ฝนตกล้างพิษภัยแล้งไม่ออก ครัวเรือนเกษตรซึมลึกผลพวงหนี้ท่วมหัว

ฝนตกล้างพิษภัยแล้งไม่ออก ครัวเรือนเกษตรซึมลึกผลพวงหนี้ท่วมหัว

ภัยแล้งกระทบครัวเรือนเกษตรมากกว่าที่คาด แม้ฝนตกแล้วก็ยังใช้จ่ายน้อยลง แถมก่อหนี้มาใช้ประทังชีพ ขณะที่เอสเอ็มอีไทยสายป่านสั้นลง หลังเศรษฐกิจชะลอตัวกว่าที่คาด ยอมรับนโยบายการเงินได้ผลไม่เต็มที่ เศรษฐกิจโลกป่วน จับตาอังกฤษออกจากอียู ภาคธุรกิจจีนผิดนัดชำระหนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ฉบับย่อ ครั้งที่ 3/2559 โดยในการประชุมดังกล่าว กนง.ได้มีการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยใหม่ โดยพบว่า เศรษฐกิจโลกในไตรมาสแรกของปี 2559 ฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อนเล็กน้อย และเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่ฟื้นตัวต่ำกว่าประมาณการของ ธปท.ได้ จากปัญหาเศรษฐกิจและภาคการเงินของจีน ความไม่แน่นอนและความแตกต่างของทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก (monetary policy divergence) รวมทั้งความไม่แน่นอนของผลการลงประชามติเพื่อแยกตัวจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ที่อาจสร้างความผันผวนในตลาดการเงินโลกและกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป

ทั้งนี้ กนง.ได้สั่งให้ติดตามการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจจีน ที่อาจมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมทั้งมาตรการของจีนที่ใช้ดูแลปัญหาดังกล่าว เพราะสามารถส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการเงินของจีนและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคได้

สำหรับเศรษฐกิจไทยนั้น กนง.ประเมินว่ายังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่เบิกจ่ายได้ดีต่อเนื่อง และการท่องเที่ยวซึ่งขยายตัวได้มากกว่าที่คาด

อย่างไรก็ตาม ปริมาณการส่งออกสินค้า ยังคงหดตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อน การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบลดลงต่อเนื่อง และมีส่วนทำให้การขยายตัวของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา การบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณอ่อนแรงลง ส่วนหนึ่งเนื่องจากกำลังซื้อของครัวเรือนภาคเกษตรได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตร ช่วยบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งได้น้อยลง เมื่อเทียบกับในอดีต เนื่องจากความต้องการแรงงานในภาคการผลิต ปรับลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่า แม้ฝนจะกลับมาตกตามฤดูกาลในช่วงกลางปีเป็นต้นไป แต่อาจเห็นผลกระทบจากภัยแล้งต่อฐานะทางการเงินของครัวเรือนภาคเกษตรไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากรายได้ที่ขาดหายไปในช่วงภัยแล้งทำให้ครัวเรือนภาคเกษตรส่วนหนึ่งต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้น รวมทั้งผลิตภาพการเพาะปลูกของที่ดิน อาจลดลงในภาวะที่ฝนแล้งรุนแรง การบริโภคภาคเอกชนจึงยังคงมีปัจจัยถ่วงในระยะข้างหน้า ทำให้เศรษฐกิจไทยอาจจะขยายตัวต่ำกว่าประมาณการของ ธปท.ที่ 3.1% ได้ ทำให้ต้องติดตามแนวโน้มความต้องการและกำลังซื้อในประเทศอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินแรงขับเคลื่อนขอเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปในภาวะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังเปราะบาง

กนง.ระบุด้วยว่า ความสามารถในการชำระหนี้ ของครัวเรือนในภาคเกษตรและธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ของไทยมีแนวโน้มด้อยลง จากผลกระทบของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวล่าช้า สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ต่อสินเชื่อเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี และกลุ่มลูกค้าสินเชื่อบัตรเครดิต

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นในบางช่วงเวลา เมื่อเทียบกับคู่ค้าคู่แข่งบางสกุล ซึ่งอาจไม่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเท่าที่ควร ซึ่งส่วนนี้ ธปท.จะใช้เครื่องมือที่มีอยู่ ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้เป็นอุปสรรคกับการค้าการลงทุน

โดย กนง.เห็นว่า การรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ไว้ในยามจำเป็นที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย อาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากปัจจัยเสี่ยง อาทิ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจล่าช้ากว่าที่คาดแรงส่งจากการบริโภคที่อาจอ่อนแอต่อเนื่อง รวมทั้งความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนของภาครัฐและเอกชน

นอกจากนั้น กนง.ส่วนหนึ่ง ประเมินว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้ อาจมีผลบวกค่อนข้างจำกัดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยส่วนหนึ่ง เป็นผลมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ.

ขอบคุณ... http://www.thairath.co.th/content/625829 (ขนาดไฟล์: 167)

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 26 พ.ค. 59
วันที่โพสต์: 26/05/2559 เวลา 09:24:06 ดูภาพสไลด์โชว์ ฝนตกล้างพิษภัยแล้งไม่ออก ครัวเรือนเกษตรซึมลึกผลพวงหนี้ท่วมหัว