ หรือมีสัญญาซื้อกับเจ้าของดาวเทียม
ขอบคุณ http://www.ryt9.com/s/tpd/1773779
(ไทยโพสต์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 10 พ.ย.56 )