จับตา!! กรมชลฯ ประกาศภัยพิบัติ "ภัยแล้ง" แล้ว 12 จว.!!! ซ้ำพบพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำอีก 11 สาขา วอนประชาชนใช้น้ำอย่างรู้ค่า พร้อมเร่งแผนสำรองเสร
วันนี้ (29 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายณรงค์ ลีลานนท์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวภายหลังประชุมคณะอนุกรรมการติดตามวิเคราะห์สถานการณ์น้ำที่กรมชลประทาน ซึ่งประกอบด้วย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และสำนักสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร เผยว่า น้ำในเขื่อนหลัก 4 แห่งในขณะนี้ยังใช้การได้ราว 2,980 ล้านลูกบาศก์เมตร ระบายวันละ 17.8 ล้านลูกบาศก์เมตร โดย เขื่อนภูมิพล ระบาย 5 ล้านลูกบาศก์เมตร, เขื่อนสิริกิติ์ ระบาย 10 ล้านลูกบาศก์เมตร, เขื่อนแควน้อยฯ ระบาย 1 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักฯระบาย 1.7 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งยืนยันว่าไม่มีการนำไปใช้นอกแผน หรือดักสูบกลางทาง จะคงอัตรการระบายนี้ไปจนถึงเดือน พ.ค. และสิ้นสุดฤดูแล้ง ด้าน กฟผ.ที่ดูแลเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ระบุว่า มีระดับน้ำ อยู่ร้อยละ 16 ของเขื่อน ยังสามารถผลิตไฟฟ้าได้
สำหรับการระบายน้ำ จะคงปริมาณนี้ไว้สำหรับการทำประปา ส่งให้กับ 360 สถานีสูบน้ำตลอดลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด ตลอดจนถึงปากคลองสำแล จ.ปทุมธานี แหล่งน้ำดิบผลิตน้ำประปาให้คนกรุงเทพฯ ไม่ขาดแคลน และผลักดันน้ำเค็ม รักษาระบบนิเวศ โดยวัดระดับที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราการไหล 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และท้ายเขื่อน 75 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ได้ทำหนังสือขอความร่วมมือผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ให้ประสานท้องถิ่น ไม่ให้สูบน้ำเข้าพื้นที่นาปรัง ซึ่งขณะนี้ทุกพื้นที่ให้ความร่วมมืออย่างดี
อย่างไรก็ตาม ทางกรมชลประทานได้เตรียมปริมาณน้ำสำรองไว้อีก 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร เผื่อไว้ในกรณีฝนมาล่าช้า ช่วงเดือนมิ.ย. และก.ค. เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าปริมาณฝนเฉลี่ยปีนี้อยู่ในเกฑณ์น้อยเท่ากับปี 2558 ในช่วงต้นฤดูฝนเดือน พ.ค.จะมีฝนตกเท่ากับปีที่แล้ว โดยมีน้ำไหลเข้าเขื่อน 4 แห่งตอนต้นฤดูประมาณ 150 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าเป็นผลดีกับภาคเกษตร สามารถเริ่มฤดูปลูกข้าวนาปีได้ แต่ขอให้เกษตรกรติตตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดก่อนลงมือปลูกข้าว เพราะคาดว่า สภาพฝนจะเหมือนกับปี 2558 มาช้าถึง 2 เดือนก่อนเข้าฤดูฝนเต็มตัว นับว่าเป็นปีปริมาณฝนน้อย 3 ปีต่อเนื่องจากปี 2557 ขอวิงวอนทุกคนช่วยกันประหยัดน้ำอย่างจริงจัง ซึ่งประเมินว่าช่วงเดือนมี.ค. และ เม.ย.จะแล้งจัด การระเหยของน้ำมีมาก
โดยล่าสุด มีการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ 12 จังหวัด 47 อำเภอ 217 หมู่บ้าน ให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติด้านเกษตรแล้ว 10 จังหวัด ขณะที่ 2 จังหวัด เป็นภัยพิบัติขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค คือ จ.นครสวรรค์ และอุตรดิตถ์ ซึ่งทางการประปาส่วนภูมิภาค ได้ทำการลดแรงดันน้ำและปล่อยน้ำสลับเวลา
ทั้งนี้ พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำประปา 11 สาขา เป็นพื้นที่ภาคเหนือ 5 จังหวัด ภาคอีสาน 4 จังหวัด ภาคกลาง 4 จังหวัด และภาคตะวันออก 3 จังหวัด นอกจากนี้ยังมีพื้นที่เฝ้าระวังขาดแคลนน้ำประปา 51 สาขา โดยทุกจังหวัดทั่วประเทศ มีผู้ว่าฯเป็นประธาน บูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงาน ลงพื้นที่แก้ไขอย่างรวดเร็วทำให้ยังไม่วิกฤติ มีการใช้รถบรรทุกน้ำ ขุดบ่อบาดาล ขุดลอกคลองเชื่อมแหล่งน้ำใกล้เคียง โดยกรมชลฯ มีรถบรรทุกน้ำ 271 คัน เครื่องสูบน้ำ 1,500 เครื่อง เพื่อนำลงไปช่วยประชาชนในพื้นที่ประสบภัย