สร้างฝายชะลอน้ำเพิ่ม-ชาวสวนระทมจำใจปลิดผลทิ้งรักษาต้น
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ถึงแม้ว่าพื้นที่หมู่ 1, 2, 8 ต.จันทเขลม และหมู่ 5, 6 ต.คลองพลู อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี จะอยู่ใกล้คลองตาหลิ่วพื้นที่ต้นแม่น้ำ จ.จันทบุรี ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนผลไม้ แต่ปีนี้ภัยแล้งรุนแรงส่งผลให้ชาวสวนได้รับผลกระทบอย่างหนัก ผลผลิตที่รอการเก็บเกี่ยวเริ่มขาดแคลนน้ำ ต้นไม้มีใบร่วงสลัดลูก ชาวสวนได้ช่วยกันขุดบ่อนํ้าแต่ปริมาณน้ำยังไม่เพียงพอจึงต้องซื้อน้ำจากรถบรรทุกน้ำราคาเที่ยวละ 700 บาท นำไปหล่อเลี้ยงต้นทุเรียน มังคุด ที่กำลังออกลูก และรอเวลาเก็บเกี่ยวช่วงปลายเดือน เม.ย. สวนแต่ละแห่งต้องลงทุนซื้อน้ำวันละไม่ต่ำกว่า 5 เที่ยว สร้างภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนสวนผลไม้ที่มีทุนน้อย ชาวสวนจำเป็นต้องปล่อยให้ผลผลิตเสียหายและปลิดลูกทิ้งเพื่อรักษาต้น นางสบู่ แก้วเขียง ชาวสวน หมู่ 6 ต.คลองพลู อ.เขาคิชฌกูฏ พร้อมญาติๆได้ช่วยกันขุดสระน้ำเพิ่มในคลองตาหลิ่ว พร้อมต่อท่อน้ำเข้าสวน แต่น้ำที่ได้ยังไม่เพียงพอ หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นปีนี้ คาดว่าคงขาดทุน
นายอดุลย์ บรรจงกิจ กำนัน ต.คลองพลู เปิดเผยว่า ได้นำชาวบ้านกลุ่มผู้ใช้น้ำมาจัดเวรยามบริหารจัดการน้ำบริเวณฝายคลองตาหลิ่ว ที่ยังพอมีน้ำเพื่อให้เกษตรกรได้ใช้บำรุงผลผลิต แต่หากไม่มีน้ำมาเติมก่อนสิ้นเดือนนี้ คาดว่าสวนผลไม้ ต.คลองพลู และ ต.จันทเขลม คงขาดน้ำและส่งผลกระทบต่อเกษตรกรโดยตรง อย่างไรก็ตาม ผลผลิตที่เสียหายบางส่วนได้ขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้ทำลายทิ้ง และควบคุมไม่ให้ผลผลิตด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด เพื่อรักษาชื่อเสียงของ จ.จันทบุรี
ขณะเดียวกัน ปภ.ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติภัยแล้งใน จ.จันทบุรี รวมทั้งสิ้น 10 อำเภอ 59 ตำบล 490 หมู่บ้าน มีพื้นที่การเกษตรเสียหายจำนวน 539,311 ไร่ ประชาชนได้รับผลกระทบ 59,829 ครัวเรือน
จ.ตราด ตอนสายวันเดียวกันที่บริเวณลำคลอง 11 บ้านสลักเพชร หมู่ 5 ต.เกาะช้างใต้ อ.เกาะช้าง นายมานพ สังขหัต กำนัน ต.เกาะช้างใต้ พร้อมด้วยนายลำพูน คงบำณุ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.เกาะช้างใต้และผู้นำชุมชน ได้นำกลุ่มพลังมวลชน ประกอบด้วย จนท.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง กำลังทหาร นักศึกษาจากสถาบันราชภัฏจันทบุรี ชาวบ้านหมู่ 2 และหมู่ 5 ต.เกาะช้างใต้กว่า 100 คน ช่วยกันทำฝายชะลอน้ำเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง ภายในคลอง 11 ซึ่งอยู่ด้านบนเหนือฝายกั้นน้ำของกรมชลประทาน โดยช่วยกันนำก้อนหินมาวางเรียงซ้อนยึดซีเมนต์และกระสอบทรายเพื่อกั้นน้ำไม่ให้รั่วซึม เพื่อเก็บกักชะลอน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้ง พร้อมกับขุดลอกทำความสะอาด เก็บเศษใบไม้ กิ่งไม้ ในฝายกั้นน้ำที่อยู่ด้านล่าง หลังจากแหล่งน้ำประปาของหมู่บ้านแห้งขอดจนต้องปล่อยน้ำเป็นเวลา
นายสมคิด แดงตะนุ ส.อบต.หมู่ 5 ต.เกาะช้างใต้ เปิดเผยว่า คลอง 11 จุดที่สร้างฝายชะลอน้ำบ้านสลักเพชรเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของชาวบ้านในพื้นที่ มีสายน้ำจากภูเขาไหลมารวมกันหลายสาย ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ต่อน้ำผ่านท่อพีวีซีมาใช้ประโยชน์ในครัวเรือนและในธุรกิจโฮมสเตย์รวม 2 หมู่บ้าน คือหมู่ 2 และหมู่ 5 จำนวนกว่า 200 ครัวเรือน ปัจจุบันชาวบ้านเริ่มได้รับผลกระทบประสบปัญหาภัยแล้งแล้วหลายครัวเรือน บางครัวเรือนร้องขอความช่วยเหลือจาก อบต.เกาะช้างใต้ ให้นำรถบรรทุกน้ำไปใส่ภาชนะให้ ปีนี้ภัยแล้งเร็วกว่าปีที่ผ่านๆมา ประชาชนเดือดร้อนขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ตลอดจนน้ำสำหรับเพาะปลูก จึงร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำแห่งใหม่ที่อยู่เหนือจากฝายกั้นน้ำขึ้นไปด้านบน พร้อมกับขุดลอก ทำความสะอาดแหล่งกักเก็บน้ำ คาดว่าจะช่วยกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูแล้งที่ลากยาวอีกประมาณ 1 เดือนข้างหน้าและให้ชาวบ้านช่วยกันประหยัดน้ำ.
ขอบคุณ... http://www.thairath.co.th/content/604257