สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยในใจของผม
สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยในใจของผม
คำว่า “ในใจ” ผมหมายถึง...
-เป็นความทรงจำ
-เป็นสิ่งที่รัก
-เป็นความคาดหวัง
และเป็นเรื่องเล่าสู่กันฟัง (อย่างกระชับ) เป็นตอนๆ ดังนี้
1. กำเนิดผู้นำ
-บ้านผมอยู่พิษณุโลก ผมพิการด้วยโรคซูซูกิ แขนขาอ่อนแรงมาเป็นเวลา 4 ปีกว่าแล้ว ก่อนที่ผมจะตัดสินใจเดินทาง(กึ่งหนีออกจากบ้าน) ไปเข้ารับการฝึกอาชีพที่ศูนย์ฟื้นฟูอาชีพคนพิการหยาดฝน จังหวัดเชียงใหม่ และผมได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานรุ่นที่ 7 เมื่อปี 2536
-ผมเพิ่งได้พบ ได้เห็น ได้รู้จากที่ศูนย์ฯว่า มีคนพิการอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศไทย และมีหลากหลายสภาพความพิการ ทั้งที่เดินได้และเดินไม่ได้ ทั้งที่ได้เรียนหนังสือและไม่ได้เรียน
-ผมสอนหนังสือให้น้องๆที่อ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้ 7 คน ซึ่งพวกเขาตั้งใจเรียนรู้จนสามารถฝึกอาชีพต่อไปได้
-ความคิดที่ว่า “ถ้าอยู่ไม่ได้ก็จะฆ่าตัวตายโดยจะไม่ให้ญาติพี่น้องเดือดร้อนแม้แต่เรื่องเผาศพ” ก็ค่อยๆหมดไป เมื่อผมรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าเมื่ออยู่กับคนพิการด้วยกัน
-เพราะได้อ่านวารสาร “เพื่อนเชียงใหม่” ของกลุ่มคนพิการเชียงใหม่ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นแล้วเอาไปมอบให้ศูนย์ฯหยาดฝนจึงทำให้ผมได้รู้จักและโทรฯไปคุยกับ อ.พิพัฒน์ ประสาธสุวรรณ์ ซึ่งท่านแนะนำให้ผมได้รู้จัก(ทางโทรศัพท์)กับท่านพันโทต่อพงษ์ กุลครรชิต ซึ่งเป็นนายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยในขณะนั้น
-อ.พิพัฒน์ ได้ให้ทุนผมเดินทางไปเข้าร่วมประชุมใหญ่สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยที่ จ.นครราชสีมา พร้อมกับเพื่อนคนพิการเชียงใหม่
-ผมได้ลุกขึ้นแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่หมอไม่ยอมออกเอกสารรับรองความพิการว่า “หมอโง่” เพราะบอกว่า “คนเดินขาเป๋” เป็น “คนไม่พิการ” โดยหมอคิดเอาว่า “การใส่เสื้อผ้า การนั่งขี้ และการเดินขึ้นบันไดได้” เป็นข้อวินิจฉัยว่า “ไม่พิการ” ทั้งๆที่ในหมู่บ้านตัดสินและเรียกคนพวกนี้ว่า “ไอ้เป๋/อีเปลี้ย” และกลายเป็นคนที่เสียเปรียบทางสังคมไปแล้ว!
-ผมมารู้ภายหลังตอนแยกประชุมแต่ละประเภทความพิการจาก อ.ณรงค์ ปฏิบัติสรกิจ อดีตนายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยคนแรก ว่า “ผู้อำนวยศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ” ร้องไห้บนเวทีด้วยคำพูดของผม!
-ท่านพันโทต่อพงษ์ พูดว่า “วันนี้ผมดีใจที่ได้เห็นผู้นำคนพิการรุ่นใหม่ปรากฏตัวขึ้น สามารถแย่งไมค์มาจากเพื่อนคนพิการตาบอดได้” แต่ผมไม่ได้คิดว่าเป็นตัวเอง เพราะดูแต่ละคนเป็นผู้ยิ่งใหญ่มากๆ (ซึ่งหลายคนบอกว่าจำผมได้เป็นอย่างดีนับจากวันนั้น)
-ในการประชุมครั้งนั้น ทำให้ผมได้รู้ว่า อ.ณรงค์ ป่วยด้วยโรคข้อกระดูกยึดติดทั้งตัว เมื่อนอนท่านก็จะนอนตัวแข็ง เมื่อลุกขึ้นท่านก็จะต้องยืนทันที นั่งไม่ได้ และถ้าทำงาน ท่านก็จะต้องยืนทั้งวัน ไปจนกว่าจะล้มตัวลงนอน เมื่อมองไปที่ขาของท่านเราจะเห็นเส้นเลือดขอดที่ข้อเท้าของท่านเป็นสีดำทั้ง 2 ข้าง และพันโทต่อพงษ์ เป็นอัมพาตทั้งตัว แขนขาอ่อนแรง มือขยับได้ แกว่งได้ แต่หยิบ จับ หรือกำไม่ได้ทั้งสองข้าง ต้องนั่งบนรถเข็นทั้งวันนับตั้งแต่ลุกจากที่นอน!
-ท่านแนะนำให้ผมสมัครเป็นสมาชิกสมาคมฯซึ่งต่อมาผมก็ได้สมัครและได้เป็นสมาชิกลำดับที่ 1327 และได้รับและอ่านวารสาร “สายสัมพันธ์” ของสมาคมฯนับจากนั้น
-หลังจากที่ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กันระยะหนึ่ง ท่านพันโทต่อพงษ์ ได้ให้เกียรติแก่กลุ่มเพื่อนคนพิการเชียงใหม่โดยการไปจัดอบรมสัมมนาเรื่องการก่อตั้งองค์กรของคนพิการ โดยคนพิการ เพื่อคนพิการ ที่โรงแรมเชียงใหม่ โดยผมมีส่วนนำคนพิการจากศูนย์ฯหยาดฝนเข้าร่วมงานด้วย
-อีกไม่นานหลังจากนั้นก็ได้มีการก่อตั้ง “ชมรมคนพิการจังหวัดเชียงใหม่” ขึ้น โดยมีผมร่วมเป็นคณะกรรมการก่อตั้ง บุคคลสำคัญที่ผมจำชื่อได้คือคุณลำยอง และคุณอรพันธ์ กันนัย ซึ่งยังมีบทบาทสำคัญจนถึงปัจจุบัน.คุณนฤมล ผู้หญิงที่เล่นเทนนิสคนแรกของเชียงใหม่ (และยังมีคุณพยาบาล...จำชื่อไม่ได้แล้ว...ถ้าคุณลำยอง/อรพันธ์ ได้อ่านก็กรุณาเติมให้ด้วย)
-แล้วผมก็เรียนจบหลักสูตร “จิ้มดีด” (มือข้างเดียว-เครื่องพิมพ์ดีดธรรมดา) จากศูนย์ฯหยาดฝนในเดือนตุลาคม 2536 และได้เดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯกับโรงละครภัทราวดีเธียร์เตอร์ ของคุณภัทราวดี มีชูธน ในตำแหน่งผู้ช่วยประชาสัมพันธ์
-ผมจะเดินทางไปที่สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย เพื่อเรียนรู้ และช่วยทำงานบ้างตามที่ได้รับมอบหมายจากท่านผู้พันฯ แต่ก็ไม่ได้ไปบ่อยๆ เพราะค่ารถแพงมาก ไป-กลับ 6-700 บาท ในแต่ละครั้ง
-ผมจำได้ว่า ในครั้งแรกที่ไปสมาคมฯ ผมนั่งเรือข้ามฟากจากฝั่งวังหลังมาขึ้นรถเมล์ ซึ่งวิ่งจากบางประกอกไปปากเกร็ด ที่ฝั่งท่าช้าง เมื่อรถมาถึง ผมก็ต้องรอให้ผู้โดยสารขึ้นรถไปให้หมดเสียก่อนแล้วผมจึงขึ้นเป็นคนสุดท้าย และเมื่อเท้าผมพ้นพื้นดิน รถเมล์กรุงเทพฯก็ออกตัวตัวตามสไตล์ ซึ่งทำให้ผมเซถลาเกือบตกรถ....และนั่นคือการขึ้นรถเมล์ในกรุงเทพฯครั้งแรกและครั้งสุดท้ายของผม!!! ทุกท่านคงทราบแล้วว่า ผมเดินทางด้วยรถอะไร ทำไมจึงต้องจ่ายแพง!
-ในเดือนสิงหาคม 2537 ท่านผู้พันฯได้จัดอบรมพัฒนาศักยภาพผู้นำขึ้นที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งผมได้รับเชิญให้เข้ารับการฝึกอบรมด้วย ในขณะฝึกนั้น ผมได้รับบทบาทสมมุติให้เป็นประชาสงเคราะห์จังหวัด(พมจ.ในปัจจุบัน)และก็จบมาได้เป็น “ผู้นำคนพิการรุ่นที่ 1 สุรินทร์” นับตั้งแต่บัดนั้น
.........ใครจะแสดงความคิดเห็น/ซักถาม ก็ได้นะครับ..........
ที่มา: อรรถพล ขาวแจ่ม
วันที่โพสต์: 7/04/2556 เวลา 21:17:32
1 2456dan 12/07/2563 07:02:56
รับนวดนอกและในสถานที่0992399199
2 ถุย 13/07/2556 14:30:55
สมาคมอะไรก็เหมือนๆกันแหละ มีเพื่ออะไรไม่เคยเห็นจะทำอะไรเป็นประโยชน์กับคนพิการจริงๆจังๆสักที่
จุดประสงค์ก็แค่หาประโยชน์เข้าตัวทั้งนั้นควรยุบทิ้งให้หมดไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมสักอย่างมีแต่ชื่อและโลโก้ให้เกะกะ
3 ณรงค์ชัย ประธานราษกร์ 11/07/2556 10:49:27
คนพิตาบอดตาข้างเดียวถือว่าเป็นคนพิการหรือไม่ขอความคิดเห็น
4 อรรถพล ขาวแจ่ม 10/04/2556 13:07:27
สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยในใจของผม
9. เป็นอุปนายกฯสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย
-จากเดือนมีนาคม 2544 ที่ผมหมดวาระจากการเป็นเลขาฯสมาคมฯ ผมก็กลับมาทำงานชมรมคนพิการพิษณุโลกและหารายได้เลี้ยงชีพด้วยการขายล็อตเตอรี่ อาชีพที่ผมไม่ชอบในตอนแรก จนมาถึงปี 2546 ผมก็เกิดปัญหาภรรยามีแฟนใหม่ ผมจึงเป็นเสมือนบุคคลไร้ความสามารถและประกาศลาออกจากการเป็นประธานชมรมคนพิการพิษณุโลก โดยคุณประสิทธิ์ จันทร์วิสิทธิ์ ได้รับเลือกให้เป็นประธานชมรมฯคนต่อไป
-ถึงปี 2548 คุณประสิทธิ์ ขอลาออกจากประธานชมรมฯ คณะกรรมการก็ขอให้ผมกลับมารับตำแหน่งประธานฯต่อ ผมจึงก่อตั้ง สภาคนพิการทุกประเภทจังหวัดพิษณุโลก ขึ้นและขอให้คุณประสิทธิ์มารับเป็นประธานคนแรก และผมก็ขอจดทะเบียนเปลี่ยนชมรมฯ เป็นสมาคมคนพิการจังหวัดพิษณุโลกมาตั้งแต่นั้น
-เมื่อนายพันตรี นายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย หมดวาระลง คุณศุภชีพ ก็ได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกสมาคมคนใหม่และเชิญผมให้เข้าร่วมเป็นกรรมการในตำแหน่งอุปนายกสมาคมฯด้วย ซึ่งผมก็ตกลงเพราะคุณศุภชีพรับปากว่าจะให้มีการก่อตั้งศูนย์ประสานงานสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยขึ้นทั้ง 4 ภาค โดยผมมีเหตุผลว่า...
1.สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย จะลงไปทำงานเองทั้ง 76 จังหวัดคงไม่ไหวและไม่สมควรทำ
2.เพื่อให้องค์กรเครือข่ายในแต่ละจังหวัดได้ออกกำลังกายคิดเอง พูดเอง ทำเอง เคลื่อนไหวเอง ทั้งด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงาน และโครงการ ถ้าไม่ทำเองก็จะไม่มีความน่าเชื่อถือและไม่มีความเข้มแข็ง
3.สิ่งที่สมาคมฯแห่งประเทศไทยควรทำคือ สนับสนุนวิชาการ สนับสนุนบุคลากร สนับสนุนเอกสารวิธีการ สนับสนุนงบประมาณ และไปร่วมให้กำลังเมื่อเขาจัดงานหรือไปร่วมแก้ไขเมื่อเขามีปัญหา
-มีข้อเสนอที่มีความขัดแย้งอยู่ 1ข้อ ในเวทีแห่งนี้ คือ นายกฯคนใหม่เสนอให้ทุกจังหวัดไปจัดตั้งเป็น “สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยประจำจังหวัด...แล้วสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย(โดยนายกฯศุภชีพ)จะให้เงินสนับสนุนจังหวัดละ 10,000 บาท ผมบอกว่ามันทำได้ยากทั้งการบริหารจัดการ, การเงินการบัญชี, และการเคลื่อนไหวภายในจังหวัดแต่ใช้ชื่อ “แห่งประเทศไทย”
-มีการจัดตั้งคณะกรรมการศูนย์ประสานงานสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย ขึ้นทั้ง 4 ภาค โดยผมเป็นประธานภาคเหนือ แต่ไม่ได้รับเงินบริหาร จนกระทั่งผ่านไป 8 เดือน จึงมีการโอนเงินมาให้ 30,000 บาท(สามหมื่นบาทถ้วน) (แต่คนให้ชอบเอาไปพูดว่า 50,000 บาท) เมื่อประชุมคณะกรรมการผมก็จ่ายเบี้ยประชุมให้คนละ 300 บาท ค่าน้ำมันตามระยะทาง เมื่อท่านนายกฯลงพื้นที่ผมก็ใช้เงินนี้เลี้ยงต้อนรับ เมื่อไปอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ผมก็ใช้งบนี้เติมน้ำมันให้รถที่ไป 3 คัน เงินมันก็หมด คิดว่าจะได้การสนับสนุนอีกแต่ไม่มีมาอีกเลย ดังนั้น การบริหารศูนย์ประสานงานฯภาค จึงล้มเหลวเพราะขาดงบประมาณ
-6 ปีต่อมาผมจึงได้ข่าวว่ามีผู้ไปจดทะเบียน “สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยจังหวัด....ได้ 2 จังหวัด และ นายกฯสมาคม 1 ใน 2 จังหวัดนั้นโทรศัพท์มาบอกผมเองว่าทำงาน-เคลื่อนไหวในนามแห่งประเทศไทยในจังหวัดไม่ได้จริงๆ!
-ผมเดินทางเข้ากรุงเทพฯด้วยการขับรถยนต์กระบะ ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นไทเกอร์ จะไปเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการบริหารสมาคมฯแห่งประเทศไทย เพื่อวางแผนการจัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2551 ที่จังหวัดกระบี่ แต่รถผมหม้อน้ำพังเมื่อถึงเขตอุตสาหกรรมนวนคร จึงได้จ้างช่างลากรถเข้าไปซ่อมที่ร้านในเขตนวนคร โดยมีคุณชูเกียรติ สิงห์สูง แวะเข้าไปเยี่ยมตามที่ผมโทรเล่าให้ฟังและฝากแจ้งที่ประชุมให้ทราบถึงปัญหาของผมด้วย และในตอนคืนวันนั้น ฝนตกหนักมากผมมองไม่เห็นว่าเป็นพื้นต่างระดับที่อยู่ในน้ำ เมื่อผมก้าวเดินลงไป ทำให้ผมล้มหัวฟาดกับพื้นหัวแตกเลือดไหลออกมาเป็นจำนวนมาก ช่างจึงพาผมไปส่งที่โรงพยาบาลนวนคร ให้หมอเย็บ 4 เข็ม ต้องนอนที่นั่น 4 คืน จึงกลับบ้านพิษณุโลกได้ งานนี้ผมมีบาดแผลทั้งที่หัว และที่กระเป๋าสตังค์ที่ทำเงินขาดหายไปเกือบ 7 หมื่นบาท(ยกเครื่องใหม่ไปซื้อได้ที่ จ.สระบุรี) ใน 4 คืนนั้นผมคิดมากว่า “ผมสมควรจะเป็นผู้บริหารสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยต่อไปหรือไม่?” และ 7 หมื่นบาทมันส่งผลให้ผมต้องเป็นหนี้มาจนถึงปัจจุบัน!
5 อรรถพล ขาวแจ่ม 10/04/2556 13:06:24
สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยในใจของผม
8. ขับไล่นายพันให้พ้นจากการเป็นนายกฯ
-ผมได้รับสำเนาเอกสารแสดงสถานะการใช้จ่ายเงินของนายพันตรีนายกสมาคมฯ ว่ามีการอนุมัติเป็นเงินเดือนให้ตัวเองและภรรยาเป็นจำนวนเงินหลายหมื่นบาท และคนส่งเอกสารให้ผมก็บอกให้ผมเข้าร่วมการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2545 เพื่อขับไล่นายกสมาคมฯและเพื่อปกป้องสมาคมฯไปพร้อมกันด้วย
-คณะกรรมการบริหารสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย ในช่วงที่นายศุภชีพเป็นนายกฯนั้น แทบจะไม่เบิกเงินเกินกว่าค่าเดินทาง ค่าที่พัก ตามจริงเลย และผมเป็นคนพูดคนแรกเองว่า “ทำงานด้านคนพิการทำไปร้องให้ไป” เพราะมันไม่มีรายได้ แถมยังจ่ายเงินตัวเองอีก พอเห็นเอกสาร(ก็คงเป็นกรรมการในสมาคมฯนั่นแหละเอาออกมา) ก็คิดว่า “โอ้โห ! เอากันอย่างนี้เชียวหรือ ต้องไปร่วมกับเขาแล้วละ”
-การประชุมใหญ่จัดขึ้นที่ศาลาประชาคมจังหวัดนนทบุรี ในวันนั้นมีสมาชิกเข้าประชุมเยอะมาก มากกว่าการประชุมที่ศูนย์กีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดงเสียอีก และประมาณ 1 ใน 5 ของสมาชิกในวันนั้นเป็นทหารผ่านศึกพิการ
-เมื่อเริ่มการแถลงผลการปฏิบัติงานของสมาคมฯก็มีสมาชิกยกมือขึ้นถามแล้วก็ลามไปถึงเรื่องตั้งเงินเดือนให้ตัวเองและภรรยาตามเอกสารที่ถูกแจกจ่ายไปทั่ว จนการประชุมไม่สามารถดำเนินต่อไป ซึ่งผมเป็นคนสุดท้ายที่ลุกขึ้นไปขอไมค์และเดินไปพูดติดกับโต๊ะกรรมการที่แถลงผลงานอยู่ ผมชี้ให้เห็นเป็นข้อๆว่ามันผิด ไม่มีใครเขาเคยทำกัน มันผิด มันน่ารังเกียจ น่าขยะแขยง ไม่มีคุณธรรมอย่างไร สมาชิกที่เข้าร่วมประชุมก็โห่ฮา ตะโกนขับไล่รวมทั้งทหารผ่านศึกพิการซึ่งในตอนแรกผมคิดว่าเป็นฝ่ายของนายพันตรีนั่นด้วย
-ในที่สุด นายพันตรีก็ยอมจำนน และประกาศลาออกกลางที่ประชุมใหญ่เมื่อตอนบ่ายแก่ๆ สมาชิกผู้เข้าร่วมประชุมต่างก็ปรบมือดีใจกันสนั่นหวั่นไหวแล้วค่อยๆทยอยกันกลับบ้าน
-เป็นที่น่าสังเกตว่า ในระหว่างการกล่าวโจมตีจากคนหลายคน จากไมค์หลายอัน(ไม่รู้มาจากไหน) อย่างต่อเนื่องอยู่นั้น นายกฯนายพันตรีจะใช้โทรศัพท์ติดต่อพูดคุยอยู่กับใครบางคนที่พวกเรามองไม่เห็นอยู่ตลอดเวลา
-ผมมาทราบภายหลังว่า นายพันตรีไม่ออกจากตำแห่งนายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยตามที่ประกาศไว้และยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเรื่อยๆโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งยังสามารถยกฐานะตนเองขึ้นไปเป็นประธานสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยได้อีกด้วย
-***มีข้อที่ควรคิดอยู่ 2 หรือ 3 ข้อ คือ
1. ขณะประชุมและนายกฯนายพันตรีประกาศลาออกนั้น มีแต่คนปรบมือแล้วก็รีบกลับบ้านแต่ไม่มีใครคิดกำหนดข้อปฏิบัติเพื่อให้การลาออกนั้นมีผลบังคับ
2. มีบารมีที่มองไม่เห็นคอยคุ้มครองป้องกันภัยให้นายกฯนายพันตรีปฏิบัติหน้าที่ต่อไป/หรือไม่?
หรือ 3. เป็นความใจกล้า หน้าด้าน ของท่านนายกฯเอง
6 อรรถพล ขาวแจ่ม 9/04/2556 13:16:46
สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยในใจของผม
7. เป็นเลขานุการสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย และ ประธานส่งเสริมองค์กรคนพิการ
ส่วนภูมิภาค ระหว่างปี 2542-2543(ความภาคภูมิใจบนความทุกข์ทรมาน)
-ผมได้รับการติดต่อและขอร้องจากผู้ใหญ่ ให้ช่วยรับเป็นเลขานุการสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย ซึ่งในตอนนั้นคุณเกลียว (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นศุภชีพ ดิษเทศ) ได้รับการเลือกตั้งแทนคุณสุทธิพงษ์ รัตโนสถ ซึ่งหมดวาระไป ผมถามว่า สมาคมฯควรจะสนับสนุนการก่อตั้งชมรมคนพิการในต่างจังหวัดไหม? ผู้ใหญ่ท่านนั้นตอบว่า “ต้องทำและคุณเป็นผู้ที่เหมาะสม” ผมจึงรับเป็นเลขาฯสมาคมฯ
-เลขานุการ คือตำแหน่งสำคัญขององค์กรในการจัดทำเอกสารและการติดต่อประสานงาน จึงเป็นงานที่หนัก และที่หนักมากขึ้นไปอีกคือ กรรมการ 5 คน ของทุกสมาคมฯแห่งประเทศไทยในแต่ละความพิการจะต้องไปเป็นกรรมการบริหารสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยด้วย และผมอยู่ในจำนวน 5 คนนั้น
-การทำหน้าที่เลขาฯของผมคือ ต้องสะพายกระเป๋าเสื้อผ้าและเอกสารเดินทางด้วยรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างออกจากบ้านตอน 5 ทุ่ม ไปขึ้นรถโดยสารเข้ากรุงเทพฯ ถึงสถานีขนส่งหมอชิตใหม่ตอนตี 4 ต้องนั่งรอจนถึง 7 โมงเช้า จึงเดินตุปัดตุเป่ไปขึ้นรถแท็กซี่ไปที่ทำการสมาคมฯที่ถนนติวานนท์ ซอย 8 แล้วนั่งรอจนกว่าจะถึงเวลาประชุม 9 โมงเช้า แต่กว่ากรรมการจะมาครบก็ 10 โมงโน่น และคนที่มาช้าที่สุดคือตัวนายกฯ (ไม่รู้ปรับปรุงหรือยัง) แล้วก็เริ่มประชุมไปตามวาระที่ผมร่างส่งมาให้คุณกิตติพงษ์(ตุ๋ง)หาดทวายกาญจน์ เจ้าหน้าที่สมาคมฯจัดเตรียมถ่ายเอกสารไว้ให้ กว่าจะประชุมกันเสร็จก็บ่าย 3 บ่าย 4 โมง แล้วผมก็เดินตูดปัดออกมาเรียกแท็กซี่ที่ปากซอย(ตอนนั้นแท็กซี่ไม่มีโทรศัพท์)เพื่อไปขึ้นรถที่หมอชิตกลับพิษณุโลก หรือถ้ามีประชุม 2-3 วัน ก็ให้แท็กซี่ไปส่งที่โรงแรมม่านรูดที่แคราย เพื่อประหยัดเงินให้ทั้งตัวเองและสมาคมฯ (ในตอนนั้นสมาคมฯมีรายได้ไม่มาก ผมต้องจ่ายไปก่อนแล้วเบิกทีหลัง) กว่าจะกลับถึงบ้านก็ตี 2 ตี 3 ทุกครั้ง ในขณะที่กรรมการส่วนใหญ่อยู่ปริมณฑลหรือไม่ไกลจากกรุงเทพฯนัก เมื่อประชุมเสร็จพวกเขาก็จบ แต่ผมเมื่อกลับถึงบ้านแล้วก็ต้องมาพิมพ์บันทึกการประชุมอีก พิมพ์หนังสือก็พิมพ์ได้นิ้วเดียว กว่าจะเสร็จก็หลายหน้า
-จากประสบการณ์การก่อตั้งชมรมคนพิการคือ
1.มีใจ 2.ไปประชาสงเคราะห์ 3.เลือกเฉพาะผู้นำ 4.ทำไปตามลำดับ 5.จับเอามาทำงาน
ที่ผมเคยใช้ เมื่อผมได้เป็น “ประธานส่งเสริมองค์กรคนพิการส่วนภูมิภาค” ผมก็คิดยุทธศาสตร์ขึ้นมาใหม่ว่า
1. กระตุ้นให้เกิดกลุ่ม 2. อุ้มให้เกิดองค์กร 3. สอนให้ทำงาน 4. ประสานสายสัมพันธ์
และ 5. รายงานความสำเร็จ
ตอนนั้นทำงานหนักและเหนื่อยมาก ร่างกายก็ทรุดโทรม รายได้ก็ไม่มีทดแทน งานชมรมพิษณุโลกก็อ่อนลง แต่ก็สนุกที่ได้เรียนรู้และได้อยู่กับงานเอกสาร ซึ่งทำให้เราทราบและมีข้อมูลมากกว่าใครๆ และตื่นเต้นดีใจทุกครั้งที่ได้เดินทางไปพูดหรือเปิดชมรมคนพิการตามจังหวัดต่างๆ เช่น ยะลา เชียงราย แม่สอด หนองคาย เป็นต้น เรียกว่า เหนือ-ใต้-ออก-ตก ไปมาหมดแล้ว
-ผมได้รับการคัดเลือกให้เป็นคนพิการดีเด่นของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์และได้รับประทานโล่คนพิการดีเด่นจากพระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชานัดดามาตุ ณ สวนอัมพร ก็ปี 2542 นี้
-ผมทำสรุปไปรายงานให้ที่ประชุมใหญ่ในวันที่ผมหมดวาระให้ได้ทราบทั่วกันว่า ระหว่างผมเป็นเลขานุการและประธานส่งเสริมองค์กรคนพิการส่วนภูมิภาค ระหว่างปี 2542-2543 นั้น ผมสามารถสร้างเครือข่ายที่เป็นบุคคลและองค์กรได้ถึง 69 จังหวัด จากทั้งหมด 76 จังหวัด ...ภูมิใจไหมล่ะ!?!
-***ทราบไว้ว่า
1. ผมเหนื่อยจริงๆและเบื่อแล้วที่จะเดินทางเข้ามาทำหน้าที่เลขาฯสมาคมฯในกรุงเทพฯ ดังนั้น เมื่อนายทหารพิการยศ พันตรี มาติดต่อให้ผมร่วมเป็นคณะกรรมการชุดต่อไปร่วมกัน ผมจึงตอบปฏิเสธ และในการเลือกตั้งครั้งนั้นนายพันผู้นี้ก็ได้เป็นนายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยคนใหม่แทนนายศุภชีพ ดิษเทศ ซึ่งแพ้เลือกตั้ง
2. มียอดสมาชิกเข้าร่วมประชุมใหญ่ในครั้งนี้โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการโรคเรื้อน ซึ่งถูกนำมาโดยทีมงานของนายพันตรี ทำให้เกิดปัญหาทั้งเรื่องการลงทะเบียน การทำบัตรเลือกตั้ง การจัดหาอาหารและเครื่องดื่ม และการลงคะแนนที่ควบคุมไม่ได้
3. ทีมงานของนายพันตรีมีการแจกแบบสอบถามให้สมาชิกทุกคนที่มาร่วมประชุมโดยโฆษณาว่า ถ้ากรอกแบบสอบถามชัดเจนถูกต้องจะได้โควต้าสลากฯทุกคน ซึ่งผมทราบภายหลังว่า มันเป็นยุทธศาสตร์โค่นล้มนายกศุภชีพ โดยการเอาผลประโยชน์เข้าล่อ และก็ได้ผล!
7 อรรถพล ขาวแจ่ม 9/04/2556 13:05:24
สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยในใจของผม
6. ผลงานก่อนการเป็นเลขาฯแห่งประเทศไทย
ในการประชุมเพื่อเปิดชมรมเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2538 ปรากฏว่า คุณสมาน ประทีปจรัส เจ้าของธุรกิจร้าน ป.ปลางาม ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานชมรมคนพิการพิษณุโลก คนแรก โดยมีผมเป็นเลขานุการ แต่ต่อมา คุณสมานได้ล้มป่วยลงจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงแจ้งให้คณะกรรมการประชุมกันเพื่อเลือกประธานชมรมฯคนใหม่ ซึ่งผมได้รับเลือกให้เป็นประธานเป็นคนที่ 2 โดยต้องปฏิบัติหน้าที่เลขานุการชมรมฯไปพร้อมๆกันเพราะไม่มีใครทำเป็น
แม้จะก่อตั้งชมรมฯได้แล้วแต่ผมก็ยังต้องทำงานอยู่กับคุณภัทราวดี มีชูธน ที่ภัทราวดีเธียเตอร์ เพราะมันเป็นรายได้ทางเดียวที่ผมได้รับ จนกระทั่งเกิดการปรับปรุงตำแหน่งในสำนักงานและเขาจะย้ายให้ผมไปอยู่ฝ่ายการเงินซึ่งผมไม่ถนัด จึงสบโอกาสขอลาออกและเดินทางกลับมาเช่าบ้านเป็นสำนักงานที่พิษณุโลกเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2539 โดยได้รับเงินสนับสนุนจากคุณภัทราวดี 25,000 บาท บวกกับเงินตัวเองอีกหมื่นกว่าบาท
วันที่ 29 กันยายน 2539 ผมใช้ฐานข้อมูลจาก สำนักงานประชาสงเคราะห์จังหวัด (พมจ.ในปัจจุบัน) ค้นหากลุ่มเป้าหมายและเชิญให้มาประชุมเพื่อรับการศึกษา ณ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดพิษณุโลก(สังกัดศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุม 39 คน
ผมเริ่มจัดการศึกษาให้คนพิการทั้งในระดับประถมและมัธยม มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2539 โดยมีนักเรียนทั้ง 2 ระดับ จำนวน 43 คน โดยได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดฯและคุณเฟื่องฟ้า ภู่สวาสดิ์ หัวหน้ากลุ่มงานสวัสดิการ สำนักงานประชาเคราะห์จังหวัดฯ
ได้รับการร้องขอจากโรงเรียนอาชีวะพระมหาไถ่ให้ช่วยค้นหาและประชาสัมพันธ์พร้อมทั้งจัดเตรียมสถานที่สอบคัดเลือกคนพิการเพื่อเข้าเรียนโรงเรียนอาชีวะพระมหาไถ่ ซึ่งผมได้ให้ความร่วมมือมาตั้งแต่ต้นปี 2539 ซึ่งในตอนแรกๆมีคนพิการเดินทางมาสอบเป็นจำนวนมาก และยังจัดเตรียมสถานที่สอบพร้อมทั้งประชาสัมพันธ์มาจนถึงปัจจุบัน แต่จำนวนผู้เข้าสอบก็น้อยลงเรื่อยๆ
ปลายปี 2539 ได้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย ครั้ง ที่ 17 ที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นครั้งแรกของคนพิการจังหวัดพิษณุโลก โดยมีนักกีฬา 3 คน มีคุณบุญสม อินทรทัศน์ เป็นตัวเด่นเพราะผ่านการเล่นกีฬาให้โรงเรียนอาชีวะพระมหาไถ่มาแล้ว
***ในการเข้าร่วมแข่งขันกีฬาในครั้งนั้น ผมมีเรื่องประทับใจ 3 เรื่อง คือ 1. เข้าร่วมครั้งแรก 2.ได้ออกความเห็นให้อาจารย์สุภรธรรมนำเอาไปตีพิมพ์พาดหัวข่าววารสารด้วยข้อความว่า “นครสวรรค์ทำเท่...ตีกลองยาวล่อมังกร...เปิดกีฬาคนพิการ” และ 3. ได้พบคุณเสริมกิจ สรวงวัฒนา ที่เป็นข้าราชการคนพิการและมาปรึกษาเรื่องวิธีการเปิดชมรมคนพิการ ***
ปี 2540 ได้รับงบประมาณจากกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ จำนวน 180,000 บาท(หนึ่งแสนแปดหมื่นบาทถ้วน) เพื่อให้มาดำเนิน “โครงการรณรงค์เพื่อการรับทราบข่าวสารของคนพิการจังหวัดพิษณุโลก” ทั้ง 9 อำเภอ และทำให้ชมรมฯมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 3,200 คน พร้อมทั้งมีองค์กรเครือข่าย “ชมรมคนพิการอำเภอ....” ครบทุกอำเภอเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทย
ผมภูมิใจมากที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นเจ้าภาพจัดเวที “ประชาพิจารณ์รัฐธรรมนูญ 2540” ของภาคเหนือ ซึ่งงานก็ผ่านไปได้ด้วยดี
ปี 2541 รับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ณ โรงแรมน่านเจ้า มีคนพิการและผู้เกี่ยวข้องมาร่วมงานกว่า 400 คน
ได้ส่งนายอรชุณร์ อ่อนด้วง และนายสมหมาย มีปรางค์ เข้าไปอบรมการทำรถเข็นที่สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยร่วมกับมูลนิธิอาซาอีชิมบุน จากประเทศญี่ปุ่นจัดขึ้นที่จังหวัดนนทบุรี
เมื่อกลับมาแล้วก็ได้จัดตั้ง “ร้าน WORKSHOP คนพิการ” ขึ้น เพื่อรับทำรถโยกให้สำนักงานประชาเคราะห์จังหวัดฯ จำนวน 40 คันๆละ 4,000 บาท แต่ทำได้ครั้งเดียวเพราะกำนันที่เราไปอาศัยบ้านเขารับเอาเงินไปหมด ไม่แบ่งให้ชมรมฯไว้ทำทุนใหม่เลย
ต้นปี 2542 รับเป็นเจ้าภาพฝึกอบรมการทำรถเข็นนานาชาติที่สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยร่วมกับมูลนิธิอาซาอีชิมบุน จากประเทศญี่ปุ่นจัดขึ้น โดยมีชาวต่างชาติจาก 8 ประเทศ มาเข้าร่วมโครงการ โดยผมต้องทำหน้าที่เป็นล่ามด้วย....ต้องขอพูดระบายไว้ตรงนี้ว่า เมื่อเสร็จสิ้นโครงการนี้ ทั้งสมาคมฯและมูลนิธิฯจะมอบอุปกรณ์เครื่องเชื่อมให้กับชมรมคนพิการพิษณุโลก แต่ที่เขาทำพิธีมอบให้ในวันปิดโครงการคือเครื่องมือ 1 ชุด โดยรับปากว่าจะนำเครื่องเชื่อมมาให้ภายหลัง จนกระทั่งทุกวันนี้ผมก็ยังไม่รับ แต่มีคนไปพูดเอาหน้าว่า เคยมอบอุปกรณ์ให้ผมแล้ว...ผมจำหน้าคนโกหกได้ทุกคนเลย...จริงๆ.
***หมายเหตุไว้ตรงนี้สักนิดว่า
1. ในปี 2538 สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มีนโยบายจะจัดสรรโควตาสลากฯให้กับองค์กรด้านคนพิการทุกองค์กร ได้มากได้น้อยขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิก ซึ่งสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย จะได้รับการจัดสรรจำนวน 2,000 เล่ม(เล็ก) แต่ในขณะนั้นคณะกรรมการมีความคิดเห็นแตกเป็น 2 อย่าง คือเอา กับ ไม่เอา
คนที่ไม่เอามีเหตุผลว่า สลากฯไม่ใช่อาชีพพัฒนาคนพิการ เป็นอาชีพมอมเมาประชาชน เป็นอาชีพกึ่งขายกึ่งขอ(ทาน) ถ้าผลประโยชน์เข้าสู่สมาคมฯ ไม่นานสมาคมฯก็จะล่มสลาย เพราะมีแต่คนจะแก่งแย่งเอาผลประโยชน์โดยไม่คิดถึงคุณธรรม สู้ส่งเสริมการศึกษา พัฒนาอาชีพในด้านอื่นๆ และหาตำแหน่งงานให้ทำตามสถานที่ต่างๆไม่ได้ พร้อมทั้งมีการประกาศตัวต่อต้านอย่างรุนแรง “มันมากูไป จะไม่ให้ความเคารพทั้งหัวหงอกหัวดำ”
คนที่เอา ก็มีเหตุผลว่า ในปัจจุบันสมาคมฯไม่มีรายได้อะไรเลย นอกจากเงินโครงการและค่าสมัครสมาชิกเล็กน้อย ซึ่งก็ไม่แน่นอนในแต่ละปี ถ้ามีรายได้จากการจัดสรรสลากฯให้สมาชิกนำไปจำหน่ายก็จะทำให้สมาคมฯมีรายได้ประจำที่แน่นอน สามารถบริหารงานได้อย่างไม่มีปัญหาทางการเงินเหมือนปัจจุบัน
ท่านผู้พันฯถามผมในเรื่องนี้ว่ามีความเห็นอย่างไร ผมได้ตอบไปว่า “สมาชิกส่วนใหญ่อายุมากแล้ว คงไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษา แต่คงอยากได้อาชีพมากกว่า ถ้าได้สลากฯมาก็คงจะดี เพราะสมาชิกของสมาคมฯจะรู้สึกว่าได้หยิบจับรับอะไรๆ จากสมาคมฯบ้าง ซึ่งแม้ว่าผมจะตอบท่านไปอย่างนั้น แต่ผมก็รู้ว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มของผู้รังเกียจอาชีพขายสลากฯด้วย และเมื่อสลากฯเข้ามาในสมาคมฯผมก็ได้รับการจัดสรรด้วย จำนวน 10 เล่ม(เล็ก) ซึ่งผมก็ไม่สนใจที่จะขายจึงนำไปมอบให้เพื่อนที่ทำงานในสมาคมฯไว้โดยไม่เรียกร้องค่าตอบแทนใดๆ
ต่อจากนั้นไม่นานนักผมก็ได้ข่าวว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นโดยมีคุณสุทธิพงษ์ รัตโนสถ มาเป็นนายกสมาคมฯแทนท่านผู้พันต่อพงษ์ และท่านผู้พันฯได้ไปเป็นเลขาธิการคณะกรรมการเตรียมทีมนักกีฬาคนพิการ เฟสปิกเกมส์
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสมาคมฯผมไม่ได้ให้น้ำหนักเรื่องสลากฯอย่างเดียว แต่การเตรียมทีมนักกีฬาก็สำคัญและในขณะนั้นก็ไม่มีใครเหมาะสมเท่ากับท่านผู้พันฯ.
8 อรรถพล ขาวแจ่ม 8/04/2556 07:28:51
สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยในใจของผม
5. เป็นวิทยากรครั้งแรก
-นับตั้งแต่ผ่านการอบรมการเป็นผู้นำ “สุรินทร์ 1” และเริ่มมีบทบาทในการร่วมขบวนเพื่อเรียกร้องให้คนพิการใช้รถไฟฟ้าธนายงแล้ว ผมก็จะได้รับเชิญจากสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยให้เข้าร่วมการอบรม-สัมมนาอีกหลายแห่ง ซึ่งในแต่ละแห่งผมจะตักตวงเอาความรู้ที่ผมควรจะได้รับให้ได้มากที่สุด โดยการซักถามเอาจากวิทยากรท่านผู้รู้ มีบางครั้งที่ผมถูกตำหนิจากเพื่อนผู้เข้าร่วมงานว่า ถามมาก พูดมาก...ซึ่งผมก็รู้สึกว่า “เราทำไมถึงโง่กว่าใครๆจังเลย” และหลายคน จะขำในคำถามของผม ซึ่งผมก็รู้สึก “อาย” แต่ไม่หยุดที่จะพูด จะถาม เพราะผมคิดว่า เพื่อนที่ตำหนิผม...ไม่ใช่คนเก่ง แต่คนที่ผมถามเก่งกว่า และผมก็มีคติเตือนใจที่ได้จาก เดลล์ คาร์เนลสกี้ ว่า “จงยอมรับในสิ่งที่เราไม่รู้ เพราะการยอมรับนั้นจะทำให้เราฉลาดขึ้น” ซึ่งต่อมาในตอนหลังๆ มีทั้งวิทยากรบนเวทีและเพื่อนๆผู้เข้าร่วมประชุม ขอร้องให้ผมช่วยตั้งคำถาม “นำ” ให้ด้วย ซึ่งผมเองก็แปลกใจ
-ท่านผู้พันฯได้เชิญผมให้เข้าร่วมประชุมสัมมนาเรื่อง การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการฯ ที่จังหวัดภูเก็ต โดยนัดหมายให้ไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบินทหารอากาศดอนเมือง ซึ่งผมได้ไปพบผู้นำคนพิการทั้งแขน-ขาและตาบอดหลายคนรออยู่ที่นั่น รวมทั้งคุณจรัญ แซ่จิว ผู้นำคนพิการจากจังหวัดสุโขทัย ซึ่งมานั่งรอทำตัวเล็กๆอยู่ปากประตูทางเข้าด้วย ซึ่งผมก็ไปเรียกให้เจ้าหน้าที่มาดูแล แล้วเจ้าหน้าที่ก็พาพวกเราไปขึ้นเครื่องบินทหาร ซึ่งเป็นเรื่องตื่นเต้นสำหรับพวกเรา โดยเฉพาะเพื่อนคนพิการตาบอดที่พูดออกมาและผมจำไม่ลืมว่า “เครื่องบินทหารเหรอ เออ...เครื่องมันดังเหมือนรถอีแต๋นเลยเนาะ”
-***ต้องขอขยายเรื่องคุณจรัญไว้ตรงนี้นิดนึงว่า เขาเป็นคนพิการที่เดินไม่ได้ แต่จะคลานไปโดยใช้สันกำปั้นของมือทั้ง 2 ข้างเป็นเท้าหน้า และเข่าทั้ง 2 เป็นเท้าหลัง ซึ่งเข่าทั้ง 2 ข้างก็ไม่เท่ากัน เวลาเคลื่อนไหวจึงไปได้อย่างช้าๆ ยากลำบาก และน่าสมเพชมาก แต่ในภายหลังคุณจรัญได้รับการคัดเลือกจากสมาชิกภาคเหนือให้ขึ้นไปเป็นกรรมการบริหารสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยและมีบทบาทอย่างมากในภาพของคนพิการทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ***
-ในเวทีสัมมนาผมได้รับบทบาทสมมุติ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการประจำจังหวัดด้วย (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อไปเป็น กก.ส่งเสริมฯตามชื่อ พรบ.)
-ผมได้เป็นวิทยากรครั้งแรกในหัวข้อเรื่องว่า “วิธีการก่อตั้งชมรมคนพิการ” โดยได้ขึ้นเวทีร่วมกับ อาจารย์ณรงค์ พี่...อะไรจำไม่ได้ เป็นอัมพาตท่อนล่าง อยู่นครศรีธรรมราช(เสียชีวิตแล้ว) พี่ไสว พรหมจินดา โดยมีท่านผู้พันฯเป็นผู้ดำเนินรายการ
-ผมใช้ประสบการณ์ตรงของผมในการบรรยายในครั้งนั้น ซึ่งผมเรียงลำดับเป็นแผนงานไว้ว่า
1.มีใจ
2.ไปประชาสงเคราะห์
3.เลือกเฉพาะผู้นำ
4.ทำไปตามลำดับ
5.จับเอามาทำงาน
โดยมีคำอธิบายว่า มีใจที่อยากจะก่อตั้งชมรมคนพิการ...ก็ให้ไปที่สำนักงานประชาสงเคราะห์ เพราะที่นั่นเป็นสำนักงานทะเบียนแหล่งรวมรายชื่อของคนพิการ...คัดเลือกเอาคนพิการที่เราเห็นว่าเหมาะสม คือมีความรู้ มีอาชีพ มีประสบการณ์...อยู่ไม่ไกล...พิการไม่มาก...จำนวนไม่เกิน 20 คน...แล้วก็เขียนจดหมายไปปรึกษาพร้อมทั้งชักชวนให้มาประชุมกินข้าวร่วมกันโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย...ถ้าตกลงเห็นชอบ ก็มอบหมายงาน ใครคัดรายชื่อ ใครติดต่อประธาน ใครติดต่อสถานที่ เมื่อถึงวันที่จัดประชุมใหญ่มีคนมาจำนวนมาก เราก็คัดเอาบุคคลที่เราเห็นว่าเหมาะสมเข้ามาเป็นกรรมการของเราได้อย่างสบายๆ ที่เหลือนอกนั้นก็มีชื่อและที่อยู่เพื่อการติดต่อให้เป็นเครือข่ายอย่างดีต่อไป
-ผมไม่มีความตื่นเต้นในการเป็นวิทยากรครั้งแรกเลย เพราะมันเป็นเรื่องเล่าในสิ่งที่ผมได้กระทำแล้ว แต่เมื่อผมลงจากเวทีมาข้างล่างก็มีทั้งเพื่อนคนพิการและไม่พิการมาแสดงความชื่นชมกับผมเป็นจำนวนมาก และนับตั้งแต่บัดนั้น เขาก็จัดให้ผมได้นั่งรับประทานอาหารร่วมกับผู้ใหญ่เสมอๆ แต่ผมก็พยายามปฏิเสธ เพราะการนั่งกับเพื่อนๆผู้น้อยต่างจังหวัด จะได้รับความรู้และรับทราบอารมณ์ที่หลากหลายมากกว่า.
9 ผ่านมาเห็น 8/04/2556 05:48:44
ย้อนไปซะเกิดไม่ทัน หาเสียงลงนายก ป่ะ
10 อรรถพล ขาวแจ่ม 8/04/2556 03:50:21
สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยในใจของผม
4. ร่วมประท้วงรถไฟฟ้า BTS (รถไฟฟ้าธนายง-กรุงเทพมหานคร)
-ในการประชุมเพื่อเปิดชมรมคนพิการพิษณุโลก ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2538 นั้น ท่านพันโทต่อพงษ์ ได้กล่าวชักชวนท้าทายในที่ประชุมไว้ว่า “ชมรมฯพิษณุโลก” จะเข้าร่วมเดินขบวนเรียกร้องให้คนพิการใช้บริการรถไฟฟ้า BTS ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2538 ได้หรือไม่? ซึ่งผมก็ถามที่ประชุมว่า “มีใครอยากจะไปบ้าง” ปรากฏว่ามีคนยกมือ รวมทั้งผมด้วย 20 คนพอดี คนพิการจังหวัดพิษณุโลกจึงได้เข้าร่วมงานกับสมาคมคนพิการแห่งประเทศนับตั้งแต่ก่อตั้งเป็นชมรมฯได้เพียง 6 วัน (โดยได้รับการสนับสนุนค่าอาหารและการเดินทางจากคุณเฟื่องฟ้า ภู่สวาสดิ์ หัวหน้ากลุ่มงานสวัสดิการ ในสมัยนั้น) และเข้าร่วมกิจกรรมกับสมาคมฯตามวาระโอกาสต่างๆมาจนถึงปัจจุบันนี้
-พวกเราเดินทางด้วยรถตู้ 2 คัน ไปร่วมขบวนกับเพื่อนคนพิการอื่นๆที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน ในตอนเช้ามืด ซึ่งมีเพื่อนคนพิการจากสถานที่ต่างๆมาร่วมเดินขบวนเป็นจำนวนมาก โดยท่านผู้พันฯได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและยวดยานพาหนะที่ผ่านไปมาให้ได้ทราบว่าคนพิการจำนวนมากมาทำอะไรกันในวันนี้
-เมื่อถึงเวลา 7 นาฬิกา ขบวนก็เคลื่อนตัวไปยังที่ว่าการกรุงเทพมหานคร ติดกับวัดสุทัศน์ แล้วท่านผู้พันฯก็เริ่มประกาศโจมตี วิธีคิดและการกระทำของ ม.ร.ว.กฤษฎา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ว่าการกรุงเทพมหานครในขณะนั้นว่าไม่มีวิสัยทัศน์และเลือกปฏิบัติต่อคนพิการอย่างไม่เป็นธรรม
-พวกเรารู้สึกตื่นเต้นและตั้งใจฟังในเรื่องที่ผู้พันฯพูดเป็นอย่างมาก ที่ตื่นเต้นเพราะท่านผู้พันฯเป็นคนพิการขนาดหนัก เป็นอัมพาตทั้งตัว พูดไปก็หอบหายใจไป และต้องฉีดน้ำเป็นฝอยใส่หน้า ใส่คออยู่ตลอดเวลา แต่ในคำพูดนั้นห้าวหาญมาก ทั้งขู่ทั้งปลอบ ที่ขู่คือจะเผาทั้งรถเข็นเก่าและไม้ค้ำยันที่นำมากองไว้หน้าที่ว่าการฯ ที่ปลอบคือบอกให้คิดใหม่และแก้สัญญาจัดทำลิฟท์และทางลาดเพื่อให้คนพิการมีสิทธิ์มีส่วนใช้รถไฟฟ้าได้ด้วย เพราะมันเป็นความเท่าเทียมของมนุษย์และจะแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์แห่งคุณธรรมของผู้บริหารกรุงเทพมหานคร
-เวลาประมาณ 10.00 น. มีเจ้าหน้าที่มาเชิญผู้แทนผู้แทนคนพิการขึ้นไปเข้าร่วมประชุมกับคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร โดยผู้ท่านพันฯเรียกผมเข้าไปพบและสั่งว่า “ช่วยเป็นโฆษกประกาศกระตุ้นให้เพื่อนๆตะโกนเสียงดังๆ เพื่อกดดันเวทีประชุมข้างบนด้วย อย่าอยู่กันเงียบๆ ผมจึงได้เป็นโฆษกโดยไม่รู้ตัวมาก่อน แต่ก็พยายามประกาศให้เพื่อนๆตะโกนเสียงดังๆ โดยใช้วิธีตะโกนถาม-ตะโกนตอบเป็นคำสั้นๆ เช่น
-พวกเราเป็นคนไทยใช่ไม๊ เพื่อนๆก็ตะโกนตอบว่า ใช่
-มีสิทธิ์ขึ้นรถไฟใช่ไม๊ เพื่อนๆก็ตะโกนตอบว่า ใช่
-ต้องทำให้พวกเราไม๊ เพื่อนๆก็ตะโกนตอบว่า ต้องทำ
-ถ้าไม่ทำ เลวไม๊ เพื่อนๆก็ตะโกนตอบว่า เลว
-ถ้าไม่ทำ ชั่วไม๊ เพื่อนๆก็ตะโกนตอบว่า ชั่ว
-กฤษฎา โง่ไม๊ เพื่อนๆก็ตะโกนตอบว่า โง่
-พวกเราสู้ไม๊ เพื่อนๆก็ตะโกนตอบว่า สู้ เป็นต้น ซึ่งตอนนั้นผมรู้สึกฮึกเหิมและเร้าใจมาก
-ในตอนสายๆมีคนพิการตาบอด ชื่อ “สำราญ เสมาทอง” มาช่วยเป็นโฆษกด้วย และผมก็เพิ่งเห็นลีลาของเพื่อนตาบอดว่า “เขาใช้คำพูดที่รุนแรงมาก...ไอ้เหี้ย...ไอ้สัตว์...ไอ้ชาติชั่ว...โคตรพ่อโคตรแม่มึง... มีหมดและมีมากกว่านี้ พร้อมทั้งแช่งให้พิการก่อนตายและตายไปให้ตกนรกต่อ” ผมฟังแล้วขนหัวลุกและจำได้ตั้งแต่บัดนั้นว่าคนตาบอดด่าใคร...ไม่มีการมองหน้า...
-***คุณสำราญ ถูกยิงตายในอีกไม่กี่ปีต่อมา ด้วยสาเหตุใดผมไม่ทราบ***
-ผลการเจรจาปรากฏว่าล้มเหลว และกลุ่มผู้นำคนพิการก็พากันกลับลงมาตอนเที่ยงวันกว่าๆ โดยที่ท่านผู้พันฯมีสภาพที่โทรมมาก เมื่อลงมาก็ไปนอนพักในทันทีโดยห้ามทุกคนไปรบกวน
-พวกเราอยู่ในอาการมึนงงกับผลการเจรจา และพักกินข้าวกล่องกลางวันกัน ในขณะที่ท่านอาจารย์ณรงค์กับกลุ่มผู้นำในส่วนกลาง เช่น คุณธีรวัฒน์ ศรีปฐมสวัสดิ์ อาจารย์สุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ จากโรงเรียนมหาไถ่ ก็ประชุมกันและเชิญผมให้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย
-ในการประชุมนั้นมีผู้นำท่านหนึ่งพูดว่า “พวกเราล้ากันแล้ว คงจะประท้วงต่อไปไม่ไหว ปล่อยกับไปบ้านก่อนดีไม๊” -ผมแย้งว่า “พวกเรายังไหวครับแต่ขอพักหลบแดดซักครู่ ตอนนี้ร้อนมาก”
-อาจารย์ณรงค์กล่าวว่า “อรรถพลมั่นใจหรือ” ผมตอบว่า “มั่นใจครับ เดี๋ยวผมปลุกระดมเอง” อาจารย์ณรงค์ก็บอกว่า “ถ้าอรรถพลทำได้ เราจะไปบ้านนายกฯบรรหารกัน”
-แล้วผมก็แยกตัวออกมาเดินไปในกลุ่มต่างๆ โดยการประชุมของคณะผู้นำก็ดำเนินต่อไป
-บ่าย 3 โมง ผมก็ไปจับไมค์ หลังจากที่ปล่อยให้เงียบมานาน และเริ่มต้นประโยคว่า “ขอเสียงหน่อย พวกเรายังสู้อยู่ไม๊” ซึ่งเสียงตอบรับก็กระหึ่มเหมือนเดิม ผมพูดเร้าอารมณ์ไปซักพักก็เชิญอาจารย์ณรงค์มาพูดต่อ แล้วเราก็มีมติเดินเท้าไปบ้านนายบรรหาร ศิลปะอาชา นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ซึ่งเป็นเจ้านายใหญ่ของ ม.ร.ว.กฤษฎา อีกชั้นหนึ่ง
-ตอนตั้งขบวนนั้นผมอยู่ข้างหน้าเพื่อประกาศและกระตุ้น แต่พอเริ่มเดินยังไม่พ้นโค้ง ผมก็หลุดมาอยู่ท้ายขบวน แล้วก็ต้องเหมารถแท็กซี่ขับตามไปจนถึงบ้านนายกฯ บรรหาร ซึ่งนายกฯบรรหารรับปากว่าจะจัดการเพิ่มงบประมาณและจัดทำลิฟท์และทางลาดให้คนพิการอย่างแน่นอน พวกเราจึงแยกย้ายกันกลับบ้าน ซึ่งผมจำได้ว่า ผมส่งคนพิการถึงบ้านที่พิษณุโลกคนสุดท้ายมันเป็นเวลาตี 3 แล้ว
-ผมได้รับการติดต่อให้เข้าร่วมประท้วงรถไฟฟ้าธนายง นับตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปี 2547 ในการติดต่อนั้น เป็นคำสั่งกรายๆว่า ผมต้องเข้าร่วมให้ได้ และเมื่อผมไปถึง หน้าที่ของผมคือโฆษกประจำขบวน ต้องนั่งไปบนรถเครื่องเสียงทุกครั้ง ซึ่งก็มีผู้นำคนพิการอื่นๆสลับกันมาร่วมบ้าง
-ครั้งสุดท้ายที่ผมเข้าร่วมคือปี 2547 มีจำนวนคนร่วมไปในครั้งนี้มากที่สุด เต็ม 1 คันรถบัส โดยพาคนพิการแวะเข้าไปในศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพแห่งชาติที่นนทบุรีก่อน ซึ่งวันนั้นจำได้ว่าเพื่อนๆได้รับรถเข็น 8 คัน ไม้ค้ำยัน 2 คู่ แล้วเราก็ไปจอดรถที่สถานีหมอชิตเก่าเพื่อขึ้นรถไฟฟ้าธนายงเที่ยวปฐมฤกษ์ โดยมี พลตรีสนั่น ขจรประสาธน์ เป็นคนขับ.
-***ลองนับดูซิครับ จากปี 38 ถึง 47 ผมได้ไปร่วมรวมแล้วกี่ปี และในระหว่างหลายปีนั้น... “มัน” ทำไมไม่สร้าง?***
แสดงความคิดเห็น
รายละเอียดกระทู้
สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยในใจของผม คำว่า “ในใจ” ผมหมายถึง... -เป็นความทรงจำ -เป็นสิ่งที่รัก -เป็นความคาดหวัง และเป็นเรื่องเล่าสู่กันฟัง (อย่างกระชับ) เป็นตอนๆ ดังนี้ 1. กำเนิดผู้นำ -บ้านผมอยู่พิษณุโลก ผมพิการด้วยโรคซูซูกิ แขนขาอ่อนแรงมาเป็นเวลา 4 ปีกว่าแล้ว ก่อนที่ผมจะตัดสินใจเดินทาง(กึ่งหนีออกจากบ้าน) ไปเข้ารับการฝึกอาชีพที่ศูนย์ฟื้นฟูอาชีพคนพิการหยาดฝน จังหวัดเชียงใหม่ และผมได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานรุ่นที่ 7 เมื่อปี 2536 -ผมเพิ่งได้พบ ได้เห็น ได้รู้จากที่ศูนย์ฯว่า มีคนพิการอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศไทย และมีหลากหลายสภาพความพิการ ทั้งที่เดินได้และเดินไม่ได้ ทั้งที่ได้เรียนหนังสือและไม่ได้เรียน -ผมสอนหนังสือให้น้องๆที่อ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้ 7 คน ซึ่งพวกเขาตั้งใจเรียนรู้จนสามารถฝึกอาชีพต่อไปได้ -ความคิดที่ว่า “ถ้าอยู่ไม่ได้ก็จะฆ่าตัวตายโดยจะไม่ให้ญาติพี่น้องเดือดร้อนแม้แต่เรื่องเผาศพ” ก็ค่อยๆหมดไป เมื่อผมรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าเมื่ออยู่กับคนพิการด้วยกัน -เพราะได้อ่านวารสาร “เพื่อนเชียงใหม่” ของกลุ่มคนพิการเชียงใหม่ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นแล้วเอาไปมอบให้ศูนย์ฯหยาดฝนจึงทำให้ผมได้รู้จักและโทรฯไปคุยกับ อ.พิพัฒน์ ประสาธสุวรรณ์ ซึ่งท่านแนะนำให้ผมได้รู้จัก(ทางโทรศัพท์)กับท่านพันโทต่อพงษ์ กุลครรชิต ซึ่งเป็นนายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยในขณะนั้น -อ.พิพัฒน์ ได้ให้ทุนผมเดินทางไปเข้าร่วมประชุมใหญ่สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยที่ จ.นครราชสีมา พร้อมกับเพื่อนคนพิการเชียงใหม่ -ผมได้ลุกขึ้นแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่หมอไม่ยอมออกเอกสารรับรองความพิการว่า “หมอโง่” เพราะบอกว่า “คนเดินขาเป๋” เป็น “คนไม่พิการ” โดยหมอคิดเอาว่า “การใส่เสื้อผ้า การนั่งขี้ และการเดินขึ้นบันไดได้” เป็นข้อวินิจฉัยว่า “ไม่พิการ” ทั้งๆที่ในหมู่บ้านตัดสินและเรียกคนพวกนี้ว่า “ไอ้เป๋/อีเปลี้ย” และกลายเป็นคนที่เสียเปรียบทางสังคมไปแล้ว! -ผมมารู้ภายหลังตอนแยกประชุมแต่ละประเภทความพิการจาก อ.ณรงค์ ปฏิบัติสรกิจ อดีตนายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยคนแรก ว่า “ผู้อำนวยศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ” ร้องไห้บนเวทีด้วยคำพูดของผม! -ท่านพันโทต่อพงษ์ พูดว่า “วันนี้ผมดีใจที่ได้เห็นผู้นำคนพิการรุ่นใหม่ปรากฏตัวขึ้น สามารถแย่งไมค์มาจากเพื่อนคนพิการตาบอดได้” แต่ผมไม่ได้คิดว่าเป็นตัวเอง เพราะดูแต่ละคนเป็นผู้ยิ่งใหญ่มากๆ (ซึ่งหลายคนบอกว่าจำผมได้เป็นอย่างดีนับจากวันนั้น) -ในการประชุมครั้งนั้น ทำให้ผมได้รู้ว่า อ.ณรงค์ ป่วยด้วยโรคข้อกระดูกยึดติดทั้งตัว เมื่อนอนท่านก็จะนอนตัวแข็ง เมื่อลุกขึ้นท่านก็จะต้องยืนทันที นั่งไม่ได้ และถ้าทำงาน ท่านก็จะต้องยืนทั้งวัน ไปจนกว่าจะล้มตัวลงนอน เมื่อมองไปที่ขาของท่านเราจะเห็นเส้นเลือดขอดที่ข้อเท้าของท่านเป็นสีดำทั้ง 2 ข้าง และพันโทต่อพงษ์ เป็นอัมพาตทั้งตัว แขนขาอ่อนแรง มือขยับได้ แกว่งได้ แต่หยิบ จับ หรือกำไม่ได้ทั้งสองข้าง ต้องนั่งบนรถเข็นทั้งวันนับตั้งแต่ลุกจากที่นอน! -ท่านแนะนำให้ผมสมัครเป็นสมาชิกสมาคมฯซึ่งต่อมาผมก็ได้สมัครและได้เป็นสมาชิกลำดับที่ 1327 และได้รับและอ่านวารสาร “สายสัมพันธ์” ของสมาคมฯนับจากนั้น -หลังจากที่ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กันระยะหนึ่ง ท่านพันโทต่อพงษ์ ได้ให้เกียรติแก่กลุ่มเพื่อนคนพิการเชียงใหม่โดยการไปจัดอบรมสัมมนาเรื่องการก่อตั้งองค์กรของคนพิการ โดยคนพิการ เพื่อคนพิการ ที่โรงแรมเชียงใหม่ โดยผมมีส่วนนำคนพิการจากศูนย์ฯหยาดฝนเข้าร่วมงานด้วย -อีกไม่นานหลังจากนั้นก็ได้มีการก่อตั้ง “ชมรมคนพิการจังหวัดเชียงใหม่” ขึ้น โดยมีผมร่วมเป็นคณะกรรมการก่อตั้ง บุคคลสำคัญที่ผมจำชื่อได้คือคุณลำยอง และคุณอรพันธ์ กันนัย ซึ่งยังมีบทบาทสำคัญจนถึงปัจจุบัน.คุณนฤมล ผู้หญิงที่เล่นเทนนิสคนแรกของเชียงใหม่ (และยังมีคุณพยาบาล...จำชื่อไม่ได้แล้ว...ถ้าคุณลำยอง/อรพันธ์ ได้อ่านก็กรุณาเติมให้ด้วย) -แล้วผมก็เรียนจบหลักสูตร “จิ้มดีด” (มือข้างเดียว-เครื่องพิมพ์ดีดธรรมดา) จากศูนย์ฯหยาดฝนในเดือนตุลาคม 2536 และได้เดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯกับโรงละครภัทราวดีเธียร์เตอร์ ของคุณภัทราวดี มีชูธน ในตำแหน่งผู้ช่วยประชาสัมพันธ์ -ผมจะเดินทางไปที่สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย เพื่อเรียนรู้ และช่วยทำงานบ้างตามที่ได้รับมอบหมายจากท่านผู้พันฯ แต่ก็ไม่ได้ไปบ่อยๆ เพราะค่ารถแพงมาก ไป-กลับ 6-700 บาท ในแต่ละครั้ง -ผมจำได้ว่า ในครั้งแรกที่ไปสมาคมฯ ผมนั่งเรือข้ามฟากจากฝั่งวังหลังมาขึ้นรถเมล์ ซึ่งวิ่งจากบางประกอกไปปากเกร็ด ที่ฝั่งท่าช้าง เมื่อรถมาถึง ผมก็ต้องรอให้ผู้โดยสารขึ้นรถไปให้หมดเสียก่อนแล้วผมจึงขึ้นเป็นคนสุดท้าย และเมื่อเท้าผมพ้นพื้นดิน รถเมล์กรุงเทพฯก็ออกตัวตัวตามสไตล์ ซึ่งทำให้ผมเซถลาเกือบตกรถ....และนั่นคือการขึ้นรถเมล์ในกรุงเทพฯครั้งแรกและครั้งสุดท้ายของผม!!! ทุกท่านคงทราบแล้วว่า ผมเดินทางด้วยรถอะไร ทำไมจึงต้องจ่ายแพง! -ในเดือนสิงหาคม 2537 ท่านผู้พันฯได้จัดอบรมพัฒนาศักยภาพผู้นำขึ้นที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งผมได้รับเชิญให้เข้ารับการฝึกอบรมด้วย ในขณะฝึกนั้น ผมได้รับบทบาทสมมุติให้เป็นประชาสงเคราะห์จังหวัด(พมจ.ในปัจจุบัน)และก็จบมาได้เป็น “ผู้นำคนพิการรุ่นที่ 1 สุรินทร์” นับตั้งแต่บัดนั้น .........ใครจะแสดงความคิดเห็น/ซักถาม ก็ได้นะครับ..........
จัดฟอร์แม็ตข้อความและมัลติมีเดีย
รายละเอียดการใส่ ลิงค์ รูปภาพ วิดีโอ เพลง (Soundcloud)