อุตรดิตถ์ประกาศพื้นที่พิบัติภัยแล้งครอบคลุมทั้งจังหวัด

อุตรดิตถ์ประกาศพื้นที่พิบัติภัยแล้งครอบคลุมทั้งจังหวัด

หนังสือพิมพ์บ้านเมือง -- จันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556 00:00:35 น.

อุตรดิตถ์/ นายสุรชัย ธัชกวิน หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด (ปภ.) อุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ปีนี้ยังคงขยายวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามที่ได้รับรายงานจากศูนย์เฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งระดับจังหวัด และระดับอำเภอ ภัยแล้งดังกล่าวส่งผลกระทบทั้งคน และสัตว์เลี้ยง โค กระบือ รวมไปถึงพื้นที่ทางการเกษตร ข้าวนาปรังนอกเขตชลประทาน คาดว่าจะได้รับผลกระทบกว่า 8 หมื่นไร่ ล่าสุดทางจังหวัดได้ประกาศให้ 9 อำเภอเป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้งครอบคลุมทั้งจังหวัด รวม 9 อำเภอ มีประชาชนได้รับผลกระทบขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคแล้ว 50 ตำบล 249 หมู่บ้าน และได้ประสานไปยัง อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนหน่วยงานทหารสังกัดจังหวัดทหารบกอุตรดิตถ์ "ค่ายพระยาพิชัยดาบหัก" และกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 20 "ค่ายพระศรีพนมมาศ" นำรถบรรทุกน้ำออกแจกจ่ายให้กับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างรุนแรง เบื้องต้นเน้นให้ความช่วยเหลือน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคก่อนเป็นอันดับแรก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับพื้นที่ประสบภัยแล้งแล้วทั้ง 9 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมือง 10 ตำบล 58 หมู่บ้าน 3,878 ครัวเรือน ประชากร 10,540 คน อ.ทองแสนขัน 4 ตำบล 17 หมู่บ้าน 4,875 ครัวเรือน ประชากร 15,003 คน อ.น้ำปาด 6 ตำบล 36 หมู่บ้าน 5,065 ครัวเรือน ประชากร 17,672 คน อ.ท่าปลา 5 ตำบล 28 หมู่บ้าน 1,819 ครัวเรือน ประชากร 5,181 คน อ.พิชัย 6 ตำบล 28 หมู่บ้าน 4,160 ครัวเรือน ประชากร 12,500 คน อ.บ้านโคก 4 ตำบล 23 หมู่บ้าน 2,445 ครัวเรือน ประชากร 4,750 คน อ.ตรอน 5 ตำบล 18 หมู่บ้าน 730 ครัวเรือน ประชากร 2,122 คน อ.ลับแล 7 ตำบล 35 หมู่บ้าน 3,953 ครัวเรือน ประชากร 14,487 คน อ.ฟากท่า 4 ตำบล 31 หมู่บ้าน 2,555 ครัวเรือน ประชากร 7,804 คน รวมทั้งจังหวัดประสบภัยแล้ง 9 อำเภอ 51 ตำบล 254 หมู่บ้าน 24,627 ครัวเรือน ประชากรเดือดร้อน 34,281 คน

นายธนรัตน์ ภูมิมะกสิกร ผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์ (อขส.) กล่าวว่า เขื่อนสิริกิติ์ ได้ระบายน้ำตามแผนจากมติที่ประชุมของคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ซึ่งเป็นการระบายตามนโยบายของรัฐบาลซึ่งต้องการกักเก็บน้ำในเขื่อน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้ง ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการ ฯ จึงปรับแผนการระบายน้ำตามความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์จริงในปัจจุบัน ส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตรของจังหวัดอุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 4,883.08 ล้าน ลบ.เมตร ระดับน้ำเหนือเขื่อนอยู่ที่ 141.27 เมตร รทก. น้ำที่สามารถใช้งานได้ 2,032.08 ล้าน ลบ.เมตร หรือร้อยละ 30.51 สามารถรับน้ำได้อีก 4,627.92 ล้านลูกบาศก์เมตร ร้อยละ 48.66 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวของปีที่ผ่านมาเขื่อนสิริกิติ์มีน้ำต้นทุนถึงร้อยละ 79.30 หรือ 7,541.09 ล้าน ลบ.เมตร

ที่มา: มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย
วันที่โพสต์: 11/02/2556 เวลา 03:05:58