ผ่าแผนรับมือ ภัยพิบัติ กทม.
“ภัยพิบัติ”...เกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ ยิ่งในเขตเมืองการบริหารจัดการและมาตรการที่เป็นขั้นเป็นตอนมีความสำคัญยิ่ง
คนไทยยังไม่เคยเจอภัยพิบัติรุนแรง โดยเฉพาะในเขตเมือง ถ้าต้องเผชิญเหตุจริงๆจะต้องรับมืออย่างไรบ้าง?...อุบัติภัยที่เกิด โดยทั่วไปแบ่งภัยพิบัติออกเป็นสองประเภท...เกิดจากธรรมชาติ กับไม่ใช่ธรรมชาติ
“เราอาจจะคุ้นเคยกับภัยธรรมชาติ แต่ไม่คุ้นเคยกับภัยที่คนทำ ปัญหาคือบ้านเรายังไม่ค่อยมีบทเรียนกับเหตุการณ์เหล่านี้ในเมือง จะเกิดภายนอกเสียส่วนใหญ่ทำให้ขาดประสบการณ์การเตรียมความพร้อม ที่สำคัญหน่วยงานยังไม่มีการประสานงานเท่าที่ควร ก็เป็นบทเรียนอย่างนี้ซ้ำรอยทุกปี...ทุกปี”
ในระดับประเทศก็มีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยดูภาพรวม รับผิดชอบโดยตรง มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชมาช่วยเสริมในเรื่ององค์ความรู้ด้านนี้ หลักการก็คือ “เตรียมความพร้อม...ซ้อม...ซ้อม แล้วก็ซ้อม” หมายความว่า ซ้อมทั้งองค์ความรู้ ซ้อมทั้งวิธีปฏิบัติ
แม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อที่มีองค์ความรู้ด้านนี้เยอะที่สุด ตอนเกิดเหตุการณ์ 11 กันยายน ตึกเวิลด์เทรดถล่ม ก็มีการถอดบทเรียนออกมาว่าที่เตรียมการทุกอย่างล้มเหลวหมด ในสถานการณ์จริงเป็นอีกแบบหนึ่ง...หลังจากนั้นก็ถูกพิสูจน์บทเรียนอีกครั้งเมื่อเจอพายุแคทรีน่า
พิสูจน์ให้เห็นเลยว่า แม้จะเตรียมความพร้อม ก็ยังไม่พร้อม องค์ความรู้ในเรื่องภัยพิบัติ...ประเทศไหนที่มีการหมั่นฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ ตลอดเวลา เวลาเผชิญเหตุการณ์วิกฤติต่างๆก็จะมีความพร้อม
ดร.พิจิตต รัตตกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช บอกอีกว่า เมืองไทยที่เราเจอมากก็คือน้ำท่วม ดินทรุด พายุรุนแรง ภัยแล้ง แต่ว่ากำลังจะมีหน้าใหม่เข้ามาก็คือ “แผ่นดินไหว”
ถ้าเกิดในเขตเมือง...ก็จะสร้างความเสียหายได้รุนแรงมาก กทม.มีประชากรอาศัยอยู่ถึง 8–10 ล้านคน...ความหนาแน่น 3,617 คนต่อตารางกิโลเมตร อัดแน่นเป็นปลากระป๋อง มีอะไรเกิดขึ้นนิดเดียวยุ่งแน่
ในเขตเมืองมีความพิเศษ จำเพาะมากๆ ในเรื่องการจัดการภัยพิบัติในเขตเมือง กทม.ก็มีสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รถดับเพลิง ซึ่งต้องยอมรับว่าเก่งเรื่องดับเพลิง อัคคีภัย ตอนนี้ต้องรับผิดชอบหมดทั้งแผ่นดินไหว น้ำท่วม ความต้องการของ กทม.ที่ต้องมีความเชี่ยวชาญทั้ง 5 ภัยที่กล่าวไปแล้วข้างต้น จึงเป็นเรื่องใหญ่
มหาวิทยาลัยจะช่วยเติมเต็มความรู้ สนับสนุนองค์ความรู้ คู่มือปฏิบัติการที่ชัดเจน...แบบนาทีต่อนาที หน่วยไหนทำอะไรเมื่อไหร่ ด้วยบทบาทหน้าที่ชัดเจน ที่เรียกว่า “คู่มือ SOP”
การฝึกบุคลากรเป็นอีกเป้าหมายหลักของมหาวิทยาลัยอยู่ที่ปัญหา... จัดฝึกอบรมให้คนของ กทม.เก่ง แต่ในขณะเดียวกัน ไม่ใช่ข้าราชการอย่างเดียวที่เก่งต้องเอกชนด้วย พลเมืองประชาชนด้วย...สิ่งที่ดีที่สุดถ้าเป็นไปได้ “ประชาชนทุกคนมีการเตรียมพร้อม เวลาเกิดภัยพิบัติต่างๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์ทุกคนรู้ว่าจะต้องทำอะไร”
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เป็นอยู่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่ามีหน่วย “กู้ภัย” กับ “กู้ชีพ” ความร่วมมือระหว่างกู้ภัยกับกู้ชีพที่ต้องไปด้วยกัน เพราะบางทีที่เป็นอยู่กู้ชีพก็ไปยุ่งกับกู้ภัย...กู้ภัยก็ไปทำหน้าที่กู้ชีพ
นายแพทย์อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ รองอธิการบดี เสริมว่า ปัญหาของประเทศก็คือเวลาเกิดเหตุการณ์ในทางการแพทย์เราขาดคนจำแนกผู้ป่วย ทุกคนก็จะประดังส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด แท้จริงหลักการของการกู้ชีพ...หนักสุดไปใกล้สุด เบาสุดไปไกลสุด ถ้าทุกคนมีหลักการนี้อยู่ในใจก็จะไม่เกิดปัญหาที่เราประสบอยู่ทุกวัน
ความร่วมมือวันนี้ เราใกล้ชิดกับ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) อบรม ทำวิจัย การบริหารจัดการเรื่องภัยพิบัติควบคู่ไปกับหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยทำอยู่
“วชิรพยาบาล” เหมือนเป็นต้นกำเนิด หน่วยแพทย์กู้ชีวิตแห่งแรกในประเทศไทย ถอดรูปแบบมาจากประเทศฝรั่งเศสในสมัยนั้น พัฒนากระทั่งได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วประเทศไทย กลายเป็นว่าทุกหน่วยงาน โรงพยาบาล เทศบาล องค์กรส่วนท้องถิ่นก็จะมีหน่วยกู้ชีพ
ในอดีตมักจะเป็นการทำงานที่ต่างคนต่างทำไม่ประสานกัน แต่ปัจจุบันของเราก็มีความร่วมมือกับศูนย์เอราวัณ อยู่ภายใต้การกำกับของสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด สิ่งเหล่านี้ถ้าเป็นไปได้มีการรวมทรัพยากรจากทั้งหมดเข้ามาช่วยกันจะดีกว่าต่างคนต่างทำ
นโยบายสำคัญของมหาวิทยาลัย ผู้ว่าฯ กทม.อยากให้เกิดโรงพยาบาลที่สามารถรองรับภัยพิบัติได้เวลาเกิดเหตุการณ์คนไข้ 10 คน อาจจะไม่มีปัญหา แต่ถ้าผู้ป่วยบาดเจ็บเป็น 1,000 คน โกลาหลทั้งเมืองแน่
วันนี้ “โรงพยาบาลภัยพิบัติ” ในเมืองไทย...ในอาเซียนยังไม่มีโรงพยาบาลที่เรียกว่า โรงพยาบาลสำหรับรับมือภัยพิบัติเลย ดร.พิจิตต บอกว่า โรงพยาบาลอย่างนี้ต้องมีคุณสมบัติสำคัญยืดได้หดได้ หมายความว่า...ยืดจำนวนเตียงได้ หดจำนวนเตียงได้ ถ้าลำเลียงเข้ามาจากต่างจังหวัดหรือจาก กทม.ลำเลียงออกไปเข้าโรงพยาบาลนี้
สมมติมี 200 เตียง สามารถที่จะเพิ่มขยายได้ถึง 400 เตียงได้ทันทีโรงพยาบาลนั้นต้องมีพื้นที่และองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง สิ่งสำคัญต้องมีบุคลากรไหลรวมมาจากโรงพยาบาลอื่นๆ แห่งละ 3 คน 5 คน 7 คน...มุ่งไปสู่ที่นี่ โรงพยาบาลจัดการภัยพิบัติ ซึ่งในญี่ปุ่นมีโรงพยาบาลที่ว่านี้ เราจะต้องทำ เตรียมรับมือเอาไว้ พื้นที่น่าจะอยู่ใกล้สนามบิน ใกล้ท่าน้ำ ท่าเรือ ให้ขนส่งคนบาดเจ็บได้ง่าย
“โรงพยาบาลสิรินธร” อาจทำได้เพราะมีศักยภาพพร้อม มีทั้งศูนย์ฝึกอบรมและวิจัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พวงผกา กรีทอง ผู้ช่วยอธิการบดี เสริมว่า รูปแบบและวิธีการจัดการใครเก่ง ใครชำนาญเราอาจจะไม่รู้ จึงต้องทำวิจัยสำรวจ รวบรวมเป็นข้อมูลพื้นฐาน รูปแบบการจัดการต่างๆ นำมาเป็นองค์ความรู้ในการฝึกอบรม หลากหลายสหสาขาวิชา อาทิ ฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการทางน้ำ การจัดการภัยพิบัติด้านสารพิษ
เรืออากาศโทนาวิน สุรภักดี ผู้ช่วยอธิการบดี ย้ำว่า เรามีหลักสูตรพาราเมดิก ระดับปริญญาตรีในบุคลากรที่ไม่ใช่แพทย์ ถือเป็นหลักสูตรสูงสุดแล้ว...ในบทบาทมหาวิทยาลัยงานวิชาการก็เผยแพร่ความรู้ควบคู่ไปด้วย พร้อมกันนั้นหลักสูตรหลากหลายก็มีให้เลือกอย่างเหมาะสมสำหรับแต่ละสถาบัน...แต่ละชุมชน
“หน่วยแพทย์กู้ชีวิตเป็นโมเดลที่ดีถ้ามีทักษะด้านกู้ภัยอยู่ด้วย สมมติเวลาเกิดเหตุการณ์รถชนประสานงา คนติดในรถ ไม่ต้องรอหน่วยงานเข้ามาตัดถ่าง แต่เข้าไปตัดถ่าง ให้น้ำเกลือ ช่วยเหลือเบ็ดเสร็จได้ทันทีไม่ต้องรอ...กู้ภัยด้วย กู้ชีพด้วย ไม่เสียเวลามาก เป็นการผสมผสานการทำงานได้อย่างลงตัว...”
กู้ชีพกู้ภัยไปด้วยกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างไป หรือบางทีก็ไปขัดแย้งกัน...ยิ่งในสถานการณ์ที่มีอุบัติภัยขนาดใหญ่ ต้องการการผสมผสานระหว่างศาสตร์การ “กู้ชีพ” กับ “กู้ภัย”...กู้ชีพก็คือศาสตร์ด้านการแพทย์ฉุกเฉิน
สิ่งสำคัญก็คือจะบูรณาการอย่างไรให้ลงตัว เกิดการผสมผสานที่เหมาะสม ทั้งองค์ความรู้ คนที่เกี่ยวข้อง และแหล่งงบประมาณ “อุบัติภัย”...เป็นสิ่งที่เกิดแล้วอาจมีผลกระทบกว้างมาก เราไม่รู้ว่าสำรองงบแค่ไหนถึงจะพอ หากมีแผนบูรณาการ...ทุกคนจะรวมกันเข้ามา เป็นภาพความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพ
ที่สำคัญก็คือให้ทุกคนมีความตระหนักในเรื่องภัยพิบัติ ตั้งแต่หน่วยย่อยถึงระดับบุคคล ต้องช่วยเหลือตัวเองให้ปลอดภัยอย่างไร ในหมู่บ้านเดียวกัน ชุมชนเดียวกัน ไปจนถึงระดับอำเภอ จังหวัด ประเทศ
ผลพวงสุดท้ายมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชในฐานะมหาวิทยาลัยแห่งเมือง ก็คือ “การจัดการดีขึ้น ไม่ตื่นตระหนก บุคลากรมีความรู้ ชำนาญ ความพยายามในความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดีขึ้นเรื่อยๆ...ความเสียหายใหญ่ไม่มีใครรู้ว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ การเตรียมตัวที่ดีจะทำให้ความเสียหายลดลง”