ตุ่มน้ำยมในพื้นที่ลุ่มต่ำ
น้ำต้นทุนหลักที่หล่อเลี้ยงผู้คนลุ่มเจ้าพระยามาจาก ปิง–วัง–น่าน...ส่วน “ยม” ช่วยเหลืออะไรไม่ได้ เพราะตัวเองมีปัญหาแล้งซ้ำซ้อนท่วมซ้ำซากทุกปี เนื่องจากมีโอ่งกักเก็บน้ำได้แค่ 8.97% จากน้ำท่าที่มีเฉลี่ยปีละ 5,260 ล้านคิว
ด้วยมวลชน เอ็นจีโอต่อต้านการสร้างโอ่งใบใหญ่ “แก่งเสือเต้น” เพื่อเลี่ยงปัญหาดังกล่าว กรมชลประทานจึงต้องหาแนวทางใหม่ในการเก็บกักและแจกจ่ายน้ำ...สร้างตุ่มใบเล็กหลายใบขึ้นมาแทน ด้วย โครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมแก้มลิงพื้นที่ลุ่มต่ำเหนือจังหวัดนครสวรรค์ นำพื้นที่ลุ่มต่ำในพื้นที่ 172 ตำบล 24 อำเภอ 4 จังหวัด (นครสวรรค์-พิจิตร-พิษณุโลก-สุโขทัย) มาเป็นที่เก็บกักน้ำแบบแก้มลิง
“พื้นที่ลุ่มต่ำนี้ หมายถึง ทุ่งนา ที่ลุ่ม ที่มีน้ำท่วมขังเป็นประจำในช่วงฤดูน้ำหลาก วิธีดำเนินการจะอยู่ภายใต้เงื่อนไข ไม่มีการเวนคืนที่ดิน ไม่มีการขุดที่นา ประชาชนต้องยอมรับ ชาวบ้านไม่ต้องการ เราจะไม่ทำ”
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน อธิบายการพัฒนาพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิง จะเป็นการฟื้นฟูห้วย หนอง คลอง บึง ที่มีอยู่ให้กว้างลึกและใหญ่ขึ้น พร้อมยกระดับถนนหลักในหมู่บ้านให้สูงขึ้นหรือก่อสร้างใหม่ และมีการสร้างคันป้องกันน้ำท่วมให้ชุมชน พร้อมจัดทำระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สมบูรณ์ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่แก้มลิงได้ใช้ชีวิตปกติ สัญจรไปมาได้ในตอนน้ำท่วม
สิ่งที่เกษตรกรในแก้มลิงจะได้รับประโยชน์ ทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง คือ นาปรัง (หลังท่วม) และนาปี (ก่อนท่วม) หรือพืชอื่นๆ ส่วนในช่วงที่ปล่อยให้น้ำท่วมพื้นที่ เกษตรกรยังสามารถประกอบอาชีพประมงเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง และเมื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่ น้ำท่วมได้พัดพาความ อุดมสมบูรณ์มาขังไว้ให้ด้วย ช่วยลดการใช้ปุ๋ย ตัดวงจรชีวิตของแมลงศัตรูพืช...ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกรไปพร้อมกัน
แต่โครงการนี้ เกษตรกรในแก้มลิงจะต้องปรับเปลี่ยนฤดูกาลทำนาใหม่ ให้สอดรับฤดูเก็บน้ำ นาปีต้องทำให้เร็วขึ้น ส่วนปัญหาเรื่องน้ำจะไม่มีทำนาก่อนฤดู กรมชลประทานจะใช้วิธีผันจากลุ่มน้ำน่าน ที่มีโอ่งใบใหญ่ เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มาช่วยเหลือในยามแก้มลิงมีน้ำไม่เพียงพอ โดยใช้เครื่องมือชลประทานที่มีอยู่จัดหาน้ำมาให้ชาวนาพื้นที่อื่นๆ อย่าเพิ่งอิจฉา...ชาวนาที่นี่ยอมเสียสละน้ำท่วมนา เพื่อคนส่วนใหญ่.
สะ–เล–เต
ขอบคุณ... http://www.thairath.co.th/content/620963 (ขนาดไฟล์: 167)