นักวิจัยหญิงรางวัลเจ้าฟ้าควบคุมโรคตาบอดจากพยาธิ ห้องป้องกัน
จากลูกสาวคนขับรถบรรทุกสู่ความสำเร็จในการพัฒนาและช่วยเหลือชุมชนกว่า ๕๐๐,๐๐๐ แห่งทั่วทวีปแอฟริกา จนได้รับเกียรติเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการสาธารณสุข ประจำปี ๒๕๕๕ ร่วมกับผู้ได้รับรางวัลสาขาการแพทย์ เซอร์ไมเคิล เดวิด รอว์ลินส์ ประธานสถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการแพทย์ สหราชอาณาจักร จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อ ๓๐ ม.ค. ที่ผ่านมา
"ครั้งแรกที่เห็นจดหมายแจ้งว่าตัวเองได้รับรางวัลนี้ คิดเลยว่าสงสัยจะอ่านผิด ใช่เราจริงๆ เหรอ เพราะดิฉันไม่เคยคิดว่างานที่ทำจะได้รับเกียรติและมีคนตระหนักว่าเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง ขนาดเดินทางมาถึงเมืองไทยแล้วก็ยังอดคิดไม่ได้ว่าตัวเองมีคุณค่าพอที่จะได้รับรางวัลนี้จริงๆ ต้องบอกว่าภูมิใจและดีใจมากๆ ที่เป็นหนึ่งในผู้ได้รับเกียรติอันสูงสุด"
ดร.อูเช เวโรนิกา อะมาซิโก อดีตผู้อำนวยการโครงการควบคุมโรคตาบอดจากพยาธิในทวีปแอฟริกา องค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไนจีเรีย กล่าวอย่างปลื้มใจในงานแถลงข่าวของผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๕๕ ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนเล่าถึงที่มาของงานสาธารณสุขที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง ตอนที่ยังเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในไนจีเรีย ศึกษาเรื่องการ กระจายและการระบาดของโรคพยาธิหลายชนิด รวมถึงโรคมาลาเรีย และโรคตาบอดจากพยาธิ (Onchocerciasis หรือ River Blindness ที่คนไทยเรียกว่าโรคตาบอดแถบแม่น้ำ) ไม่นานนักจากการค้นคว้าหาข้อมูลเรื่องโรคเหล่านี้ ดิฉันพบกับหญิงสาวตั้งครรภ์และเป็นโรคตาบอดจากพยาธิ เธอชื่อว่า "แอ๊กเนส"
แอ๊กเนสถูกสามีทอดทิ้งและป่วยด้วยโรคร้าย ซึ่งไม่เพียงทำให้เธอตาบอด แต่พยาธิยังเข้าสู่กระแสเลือด ผิวหนังจึงมีอาการแสบคันและเป็นแผลเรื้อรัง การได้พบกับแอ๊กเนสเป็นแรงผลักดันให้ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะต้องช่วยคนที่เป็นโรคแบบนี้ โดยเฉพาะผู้ป่วยผู้หญิงที่ไม่มีปากเสียงเรียกร้องขอความช่วยเหลือ หรือถูกสามีผลักไสให้เผชิญชะตากรรมด้วยตัวเองอย่างแอ๊กเนส ดิฉันเริ่มจากใช้เงินส่วนตัวที่พอมีรักษาแอ๊กเนสให้หายดี ระหว่างนั้นก็ศึกษาว่าจะมีวิธีใดในการควบคุมและป้องกันโรคนี้ บังเอิญว่ามียาตัวหนึ่งคือ "ไอเวอร์เมกติน (Ivermectin)" ซึ่งบริษัทเมิร์กได้สนับสนุนยาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ถือได้ว่าเป็นความโชคดีที่มีบริษัทยาเห็นความสำคัญของคนยากไร้และไม่มีที่พึ่ง ตอนนั้นดิฉันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการควบคุมโรคตาบอดจากพยาธิในทวีปแอฟริกา องค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไนจีเรีย มีพร้อมทั้งองค์ความรู้และกำลังสนับสนุน แต่ใช่ว่าจะง่ายไปซะทุกเรื่อง เพราะต้องคิดหาวิธีให้ยาเหล่านี้เข้าไปถึงคนในชุมชนและสามารถช่วยพวกเขาได้จริงๆ
ดร.อามาซิโกกล่าวต่อว่า ด้วยความเป็นผู้หญิงและอยู่ในสังคมแอฟริกาซึ่งส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญกับผู้ชายเป็นหลัก การจะผลุนผลันเข้าไปแนะนำออกคำสั่งให้ชาวบ้านทำตามจึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เพราะค่านิยมและประเพณีเป็นสิ่งที่สืบสานมาจากบรรพบุรุษ ตนเองเป็นคนแอฟริกาเหมือนกันจึงเข้าใจและเคารพวิถีชีวิตท้องถิ่น
เมื่อการรุกหน้าเข้าหาชุมชนใช้ไม่ได้ จึงให้ชุมชนเป็นฝ่ายเลือกอาสาสมัครออกมาแทน จากนั้นจึงพูดคุยสร้างความเข้าใจว่าทำไมต้องรักษาโรคนี้ ทำไมต้องกินยาแผนปัจจุบัน ซึ่งขัดกับความเชื่อของชาวบ้านที่นิยมใช้สมุนไพร ไม่ก็พิธีทางศาสนาในการรักษา เมื่อตัวแทนชุมชนเข้าใจ คนในหมู่บ้านก็พร้อมจะเปิดใจลองรักษาในแบบของเรา
"ดิฉันร่วมพัฒนาชุมชนเหล่านี้จนเป็นชุมชนที่กำหนดการรักษาได้ หรือ "ชุมชน ผู้กำหนด" (Community-Direct Treatment) รวมทั้งกระจายยารักษาโรคตาบอดจากพยาธิได้มากกว่า ๕๐๐,๐๐๐ ชุมชนใน ๑๙ ประเทศทั่วแอฟริกา และยังเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพในชุมชน ส่งผลให้วิกฤตของโรคนี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง สามารถป้องกันโรคได้ปีละกว่า ๔๐,๐๐๐ คน โดยคาดว่าภายในปี ๒๕๕๘ ชาวแอฟริกากว่า ๙๐ ล้านคนต่อปี จะได้รับยาตัวนี้อย่างโรคสม่ำเสมอเพื่อลดการแพร่ระบาด และกำจัดโรคให้หมดไปจากชุมชน
ที่สำคัญชุมชนผู้กำหนดยังมีบทบาทต่อระบบให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นเพื่อควบคุมโรคอื่นๆ ด้วย ซึ่งชาวแอฟริกันราว ๑๑ ล้านคนได้รับประโยชน์จากการควบคุมมาลาเรีย และอีก ๓๗ ล้านคนได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณสุข"(ข่าวสดออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ๕ ก.พ.๕๖)