บินฝนหลวงเติมน้ำในเขื่อน-ขุดบ่อบาดาลทำนา
ภัยแล้งลุกลามรุนแรงไม่หยุด ที่ จ.เชียงใหม่ ชาวบ้านเดือดร้อนไปทั่ว เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อ.แม่แตง ปริมาณน้ำก้นอ่างเหลือเพียง 66.844 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 25.22% เขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ.ดอยสะเก็ด เหลือน้ำเพียง 31.118 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 11.83% เข้าขั้นวิกฤติ ทางจังหวัดได้ประกาศ ภัยแล้งใน อ.ดอยเต่า จำนวน 1 ตำบล มี ต.ดอยเต่า 10 หมู่บ้าน และ อ.สันกำแพง 4 ตำบล มี ต.บวกค้าง 5 หมู่บ้าน ต.ทรายมูล 3 หมู่บ้าน และ ต.แช่ช้าง 1 หมู่บ้าน มีความเสียหายของพืชไร่ประมาณ 1,800 ไร่
นายประจวบ กันธิยะ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับทางจังหวัด กำลังบริหารจัดการน้ำ เพื่อหวังที่จะให้ผ่านพ้นช่วงฤดูแล้งให้ได้ เนื่องจากน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่โดยเฉพาะเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลมีปริมาณน้ำกักเก็บเหลือน้อยกว่าทุกครั้ง ขณะที่เขื่อนแม่กวงอุดมธาราไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับทำการเกษตร ซึ่งเขื่อนแม่งัด ทางสำนักงานชลประทานเชียงใหม่ ยืนยันว่าสามารถบริหารจัดการได้ไปจนถึงเดือน พ.ค. และจะปล่อยน้ำลงมาสัปดาห์ละครั้ง อย่างไรก็ตาม พบว่า มีเกษตรกร อ.หางดง และสันป่าตองจำนวนมากแอบสูบน้ำเข้าไร่นาของตนเอง ทำให้ผู้ที่อยู่ท้ายน้ำประสบความเดือดร้อน จึงประสานกับฝ่ายปกครอง ทหาร รวมทั้งผู้นำท้องถิ่นให้จัดเวรยามเฝ้าไว้ อย่างไร ก็ตาม ขอเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองให้ไปซื้อถังเก็บน้ำขนาดใหญ่มาบรรจุน้ำสำรองไว้ กรณีที่น้ำประปาไม่ไหล หรือไหลอ่อน
ด้านนายไพรินทร์ ลิ่มเจริญ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาภัยแล้งของจังหวัดเชียงใหม่ ขณะนี้ได้ขยายวงกว้างออกไปทุกพื้นที่ ซึ่งนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ ได้ให้นโยบายในการทำงานเชิงรุก และแก้ไขปัญหาทันทีหลังมีสถานการณ์เกิดขึ้น ทำให้ขณะนี้การประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติภัยแล้งของจังหวัดเชียงใหม่มีเพียง 2 อำเภอ 4 ตำบล 19 หมู่บ้าน พืชผลทางเกษตรที่ได้รับผลกระทบจำนวน 1,800 ไร่
จ.นครสวรรค์ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง ได้เปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว เพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยเน้นการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ในพื้นที่ภาคกลาง ตั้งแต่วันที่ 20-24 ม.ค. นายรัฐกร วรุณสุขะศิริ รก.ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง ระบุว่า ได้นำเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องบินกาซ่า 2 ลำ และสารฝนหลวงจำนวน 2 ตัน ขึ้นไปบินทำฝนหลวงในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อให้มีฝนตกในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่เขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ สำหรับภารกิจ 5 วัน จะขึ้นบินให้ครอบคลุมพื้นที่ภาคกลาง 14 จังหวัด เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้ได้มากที่สุด
ที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ชาวนาริมแม่น้ำยมได้ขุดเจาะบ่อบาดาลไว้สูบขึ้นมาหล่อเลี้ยงนาข้าว นายวิรัตน์ พุทโกษา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.ชุมแสงสงคราม เปิดเผยว่า ได้จ้างช่างมาขุดเจาะบ่อบาดาลจำนวน 5,000 บาท เพื่อดึงน้ำไปหล่อเลี้ยงพื้นที่นา ถึงแม้ว่ากรมชลประทานจะประกาศให้ชาวนาหยุดการทำนา แต่ชาวนาที่บางระกำก็ยังคงทำนาต่อเนื่อง เพราะมีอาชีพหลักคือทำนามาแต่อดีต ถ้าไม่ทำก็ไม่รู้ไปทำอะไร ปีนี้ถือว่าแล้งกว่าทุกปีที่ผ่านมา น้ำในแม่น้ำยมแห้งขอด บ่อบาดาลที่เคยขุดไว้ริมคันนาน้ำหมดไปแล้ว ไม่สามารถดึงขึ้นมาใช้ได้ ต้องใช้วิธีขุดเจาะกลางแม่น้ำยมเหมือนชาวนารายอื่นๆ ที่คาดว่าไม่ต่ำกว่า 100 ราย ขณะที่ จ.พิษณุโลก ยังคงประกาศให้ อ.วัดโบสถ์ อ.บางกระทุ่ม และ อ.วังทอง เป็นพื้นที่ประสบภัย ส่วน อ.บางระกำเป็นพื้นที่เสี่ยงที่ต้องจับตา
จ.อุตรดิตถ์ นายสมคิด ผาณุการณ์ ปภ.จังหวัดอุตรดิตถ์ และ น.ส.ชาครียา เศรษฐเสรี หน.กลุ่มงานยุทธศาสตร์ฯ สนง.ปภ.จ.อุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า ได้เสนอเรื่องไปยัง ผอ.ศูนย์ป้องกันภัยแล้งจังหวัดอุตรดิตถ์ ประกาศพื้นที่ อ.เมือง 2 ตำบล 15 หมู่บ้าน เป็นเขตพื้นที่ประสบภัยแล้ง และเร่งนำเครื่องสูบน้ำระยะไกลเข้ามาสูบน้ำจากแหล่งน้ำมายังที่ทำการประปาหมู่บ้านเพื่อให้ราษฎรได้มีน้ำดื่มน้ำใช้
ขณะที่ จ.กำแพงเพชร นายบุญธรรม ทองพิจิตร นายอำเภอคลองลาน นายศรัทธา กุนทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติคลองลาน ร.อ.รัสมี ลาสกุล ฝอ.2 กรมทหารพรานที่ 35 และนายธนะสิน ยิ้มน้อย เจ้าหน้าที่โครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง WWF ประเทศไทย และคณะได้ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจ วางแผนการแก้ไขภาวะภัยแล้งในลำคลอง ซึ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตรของชาวนาชาวไร่ และแนวทางแก้ไขปัญหาตามข้อเท็จจริงพร้อมขึ้นเฮลิคอปเตอร์นำผู้เกี่ยวข้องบินสำรวจแหล่งน้ำรับมือวิกฤติแล้งและภาวะภัยแล้งในพื้นที่ 4 ตำบลคือ ต.คลองลานพัฒนา ต.คลองน้ำไหล ต.โป่งน้ำร้อน ต.สักงาม ของ อ.คลองลาน
นายศรัทธาเปิดเผยว่า จากการบินสำรวจพบว่า สายน้ำทั้งใหญ่และเล็กเหลือน้ำประมาณ 20% การแก้ไขปัญหาจะต้องก่อสร้างฝายผสมผสานแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน ชาวบ้านในชุมชนนั้นๆจะเป็นผู้ร่วมมือร่วมใจรับผิดชอบตรวจสอบแหล่งต้นน้ำของชุมชน ฝายนี้จะเป็นตัวกั้นลำห้วย คูคลองเพื่อเป็นตัวทดน้ำ ทั้งนี้ ต้องทำประมาณ 400 ตัว ใน 4 แห่ง แห่งละ 100 ตัว และต้องเร่งทำฝายเพื่อกันน้ำไว้.