‘การป้องกันการติดสารเสพติด และสิบ “สร้าง” ปราการของครอบครัวให้พ้นภัยสารเสพติด’ ตอน 2 – ชีวิตและสุขภาพ

‘การป้องกันการติดสารเสพติด และสิบ “สร้าง” ปราการของครอบครัวให้พ้นภัยสารเสพติด’ ตอน 2 – ชีวิตและสุขภาพ

การติดสารเสพติดถือเป็นโรคร้ายแรงอย่างหนึ่ง มีปัจจัยหรือสาเหตุของการเกิดโรคอย่างแน่นอนเป็นโรคร้ายแรง รักษาให้หายขาดได้ยาก มักจะติดซ้ำแล้วซ้ำอีก ส่งผลกระทบกระเทือนต่อร่างกาย ต่อชีวิตและครอบครัว ส่งผลต่อสังคมสิ่งแวดล้อมมากมาย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้วิธีป้องกัน เพื่อมิให้ป่วยเป็นโรคติดยาเสพติด ส่วนด้านสาเหตุของการติดยาเสพติดมี 3 ประการหลัก และข้อแนะนำในการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ 3 ประการได้กล่าวไว้แล้วในตอนที่ 1

สร้างที่สี่ คือ “สร้างกฎระเบียบในบ้าน” ให้มีกฎเกณฑ์และกติกาการอยู่ร่วมกัน โดยทำความตกลงกันก่อน วางกฎการไม่ใช้ยาเสพติด รวมทั้งบุหรี่หรือเหล้า วางข้อยกเว้นให้ชัดเจนไม่คลุมเครือ วางข้อลงโทษที่นำไปปฏิบัติได้ ไม่ออกกฎและลงโทษตามอารมณ์หรือเกินกว่าเหตุ เช่น ตัดขาดจากความเป็นแม่ลูกกัน ไม่ใจอ่อนเมื่อถึงเวลาที่ต้องลงโทษ มีกฎระเบียบเกี่ยวกับยาเสพติดในบ้านให้ชัดเจน จึงจะดี สร้างที่ห้า คือ “สร้างหน้าที่และความรับผิดชอบ” โดยแบ่งงานบ้านให้ทำ เพื่อฝึกให้รู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบ ฝึกให้รู้จักทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยเริ่มจากทำกิจกรรมครอบครัวร่วมกัน ฝึกให้รู้จักช่วยเหลือสังคมและผู้ด้อยโอกาสกว่า เป็นการลดความเห็นแก่ตัวซึ่งจะเพิ่มศักดิ์ศรีของตนเองและยังส่งผลให้ “ดูแลตัวเอง” ในภายหลัง หัดให้ลูกทำงานบ้านและเสียสละเป็นบ้างสร้างที่หก คือ “สร้างทักษะในการจัดการกับอารมณ์ที่ไม่สุนทรีย์” ความเครียดและอารมณ์ที่ไม่สุนทรีย์ได้แก่ อารมณ์โกรธ อารมณ์เศร้า เบื่อหน่าย มักเป็นแม่เหล็กยักษ์ผลักลูกให้เข้าหายาเสพติด จึงจำเป็นต้องฝึกลูกให้รู้จักจัดการกับความเครียดและอารมณ์ที่ไม่สุนทรีย์ ฝึกให้รู้ว่าเมื่อไรเครียดหรือมีอารมณ์ไม่ดี รู้ถึงผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม รู้จักหาสาเหตุและฝึกวิธีคลายเครียดและระบายอารมณ์ให้เป็น พ่อแม่ควรถามทุกข์สุขของลูกอยู่เสมอ ช่วยให้ลูกรู้จักอ่านความเครียดและอ่านอารมณ์ของผู้อื่น ฝึกให้รู้จัก “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” หมั่นฝึกซ้อมกับลูกเพื่อให้เกิดทักษะในการผ่อนคลายความเครียดและระบายอารมณ์ ให้เหมาะสม ฝึกลูกให้เก่งในการจัดการกับความเครียดและอารมณ์ที่ไม่สุนทรีย์ดีแน่ๆ สร้างที่เจ็ด คือ “สร้างความคุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมของลูก”

ครอบครัวปัจจุบันต่างคนต่างอยู่ ถือเพื่อนเป็นเรื่องใหญ่ ลูกยังด้อยประสบการณ์ในชีวิต โอกาสคบเพื่อนผิดมีมาก พ่อแม่จึงต้องรู้จักกับเพื่อนและสังคมนอกบ้านของลูก ฝึกให้แยกเพื่อนดีออกจากเพื่อนชั่ว พร้อมช่วยลูกยามที่คบเพื่อนผิด ควรรู้จักกับพ่อแม่ของเพื่อนลูกด้วย จะได้เป็นแนวร่วมปรึกษาและอาจทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อลูกร่วมกัน รู้จักแหล่งสถานที่เสี่ยงต่อการเสพสารเสพติดและสิ่งมึนเมา เพื่อชี้แนะให้ลูกหลบหลีก รู้จักสังคมออนไลน์บนโลกอินเทอร์เน็ตคอมพิวเตอร์เช่นการที่ลูกใช้เวลาอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ ทั้งวันคุยกับเพื่อนจนพฤติกรรมอารมณ์เปลี่ยนไปไม่เหมาะสม นั้นจึงจะเรียกว่า “รู้จักสังคมของลูกดีจริง” สร้างที่แปด คือ “สร้างความรู้เรื่องยาเสพติดให้แก่ลูก”มีการวิจัยพบว่า เด็กที่ได้รับความรู้เรื่องยาเสพติดจากพ่อแม่โดยตรงกว่า 40% จะไม่ลองยา และเด็กส่วนใหญ่อยากจะได้รับความรู้ด้านนี้จากพ่อแม่มากกว่าเพื่อนฝูง พ่อแม่จึงควรหมั่นศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด หาโอกาสที่เหมาะสมเพื่อพูดคุยกับลูก ให้ข้อเท็จจริงเจาะลึกผลดี-ผลเสีย และให้ลูกแสดงความคิดเห็นและสิ่งที่เขาเรียนรู้มาจากเพื่อนให้ความรู้เรื่อง ยาเสพติดแก่ลูกดีแน่แท้ สร้างที่เก้า คือ “สร้างทักษะในการแก้ปัญหาและการตัดสินใจ” ฝึกลูกให้ “คิดเป็น” คือรู้จักแยกแยะปัญหา รู้จักหาทางแก้ปัญหาที่อาจจะเป็นไปได้ รู้จักไตร่ตรองถึงข้อดีและข้อเสีย โดยชั่งน้ำหนักผลกระทบและรู้จักทำการตัดสินใจโดยมีสติปัญญากำกับ ให้ฝึกทักษะด้านนี้จากชีวิตจริงของลูก โดยพ่อแม่สนับสนุนให้นำปัญหามาถกเถียงหาสาเหตุและทางแก้ไข เมื่อพลาดผิดไป ช่วยลูกให้รู้จักหาสาเหตุและยึดไว้เป็นบทเรียน ฝึกลูกให้คิดเป็น แก้ปัญหาเป็น ตัดสินใจเป็น และ สร้างที่สิบ คือ “สร้างทักษะการปฏิเสธยาเสพติด” ต้องฝึกให้เด็กเรียนรู้ว่าการปฏิเสธเป็น คือสิ่งที่น่ายกย่องและเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของผู้ใหญ่ที่กล้าหาญ เด็กทั่วไปเมื่อเผชิญกับสิ่งยั่วยุ และแรงกดดันให้ใช้ยา มักวางตัวไม่ถูก ตกเป็นเหยื่อชักจูงให้ลองยาได้ง่าย พ่อแม่จำเป็นต้องฝึกซ้อมกับลูกอยู่เสมอ โดยสมมุติเหตุการณ์ขึ้น เล่นละครซ้อมบทกันให้สมจริง เพื่อให้ลูกรู้จักเทคนิคปฏิเสธยาในสถานการณ์เสี่ยงต่าง ๆ ฝึกลูกให้รู้จักสถานที่ยั่วยุให้ใช้ยา ฝึกให้ลูกรู้จักผลกระทบที่แท้จริงของสื่อโฆษณาและการเผยแพร่ซูเปอร์สตาร์ที่ ดื่มเหล้า เบียร์ สูบบุหรี่หรือเสพยาเสพติด ว่าการเลียนแบบสื่อหรือดารามีผลร้ายอย่างไรบ้าง ฝึกลูกให้มีทักษะในการปฏิเสธสารเสพติดอย่างได้ผล

อย่าได้ท้อแท้ใจว่า “สิบสร้าง” นี้ทำยากเพราะไม่มีเวลา รักลูกเสียอย่างเวลาหาได้แน่ หมั่นสร้างสิบสิ่งนี้ จะป้องกันลูกให้พ้นภัยยาเสพติดได้แน่นอน ลูกจะเติบโตเป็นคนคิดเป็น ดูแลตัวเองเป็น มีมนุษย สัมพันธ์ที่ดี ทำการงานสำเร็จเป็นคนดีและมีชีวิตที่เป็นสุข….ข้อมูลจาก แพทย์หญิงบุญศิริ จันศิริมงคล นายแพทย์ชำนาญการพิเศษหัวหน้ากลุ่มงานจิตเวชยาเสพติด สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ผู้อำนวยการศูนย์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข…โดยนายแพทย์ สุรพงศ์ อำพันวงษ์

ขอบคุณ... http://www.dailynews.co.th/article/1490/229847 (ขนาดไฟล์: 167)

เดลินิวส์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 1 ก.ย.56

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 1 ก.ย.56
วันที่โพสต์: 1/09/2556 เวลา 03:04:08 ดูภาพสไลด์โชว์  ‘การป้องกันการติดสารเสพติด และสิบ “สร้าง” ปราการของครอบครัวให้พ้นภัยสารเสพติด’ ตอน 2 – ชีวิตและสุขภาพ