ไม่เลวร้ายอย่างที่คิด !? รมว.เกษตรฯชี้ "น้ำสำรอง" 22 จว.ลุ่มเจ้าพระยาพอใช้ถึง ส.ค. วอนอย่าสร้างความแตกตื่น !!!
วันนี้ (18 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในระหว่างการเชิญบรรณาธิการสื่อมวลชน 23 แห่ง เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อขอความร่วมมือในการสร้างความเข้าใจกับประชาชนทุกภาคส่วนและเกษตรกร ในการแก้ไขวิฤกติภัยแล้งในขณะนี้ว่า วิฤกติภัยแล้งครั้งนี้กระทบต่อประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งทางนายกรัฐมนตรีเองก็เป็นห่วงประชาชนมาก พร้อมสั่งการให้หาทางลดผลกระทบในช่วงฤดูแล้งที่คาดว่าจะยาวไปถึงเดือด ก.ค.
ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งให้ข้าราชการระดับ 9 ระดับรองอธิบดีขึ้นไปทุกกรม ลงพื้นที่ภาคกลางจำนวน 4 จังหวัด ช่วงวันที่ 20 - 21 ก.พ. เพื่อดูปัญหาสถานการณ์ภัยแล้ง รวมถึงขับเคลื่อนมาตรการของรัฐบาลอย่างเต็มที่ใน 8 มาตรการ ภายใต้วงเงิน 1.8 พันล้านบาท ก่อนเข้า ครม. วันที่ 23 ก.พ. อีก 2.9 พันล้านบาท
ทั้งนี้ เป็นโครงการที่ถูกเสนอมาจากชุมชนทั้งหมด เพื่อช่วยเหลือด้านรายได้ ค่าครองชีพให้เกษตรกรและประชาชนกระทบภัยแล้งทั่วประเทศภายในเดือนก.พ.นี้ ซึ่งหากมีอุปสรรคอย่างไร จะมีการนำมาเสนอเพื่อออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม
โดยนับจากนี้ ให้จับตาดูปรากฎการณ์แอลนีโญ ซึ่งทางกรมอุตุนิยมวิทยาของประเทศญี่ปุ่นมีการคาดการณ์ว่า สถานการณ์ฝนน้อยจะคลี่คลายลงในช่วงเดือนพ.ค.หรือ มิ.ย.นี้ ขณะที่ทางกรมอุตุนิยมวิทยาของสหรัฐอเมริกาคาดว่าจะมีฝนเข้าประเทศไทยอย่างช้าที่สุดจะเป็นช่วงปลายเดือน ก.ค.
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ฉัตรชัย ได้สั่งการให้กรมชลประทานเร่งศึกษาแนวทางผันน้ำจากแม่น้ำนานาชาติมากักเก็บไว้บ้านเราเพื่อความมั่นคงด้านน้ำ ซึ่งคาดหมายว่าภายในระยะเวลา 10 ปี จะเดินตามแผนบริหารจัดการน้ำ 10 ปีได้ และจะไม่เกิดปัญหาภัยแล้งหรือน้ำท่วมอีก โดยเฉพาะบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีน้ำเพาะปลูกอุดมสมบูรณ์ จากการผันน้ำจากแม่น้ำยวม ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาแม่น้ำสาละวินมาเติมเขื่อนภูมิพลให้ถึงระดับหมื่นล้านลูกบาศ์กเมตร
ในส่วนของการสร้างการรับรู้ของประชาชน ขอให้สื่อมวลชนนำข้อเท็จจริงไปเสนอ เพื่อไม่สร้างความแตกตื่นกับวิกฤตภัยแล้ง โดยทาง รมว.กระทรวงเกษตรฯยืนยันว่าปริมาณน้ำเขื่อนหลักที่ใช้การได้ อยู่ในระดับ 3,196 ล้านลูกบาศ์กเมตร เพียงพอถึงกลางเดือนส.ค ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน แต่ก็ขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดน้ำ ซึ่งในปีนี้มีเกษตรกรับรู้ร่วมมือไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ซึ่งเห็นได้จากพื้นที่นาปรังลดไปครึ่งหนึ่งจากปกติทั่วประเทศมีการปลูกอยู่ 10 ล้านไร่ต่อปี เหลือเพียง 5 ล้านไร่