เตรียมดึงน้ำก้นเขื่อนต่อชีวตให้ถึง ก.ค.
จากสถานการณ์ภัยแล้งภาคอีสานที่แผ่ขยายวงกว้างและสร้างความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 มี.ค. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตร และสหกรณ์ เปิดเผยหลังลงพื้นที่สำรวจภัยแล้งที่ จ.ขอนแก่น ว่า ขณะนี้เขื่อนอุบลรัตน์เหลือมีปริมาณใช้การได้ 22 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 1.% และไม่มีน้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่มเติม ทำให้มีน้ำใช้ได้ถึงวันที่ 2 เม.ย. 59 เท่านั้น หลังจากนั้นต้องดึงน้ำสำรองก้นอ่าง จำนวนกว่า 400 ล้าน ลบ.ม. มาใช้ก่อน โดยยืนยันว่าสามารถใช้น้ำอุปโภคบริโภคจนถึง ก.ค. 59 แน่นอน อย่างไรก็ตาม สิ้นเดือน เม.ย.นี้จะมีการประชุม ติดตามสถานการณ์เพื่อปรับเปลี่ยนแผนอีกครั้ง โดยคาดว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะผ่านพ้นเดือน พ.ค.
พล.อ.ฉัตรชัยเปิดเผยอีกว่า จากการที่นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ จ.อุดรธานี พบว่ามีน้ำจำนวนมากไหลออกสู่นอกประเทศ เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำเมย เป็นต้น จึงสั่งกรมชลประทานศึกษาความเป็นไปได้ในการนำน้ำที่ไหลลงไปสู่แม่น้ำนานาชาติ เวียนกลับมาใช้ในประเทศ ซึ่งขณะนี้โครงการห้วยหลวงระยะแรกผ่านเอไอเอเรียบร้อยแล้ว และจะสามารถดำเนินการในปลายปีนี้ได้เป็นโครงการแรก โดยจะสามารถช่วยเหลือปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ จ.อุดรธานี และ จ.หนองคาย ส่วนโครงการที่ 2 คือ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนน้ำพอง อยู่ในระหว่างดำเนินการผ่านเอไอเอ
นอกจากนี้ มาตรการที่ 4 แผนตามความต้องการของชุมชนของจังหวัดขอนแก่นได้ดำเนินการไปแล้วรวม 68 โครงการ เป็นเงิน 22.28 ล้านบาท ส่วนโครงการที่เหลืออีก 187 โครงการ จะดำเนินการให้แล้วเสร็จสิ้นเดือน มี.ค. นี้
ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกล่าวว่า ปัจจุบันมีจังหวัดประกาศ เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 17 จังหวัด 67 อำเภอ 305 ตำบล 2,576 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 3.44 ของจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา นครพนม มหาสารคาม บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ทั้งนี้ รัฐบาลและ คสช. สั่งการ ให้ ปภ.ประสานจังหวัดและหน่วยงานทุกภาคส่วนเร่งแก้ไขปัญหาภัยแล้ง นอกจากนี้ ให้จังหวัดใช้กลไกประชารัฐ ในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ เฝ้าระวังบริเวณจุดเสี่ยงที่มักมีการลักลอบสูบน้ำและเกิดปัญหาแย่งน้ำ พร้อมจัดทำประชาคมกำหนดกติกาการใช้น้ำไว้ล่วงหน้า เพื่อจัดสรรการใช้น้ำอย่าง เท่าเทียมและเป็นธรรม
สำหรับสถานการณ์ภัยแล้ง จ.สุรินทร์ นายอรรถพร สิงหวิชัย ผวจ.สุรินทร์ เปิดเผยว่า ได้ประกาศให้ อ.จอมพระ ต.บุแกรง เป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง ชาวบ้าน เดือดร้อน 578 ครัวเรือน ขณะที่รอพิจารณาเพิ่มเติมอีก 4 อำเภอ ในภาพรวมประชาชนในเขตชลประทานจะมีน้ำเพียงพอตลอดช่วงแล้ง แต่นอกเขตชลประทานอาจวิกฤติ ซึ่งกำลังเร่งสำรวจเพื่อช่วยเหลือต่อไป ด้านนายกฤษณุ เหลืองพิบูลกิจ นายอำเภอรัตนบุรี จ.สุรินทร์ เปิดเผยว่า ในพื้นที่ยังไม่มีการประกาศภัยแล้ง ขณะที่การประปาส่วนภูมิภาคอำเภอรัตนบุรี ได้รับงบประมาณจัดวางระบบท่อน้ำดิบจากโรงสูบน้ำแม่น้ำมูล อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 16 กม. เพื่อสูบน้ำเข้าในอ่างเก็บน้ำหนองกา ต.รัตน– บุรี เพื่อเป็นแหล่งน้ำดิบแห่งที่ 2 ในการผลิตน้ำประปา แต่การดำเนินการเพิ่งจะเริ่มตามสัญญา โดยใช้เวลา ประมาณ 90 วันจึงจะแล้วเสร็จ.
ขอบคุณ... http://www.thairath.co.th/content/594312 (ขนาดไฟล์: 167)