ทางออกภัยแล้งน้ำท่วม

ทางออกภัยแล้งน้ำท่วม

ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการใช้น้ำทุกภาคส่วน ประมาณปีละ 151,750 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยภาคการเกษตรมีความต้องการน้ำสูงสุดถึง 113,960 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 75 ของความต้องการน้ำทั้งหมด ที่เหลือเป็นการใช้น้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศร้อยละ 18 เพื่อการอุปโภค ร้อยละ 4 เพื่อการอุตสาหกรรม ร้อยละ 3

ตามเป้าหมายและวิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำดังกล่าว ข้อหนึ่งที่จะต้องทำให้ได้คือ น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ซึ่งหมายถึงน้ำเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรมต้องมั่นคงมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

แต่ละปีประเทศไทยมีปริมาณน้ำฝนประมาณ 700,000 ล้าน ลบ.ม. ระเหยไปประมาณ 400,000 ล้าน ลบ.ม. ซึมลงดินประมาณ 100,000 ล้าน ลบ.ม. ทำให้เหลือปริมาณน้ำผิวดินที่นำไปใช้ได้จริงหรือที่เรียกกันว่าน้ำท่าประมาณ 200,000 ล้าน ลบ.ม.

โดย สามารถเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีอยู่ในปัจจุบันกว่า 480 แห่ง ได้รวมกับประมาณ 79,000 ล้านลูกบาศก์เมตรซึ่งไม่ถึงครึ่งของปริมาณน้ำท่าที่เกิดขึ้น

พื้นที่การเกษตรในประเทศ ไทยมีทั้งหมด 149 ล้านไร่ เป็นเขตชลประทานประมาณ 30 ล้านไร่ ที่เหลืออีก 119 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมน้ำฝน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงหากฝนไม่ตกตามฤดูกาล ดังนั้น การที่จะสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำ ให้กับภาคการเกษตร จำเป็นจะต้องเพิ่มพื้นที่ชลประทาน

จากการสำรวจและศึกษาเบื้องต้นของกรมชลประทานพบว่า พื้นที่เกษตรน้ำฝนทั้ง 119 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นพื้นที่เกษตรกรรมในเขตชลประทานได้อีกประมาณ 18.8 ล้านไร่เท่านั้น หากต้องการเพิ่มพื้นที่ชลประทานมากกว่า จำเป็นจะต้องใช้เทคนิคอื่น ๆ ในการจัดหาน้ำ เช่น น้ำบาดาล การผันน้ำ เป็นต้น และ ตามยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากร น้ำได้กำหนดไว้ว่า จะต้องเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้ได้อย่างน้อย 8.7 ล้านไร่ ภายในปี 2569

ทั้งนี้การเพิ่มพื้นที่ชลประทาน นั้น จำเป็นจะต้องเพิ่มปริมาณการเก็บกับน้ำต้นทุน ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิการบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ สูงสุด

ที่ผ่านมากรมชลประทานได้ปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำอย่าง ต่อเนื่อง แต่ด้วยปริมาณน้ำต้นทุนที่มีจำกัด จึงจำเป็นจะต้องหาแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุน เพิ่มขึ้น

สำหรับการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนนั้น สามารถทำได้ด้วยการเพิ่มปริมาณการเก็บน้ำของแหล่งน้ำเดิมที่มีอยู่ และการพัฒนาแหล่งน้ำแห่งใหม่ ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร เพราะต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทำให้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ โดยเฉพาะการสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งใหม่ปัจจุบันทำได้ยากและใช้เวลานาน

ขณะที่ยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จะต้องเพิ่มพื้นที่ชลประทานอย่างน้อย 8.7 ล้านไร่ ภายในปี 2569 ซึ่งต้องมีน้ำต้นทุนประมาณ 9,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจำเป็นจะต้องสร้างอ่างฯ เก็บน้ำแห่งใหม่ ทั้งขนาดกลาง และขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น ในลุ่มน้ำที่มีศักยภาพ หรือแม้แต่ต้องดำเนินโครงการผันน้ำจากลุ่มน้ำอื่น ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น โครงการผันน้ำสาละวิน-ภูมิพล โครงการโขง เลย ชี มูล เป็นต้น ก็ควรจะเร่งดำเนินการ

ที่สำคัญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องทำงานไปในทิศทางเดียวกัน และรัฐบาลจะต้องมีนโยบายด้านการเกษตรและด้านทรัพยากรธรรมชาติที่ชัดเจน และลดขั้นตอนและกระบวนการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อที่จะสามารถพัฒนาอ่างเก็บน้ำให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด.

ขอบคุณ... http://www.dailynews.co.th/agriculture/399406 (ขนาดไฟล์: 167)

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 24 พ.ค.59
วันที่โพสต์: 25/05/2559 เวลา 09:54:55 ดูภาพสไลด์โชว์ ทางออกภัยแล้งน้ำท่วม