หาทางออกน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยม
รัฐบาลจึงมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดย กรมชลประทาน ศึกษานำแนวทางตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำยม เพื่อนำมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหา
ลุ่มน้ำเจ้าพระยาครอบคลุมพื้นที่ 22 จังหวัด มีลุ่มน้ำสาขา 4 ลุ่มน้ำ แต่ลุ่มน้ำที่ประสบปัญหาเรื่องน้ำรุนแรงมากที่สุดคือลุ่มน้ำยมเนื่องจากเป็นลุ่มน้ำเดียวที่ไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมการบริหารจัดการน้ำ แตกต่างจากลุ่มน้ำสาขาอื่น ๆ
ลุ่มน้ำปิง มีเขื่อนภูมิพลสามารถกักเก็บน้ำได้จำนวนถึง 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) แม่น้ำวัง มีเขื่อน 2 แห่ง คือ เขื่อนกิ่วคอหมาและเขื่อนกิ่วลม มีความจุรวมกัน 276 ล้าน ลบ.ม. และลุ่มน้ำน่าน มี 2 เขื่อนคือ เขื่อนสิริกิติ์ มีความจุ 9,510 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีความจุ 939 ล้าน ลบ.ม.
ล่าสุด ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการศึกษานี้จะทำให้ทราบว่าพื้นที่ลุ่มต่ำที่จะใช้เป็นแก้มลิงเก็บกักน้ำชั่วคราวที่เหมาะสมและประชาชนยอมรับอยู่บริเวณไหนบ้าง และพื้นที่พัฒนาฟื้นฟูห้วย หนอง คลอง บึง ที่มีอยู่ให้กว้างลึกและใหญ่ขึ้น พร้อมยกเส้นทางสัญจรให้สูงขึ้น พร้อมคันป้องกันน้ำท่วมชุมชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่แก้มลิง ตลอดถึงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สมบูรณ์ให้กับผู้ที่จะได้รับผลกระทบ
แต่ทั้งนี้เกษตรกรจะต้องปรับช่วงการปลูกพืชใหม่ เพื่อให้ไม่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมหรือการขาดแคลนน้ำ รวมทั้งการผันน้ำจากลุ่มน้ำน่าน เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มาช่วยช่วงปริมาณน้ำในแก้มลิงไม่เพียงพอ โดยใช้เครื่องมือ และหลักการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะสามารถทำการเกษตรทำการเพาะปลูกได้ปีละ 2 ครั้ง คือทั้งนาปรังและนาปี หรือการปลูกพืชอื่น ๆ ในช่วงที่ปล่อยให้น้ำท่วมที่นาก็จะเป็นแหล่งประมง เมื่อระบายน้ำออกความอุดมบูรณ์ที่นำพัดเข้ามาช่วงน้ำท่วมจะคงอยู่ทำให้ลดการใช้ปุ๋ย และตัดวงจรชีวิตของแมลงศัตรูพืช ช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง
โดยจะต้องปรับเปลี่ยนฤดูกาลปลูกข้าวให้เร็วขึ้นคือ นาปีจะเริ่มปลูกวันที่ 1 เมษายนของปี หากน้ำไม่พอ กรมชลประทานจะผันน้ำจากลุ่มน้ำน่านมาช่วยประมาณเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม ก็จะสามารถเก็บเกี่ยวได้ ก่อนที่น้ำจะหลากประมาณเดือนสิงหาคม–ตุลาคม ช่วงนั้นก็ใช้พื้นที่นาเป็นแก้มลิง โดยมีการสร้างเครื่องมือชลประทานในการควบคุมปริมาณน้ำ และเกษตรกรก็ปรับเปลี่ยนอาชีพมาทำการประมง หารายได้ให้กับครอบ ครัวต่อไป
และเมื่อสิ้นสุดฤดูน้ำหลาก ประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ก็จะเริ่มทยอยปล่อยน้ำออกจากที่ลุ่มต่ำ เกษตรกรก็สามารถทำนาปรังได้ โดยใช้น้ำที่เก็บกักไว้ในแก้มลิง ห้วย หนอง คลอง บึง โดยพื้นที่ไหนมีปัญหาขาดแคลนน้ำกรมชลประทานก็จะเข้าไปช่วยเหลือทันที
และที่ผ่านมาปัญหาน้ำท่วมปัญหาน้ำแล้ง ในลุ่มน้ำสาขา ปิง วัง และน่าน จึงไม่รุนแรงเหมือนกับลุ่มน้ำยม ซึ่งมีพื้นที่มากกว่า 15 ล้านไร่ ครอบคลุม 11 จังหวัดคือ พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก อุตรดิตถ์ พิจิตร และนครสวรรค์ มีน้ำฝนเฉลี่ยรายปีประมาณ 1,204 มิลลิเมตร มีน้ำท่าเฉลี่ย รายปีประมาณ 5,261 ล้าน ลบ.ม. โดยจะมีมากในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ซึ่งค่อนข้างมาก จึงเกิดน้ำท่วมในฤดูฝน และขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่
และจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมาและวิกฤติภัยแล้งในปี 2558-2559 ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำยมเป็นอย่างมาก รัฐบาลจึงมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดย กรมชลประทาน ศึกษานำแนวทางตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำยม เพื่อนำมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหา โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำเหนือจังหวัดนครสวรรค์ ล่าสุดกรมชลประทานได้ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษา ศึกษาความเหมาะสมและผล กระทบสิ่งแวดล้อมแก้มลิงพื้นที่ลุ่มต่ำเหนือจังหวัดนครสวรรค์ ขึ้น
ขอบคุณ... http://www.dailynews.co.th/agriculture/502090 (ขนาดไฟล์: 167)