ภพต์ เทภาสิต ผู้พิการนักสู้ผู้ไม่ยอมแพ้ "เป่าแก้ว" สร้างสินค้าขายคนทั่วโลก
“ไม่มีใครอยากเป็นคนพิการหรอกครับ...แต่เมื่อโชคชะตาทำให้ต้องกลายเป็นแบบนี้ ก็ต้องเข้มแข็ง ไม่ท้อถอยและสู้เพื่อมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ต่อไป” นายภพต์ เทภาสิต วัย 48 ปี เกริ่นนำชีวิตตัวเองพร้อมเล่าถึงสาเหตุความพิการว่า เมื่อประมาณปี 2536 ช่วงนั้นกำลังอายุเข้าสู่ช่วงวัยเบญจเพสและทำงานอยู่ที่บริษัทอุตสาหกรรมสีทาเครื่องบินอยู่ที่ย่านจังหวัดสมุทรปราการ จำได้ว่าวันนั้นเลิกงานแล้วกำลังจะไปงานเลี้ยงวันเกิดเพื่อนร่วมงาน ได้ถูกรถยนต์คันหนึ่งชนรถจักรยานยนต์ที่ขับไป มีผู้นำส่งโรงพยาบาล อาการอยู่ในขั้นสาหัส แพทย์ปั๊มหัวใจถึง11ครั้งและโชคดีรอดชีวิตมาได้
จากอุบัติเหตุครั้งนั้นส่งผลให้กระดูกสันหลังหัก กล้ามเนื้อช่วงล่างไม่มีความรู้สึกใดๆ ตอนนั้นหน้าที่การงานกำลังรุ่งเรือง ทำงานมีเงินเดือนและรายได้ พิเศษต่างๆ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นบาท เรียกว่าเป็นจำนวนมากอยู่ในสมัยนั้น แต่แล้วอนาคตก็ต้องหมดสิ้นลง ต้องออกจากงาน แถมยังกลายเป็นผู้พิการเดินไม่ได้เมื่อกลายเป็นผู้พิการ แม้ในช่วงแรกนายภพต์จะทำใจไม่ได้จนเคยคิดฆ่าตัวตาย แต่ด้วยหัวใจที่แข็งแกร่งเข้มแข็ง ไม่ยอมแพ้ต่อชะตากรรมชีวิต และพยายามหาอะไรทำเพื่อเป็นรายได้เลี้ยงตัวเอง จึงไปสมัครอบรมฝึกอาชีพคนพิการ แล้วเรียนปั้นแป้ง ทำเป็นดอกกุหลาบขาย แม้จะลงทุนน้อยมีตัวเลขว่ากำไรมาก แต่ก็ขายไม่ได้ หรือบางครั้งก็ขายได้ก็แค่ชิ้นละ10-20บาทซึ่งไม่สามารถสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองได้พอ
หลังมีการรวมตัวคนพิการเป็นกลุ่มเป็นก้อนกันขึ้นมาในชื่อ “สหกรณ์คนพิการ” และลองทำโน่นทำนี่ขายอยู่หลายอย่าง อาทิ ของเหลือใช้จากเกล็ดปลา ยาหม่อง ยาดม เทียนแฟนซี ทำไข่เค็ม กล้วยทอด ทำหลอด LCD ใส่ในเทียนเจลและกระเป๋าต่างๆ ภพต์หันมาเรียนเป่าแก้ว โดยเป่าตามไอเดียที่คิดขึ้นเองเป็นรูปต่างๆ ปรากฏว่ามาถูกทาง งานเป่าแก้วได้รับความสนใจและขายได้ จึงรวมตัวคนเป่าแก้วเข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์ ผลิตงานเป่าแก้วขาย
ต่อมา กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ กรุ๊ป มาเห็นผลงาน จึงเข้ามาให้การช่วยเหลือสนับสนุนสั่งชิ้นงานเป่าแก้วไปขายในดิวตี้ฟรี สำหรับขายลูกค้าต่างชาติ ทำให้ผู้พิการที่ยึดอาชีพเป่าแก้วมีรายได้มากพอที่จะเลี้ยงตัวเองและครอบครัว อีกทั้ง สินค้าเป่าแก้วที่คิงเพาเวอร์นำไปขายก็กลายเป็นสินค้าขายดี มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกซื้อเป็นของฝากมากมาย เพราะถือเป็นงานแฮนด์เมดที่มาจากความสามารถจริงๆเมื่อถามถึงคนเป่าแก้วในประเทศไทยมีจำนวนเท่าใด ภพต์บอกว่า ไม่น่าจะเกิน 200 คน สำหรับในกลุ่มของตนที่ผลิตงานเป่าแก้วส่งคิงเพาเวอร์ จะจัดทำตามออร์เดอร์เพื่อไม่ให้เกิดการเหลือจำหน่าย ได้นำความรู้ความสามารถมาผลิตงานนี้เพื่อให้มีต่อไปอย่างยั่งยืนและงานเป่าแก้วเป็นงานอิสระทำได้มากได้น้อยขึ้นอยู่กับความขยันของตัวเอง
นอกจากนี้งานผลิตงานเป่าแก้วส่งคิงเพาเวอร์ ยังช่วยต่อยอดงานของคนพิการในกลุ่ม โดยให้ผลิตกล่องผ้าไหม กล่องกระจกหรือตู้กระจกสำหรับใส่ชิ้นงานเป่าแก้ว โดยงานเป่าแก้วที่ขายดีที่สุดคือ การเป่าแก้วรูปช้างที่เป็นสัญลักษณ์ของไทย และงานเป่าแก้วสองชิ้นแรกที่ทำให้คิงเพาเวอร์ ได้เป่าเป็นรูปช้างแม่ลูกกับรูปม้าพยศ
สำหรับงานเป่าแก้วของนายภพต์และกลุ่มคนในสมาชิกกลุ่มเป่าแก้ว มีวางจำหน่ายที่คิงเพาเวอร์ตามสาขาต่างๆ ดังนี้ สาขาศรีวารี ลาดกระบัง คิงเพาเวอร์ ซอยรางน้ำ คิงเพาเวอร์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและคิงเพาเวอร์ดิวตี้ฟรีที่พัทยา และเป็นที่น่ายินดีว่ายอดงานเป่าแก้วที่ผ่านมาคิงเพาเวอร์สั่งไปแล้วประมาณ 8 พันชิ้น สร้างรายได้ ให้แก่สหกรณ์คนพิการเป็นเงินกว่า 4 ล้านบาท “ต้องขอบคุณคิงเพาเวอร์เป็นอย่างมากที่ช่วยเหลือและสนับสนุนให้คนพิการให้มีงานมีเงินได้อย่างภาคภูมิใจ” นายภพต์ กล่าว
ด้าน น.ส.อารยา เปล่งขำ ผู้อำนวยการส่วนงาน จัดซื้อสินค้ากลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ กล่าวถึงงานเป่าแก้วว่า เป็นสินค้าที่ขายดีเป็นที่นิยมมากของชาวต่างชาติมักซื้อติดมือเป็นของฝาก เพราะเป็นงานฝีมือ มีความสวยงาม ความประณีตและสื่อถึงความเป็นไทย สินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าที่มีคุณค่าเพราะทำจากความตั้งใจของผู้ผลิตจริงๆคิงเพาเวอร์จึงสนับสนุน
นอกจากงานเป่าแก้วแล้ว ผลิตภัณฑ์งานของกลุ่มคนพิการในความดูแลของนายภพต์แล้ว ยังมีการทำเทียนเจล ทำหัวใจจิ๋ว กับงานบุดุนโลหะ ที่เป็นงานฝีมือมากๆ ปัจจุบันมีผู้พิการผลิตงานแนวนี้อยู่ 3 คน ซึ่งภพต์บอกว่าอยากให้คนช่วยสนับสนุนเพราะเป็นงานที่ดีมีคุณค่ามาก
นายภพต์ กล่าวว่า อยากเห็นสังคมไทยช่วยเหลือดูแลผู้พิการให้มากกว่านี้ ไม่ต้องการให้เอาเปรียบกัน ผู้พิการบางคนมีความสามารถมี พรสวรรค์แต่ขาดคนสนับสนุนช่วยเหลือ พร้อมกันนี้ นายภพต์ยังให้กำลังใจผู้พิการด้วยว่าอย่าหมดหวัง อย่าท้อแท้ ขอให้ใจสู้และเห็นความสำคัญของชีวิตตนเองให้มากที่สุดเพื่อที่จะยืนหยัดอยู่บนโลกนี้ให้ได้
“ผมยึดถือคติประจำใจ อยู่ดี อยู่ได้ อยู่รอด อยู่ทน และที่อยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้เป็นเวลากว่า 20 ปี ทั้งที่ต้องกลายเป็น คนพิการ เพราะมีจิตใจสู้และมีความไม่ยอมแพ้ต่อชะตาชีวิต ทำให้มีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขในวันนี้ จึงอยากให้กำลังใจผู้พิการคนอื่นๆว่า อย่าท้อแท้ ขอให้สู้ ทุกคนจะฝ่าฟันชีวิตไปได้” นายภพต์ กล่าวทิ้งท้าย ปัจจุบันนายภพต์ อาศัยอยู่ที่ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เป็นประธานสหกรณ์บริการผลิตภัณฑ์คน พิการไทย จำกัด ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารและผลิต ใครต้องการคำแนะนำหรือสนับสนุนผลิตภัณฑ์ สอบถาม ได้ที่ โทร.08–6908–8258.