ฝนตกน้อยยังแล้งต่อ-สถานศึกษาเฝ้าระวังพายุฤดูร้อนถล่ม

ฝนตกน้อยยังแล้งต่อ-สถานศึกษาเฝ้าระวังพายุฤดูร้อนถล่ม

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 10 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในพื้นที่ อ.เมือง จ.จันทบุรี ได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนักแต่ไม่ครอบคลุมทั้งหมด และสร้างความชุ่มชื้นแก่หน้าดินในสวนผลไม้ทำให้คลายความแล้งได้ในระดับหนึ่งแต่ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากตกไม่ถึง 30 นาที ทั้งนี้ สถานการณ์วิกฤติภัยแล้ง จ.จันทบุรี ยังไม่คลี่คลายถึงแม้ว่าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ระดมสรรพกำลังอย่างสุดความสามารถ แต่พืชสวนยังได้รับผลกระทบโดยเฉพาะสวนทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง บางสวนขาดน้ำบำรุงผลผลิตต้องปล่อยให้ต้นไม้ขาดน้ำแห้งเหี่ยวตาย จากการสำรวจในเบื้องต้น มีชาวสวนผลไม้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติภัยแล้งแล้วประมาณ 37,308 ครัวเรือน เนื้อที่ 335,832 ไร่ มีเกษตรกรได้รับความเสียหายไม้ผลยืนต้นตาย 249 ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ห่างไกลแหล่งน้ำอยู่ในเขต อ.เขาคิชฌกูฏ อ.แก่งหางแมว อ.นายายอาม อ.โป่งน้ำร้อน และ อ.สอยดาว ขณะที่ภาพรวมมีพื้นที่ประสบภัยพิบัติทั้ง 10 อำเภอ มากถึง 67 ตำบล 615 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 84.13

จ.อุดรธานี ตอนสายวันเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานจากบ้านเชียง หมู่ที่ 9 ต.บ้านเชียง อ.หนองหาน ว่ามีเจ้าหน้าที่หน่วยทหารช่าง มทบ.24 อุดรธานี พร้อมฝ่ายปกครอง อ.หนองหาน และผู้นำชุมชน ได้นำอุปกรณ์วัสดุก่อสร้างและเครื่องมือช่างมาที่บ้านของนางจิราพร สารีโท อายุ 29 ปี เลขที่ 52 หมู่ที่ 9 ต.บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ที่ถูกพายุฤดูร้อนพัดถล่มบ้านพังเสียหายทั้งหลัง เหตุเกิดช่วงเย็นวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้นางจิราพรพร้อมลูกสาว 2 คนและน้องอีก 2 คนไร้ที่อยู่ต้องไปอาศัยบ้านญาติชั่วคราว

นางจิราพรเปิดเผยว่า รู้สึกดีใจมากที่ทหารช่าง มทบ.24 อุดรธานี พร้อมฝ่ายปกครองและเทศบาลได้จัดสรรงบประมาณและวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างยกบ้านขึ้นใหม่ทดแทนบ้านหลังเดิมที่ถูกพายุพัดพังทั้งหลัง ตอนนี้ตนและลูกพร้อมด้วยน้องต่างได้รับความลำบาก ต้องอาศัยอยู่บ้านญาติ

ต่อมา พล.ต.อำนวย จุลโนนยาง ผบ.มทบ.24 พร้อมคณะได้ไปเยี่ยมหน่วยทหารช่างที่กำลังปฏิบัติหน้าที่สร้างบ้านให้นางจิราพรเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับชาวบ้านที่ประสบภัย พร้อมกับมอบถุงยังชีพและมอบนโยบายในการปฏิบัติหน้าที่ให้กับหน่วยทหารช่าง

จ.บุรีรัมย์ ดร.รัตติมา พานิชอนุรักษ์ ผอ.สนง.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 32 จ.บุรีรัมย์ เปิดเผยว่า จากเหตุพายุฤดูร้อนพัดกระหน่ำในหลายพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้ง จ.บุรีรัมย์ ทำให้บ้านเรือนประชาชน สถานที่ราชการ รวมทั้งโรงเรียนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก เพื่อเตรียมความพร้อมและป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบในช่วงเปิดภาคเรียน จึงสั่งการให้ทุกโรงเรียนในสังกัด เตรียมป้องกัน ตามประกาศแจ้งจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ปภ. และกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ได้คาดการณ์พายุฤดูร้อนที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้บริหารสถานศึกษาตรวจสอบความแข็งแรงของอาคาร รวมทั้งป้ายประชาสัมพันธ์ และระบบป้องกันความปลอดภัยทรัพย์สินทางราชการ โดยเฉพาะครู เจ้าหน้าที่ และนักเรียน ในขณะทำการเรียนการสอน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น

จ.หนองคาย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ชลประทานหนองคายได้ยุติการเดินเครื่องสูบน้ำโขงจากสถานีสูบน้ำชั่วคราว แห่งที่ 1 บ้านดอนคง ต.วัดหลวง อ.โพนพิสัย และแห่งที่ 2 ปากห้วยหลวง อ.โพนพิสัย แห่งละ 4 เครื่อง รวม 8 เครื่อง หลังจากสูบน้ำจากแม่น้ำโขงเพื่ออุปโภคบริโภคและการเกษตรตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค.

นายเสถียร แพงมา หัวหน้าฝ่ายก่อสร้าง 1 สนง.ก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 3 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยให้เกษตรกรมีน้ำใช้ในการเกษตรด้วยการสูบน้ำโขงเข้ามาเติมน้ำในลำห้วย หลวง วันละ 18 ชั่วโมง โดยได้ประเมินสถานการณ์น้ำทุกวัน ซึ่งชลประทานได้สูบน้ำ ระยะเวลา 57 วัน เดินเครื่องสูบน้ำ 38 วัน หยุดสูบน้ำ 19 วัน เนื่องจากบางพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม เกษตรกรปลูกข้าวนาปรังหากได้รับน้ำมากไปจะทำให้น้ำท่วมที่นา บางวันที่มีพายุฤดูร้อนก็ไม่เดินเครื่องสูบน้ำ เจ้าหน้าที่ได้พยุงระดับน้ำไว้ให้พอเหมาะกับสถานการณ์ เฉลี่ยได้น้ำทั้งสิ้น 18.97 ล้าน ลบ.ม. สำหรับช่วยเหลือพื้นที่ปลูกข้าวใน 4 ตำบลของอำเภอโพนพิสัย จ.หนองคาย, อ.สร้างคอม และ อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี พื้นที่นามากกว่า 13,000 ไร่ ปริมาณน้ำอยู่ในระดับพอเหมาะประกอบกับเข้าสู่ฤดูฝนจึงได้ยุติโครงการสูบน้ำโขงเติมลำห้วยหลวงดังกล่าว.

ขอบคุณ... http://www.thairath.co.th/content/618510 (ขนาดไฟล์: 167)

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 11 พ.ค.59
วันที่โพสต์: 11/05/2559 เวลา 09:16:22 ดูภาพสไลด์โชว์ ฝนตกน้อยยังแล้งต่อ-สถานศึกษาเฝ้าระวังพายุฤดูร้อนถล่ม