บาริสต้าใจสู้ ไม่ยอมลงให้กับความพิการ
ร้านกาแฟในย่านอรุณอัมรินทร์ กรุงเทพฯ ให้บริการอาหารและกาแฟที่จัดเตรียมโดยคนพิการหูหนวก พวกเขาใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือช่วยสื่อสารกับลูกค้า กับทุ่มใจเต็มร้อยไม่ปล่อยให้ความพิการเป็นอุปสรรคในการทำงานเลี้ยงชีพ
อารีลักษณ์ โยลัย เล่าให้ฟังว่า ก่อนมาเป็นบาริสต้าหรือคนชงกาแฟที่ร้านยิ้มสู้คาเฟ่ เธอก็ไม่ต่างจากคนต่างจังหวัดทั่วไปที่เมื่อเรียนจบแล้ว ก็มุ่งหน้าสู่เมืองหลวงเพื่อหางานทำ อารีลักษณ์ได้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตในบริษัทแห่งหนึ่ง แต่ความพิการทางการได้ยินของเธอเป็นอุปสรรคต่อการทำงานในบริษัทแห่งนั้น
"หลังจากเรียนจบ เพื่อนชวนมาทำงานที่กรุงเทพฯ โดนปฏิเสธการรับเข้าทำงานอยู่หลายที่ สุดท้ายมาได้งานที่บริษัทแห่งหนึ่ง ได้เข้าทำงานที่ฝ่ายผลิต ตอนนั้นปัญหาหลักในการทำงานคือเรื่องการสื่อสาร ต้องใช้เวลาในการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานนานมากกว่าจะเข้าใจกัน เลยเป็นเหตุให้ต้องหางานใหม่"
อารีลักษณ์ยังเวียนเข้าออกทำงานในบริษัทอื่นอีกหลายแห่ง จนกระทั่งได้รับการชักชวนจากเพื่อนให้ลองมาสมัครเป็นบาริสต้า ที่ยิ้มสู้คาเฟ่ ร้านกาแฟที่รับคนพิการเข้าทำงาน "ไม่เคยมีความคิดที่จะมาเป็นบาริสต้าเลยค่ะ ตั้งแต่เรียนจบก็มุ่งแต่จะทำงานบริษัท วันแรกที่เริ่มชงกาแฟ รู้สึกเลยว่ากาแฟไม่ใช่เรื่องง่าย ตัวเองก็เป็นคนไม่ดื่มกาแฟด้วย กว่าจะชงได้ดีก็ใช้เวลาอยู่นานเลยทีเดียว ต้องใช้ความจำเยอะในการจดจำขั้นตอนต่าง ๆ"
ยิ้มสู้คาเฟ่ ก่อตั้งขึ้นโดย ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ แห่งมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ เพื่อส่งเสริมอาชีพให้ผู้พิการที่มีศักยภาพในการทำงานได้แต่ไม่มีงานทำ ซึ่งปัจจุบันไทยมีคนพิการอยู่ราว 7 แสนคน เป็นคนพิการที่มีงานทำราว 1 แสนคน แต่ยังมีคนพิการที่มีความสามารถแต่ไม่มีงานทำอีกกว่า 4 แสนคน
ศ.วิริยะ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ตาบอดเมื่อเข้าวัยรุ่นจากอุบัติเหตุ ริเริ่มทำร้านกาแฟที่บริการโดยผู้พิการทางการได้ยินซึ่งเหมาะกับวิถีชีวิตของคนในเมือง ขณะที่แนวคิดสร้างงานสำหรับผู้พิการในต่างจังหวัดจะเน้นส่งเสริมอาชีพด้านเกษตรกรรม และหัตถกรรม
อารีลักษณ์บอกกับบีบีซีไทยว่า เธอทำงานที่ยิ้มสู้คาเฟ่อย่างมีความสุข เพราะนอกจากจะได้ทำงานกับเพื่อน ๆ ผู้พิการทางการได้ยินด้วยกันแล้ว ยังได้เรียนรู้ระบบสั่งกาแฟที่อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าซึ่งสามารถสัมผัสที่จอแสดงผลเพื่อสั่งอาหาร และเครื่องดื่ม ได้ด้วยตัวเอง และนี่ทำให้เธอกับลูกค้าสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น และตั้งแต่มาทำงานที่นี่ก็ทำให้เธอคิดอยากจะสานฝันของตัวเอง "ตอนนี้มีความฝันที่อยากจะเปิดร้านเล็ก ๆ ของตัวเอง โดยจะเริ่มทำด้วยตัวเองก่อน หากขายได้ดีก็จะรับผู้พิการทางการได้ยินคนอื่น ๆ มาทำงานด้วย"
ขอบคุณ... http://www.bbc.com/thai/thailand-40991899 (ขนาดไฟล์: 0 )