วารสาร ม.พ.พ.ท. ประจำเดือนกันยายน 2566
มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย มอบขวัญกำลังใจและเงินสนับสนุนทีมนักกีฬาคนพิการไทย พร้อมสู้ศึกเอเชียนพาราเกม ครั้งที่ 4
18 กันยายน คณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย พร้อมทีมนักกีฬาคนพิการที่จะเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเอเชียนพาราเกม ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 22 – 28 ตุลาคม 2566 ณ เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน นี้ เดินทางมาขอรับพรและโอวาทจาก นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา ประธานมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ที่พรรคชาติไทยพัฒนา โดยมีคณะทำงานจากพรรคชาติไทยพัฒนาร่วมต้อนรับอย่างอบอุ่น อาทิ นายนิกร จำนง กรรมการและเหรัญญิกมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย และคณะกรรมการติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้แก่ นายกนก วงษ์ตระหง่าน, นายสันติ กีระนันทน์ และ อาชวิทธิ์ เจิงกลิ่นจันทน์
โดยพลตรีโอสถ ภาวิไล เลขาธิการคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย กล่าวว่าโดยนักกีฬาคนพิการไทย รำลึกนึกถึงบิดาคนพิการอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเกมใหญ่เกมเล็ก และวันนี้ที่จะเดินทางไปสู้ศึกกีฬาเอเชียนพาราเกม ครั้งที่ 4 นี้ จึงเข้ามาขอรับกำลังใจจากบุคคลที่ถือเป็น ‘บิดากีฬาคนพิการไทย’ นั่นก็คือ นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี และ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย แม้วันนี้นายบรรหารจะไม่อยู่แล้ว แต่ก็ขอเข้ามารับกำลังใจจากตัวแทน ที่ยังคงสนับสนุนนักกีฬาคนพิการไทยในทุกมิติ
เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ทัพนักกีฬาไทย นางสาวกัญจนา ในฐานะประธานมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย กล่าวให้กำลังและเล่าถึงจุดเริ่มต้นของมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทยว่า มูลนิธิเริ่มก่อตั้งจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ นั่นคือความตั้งใจของนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี และ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย เนื่องจากในปี 2542 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัด ‘เฟสปิกเกม’ ครั้งแรก แต่วันนั้นยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปเตรียมความพร้อมและการสนับสนุนในทุกมิติ นายบรรหารจึงรวบรวมทุกสรรพกำลัง เพื่อสนับสนุนให้เฟสปิกเกมเกิดขึ้นได้ และนักกีฬาคนพิการไทย ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มกำลังในที่สุด
“นั่นเป็นครั้งแรกๆ ที่ประชาชนคนไทย ได้เห็นความสามารถและศักยภาพของนักกีฬาคนพิการไทย ขอเพียงการสนับสนุนและแต้มต่อเท่านั้น” นางสาวกาญจนากล่าวและว่า หลังจากนั้น นายบรรหารจึงก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทยขึ้น รวมทั้งได้ก่อตั้งศูนย์ฝึกกีฬาคนพิการไทยขึ้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี และวันนี้ก็ยังเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยด้วย
นางสาวกาญจนาย้ำว่า ความมุ่งมั่นตั้งใจของนักกีฬาพิการไทยนั้น เป็นทั้งแรงบันดาลใจและกำลังใจให้คนพิการและคนไม่พิการ ในเรื่องความมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อ ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคทางร่างกายและมิติสังคม และในเอเชียนพาราเกมนี้ นับเป็นกีฬาที่ทำให้เพลงชาติไทยดังในสนามกีฬาโลกบ่อยครั้งที่สุด เพราะนักกีฬาคนพิการไทย คว้าเหรียญให้คนในประเทศไม่แพ้นักกีฬาของคนไม่พิการเลย จึงขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนได้ทำอย่างเต็มที่ และเมื่อทำอย่างเต็มที่แล้วไม่มีอะไรที่ต้องเสียใจ และขออวยพรให้ทุกท่านเดินทางอย่างปลอดภัย และมีสุขภาพแข็งแรงทั้งก่อนไป ระหว่างแข่งขัน และการเดินทางกลับมา
ขณะที่นิกร กรรมการและเหรัญญิกมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย กล่าวต่อว่า เฟสปิกเกมในปี 2542 นั้น นับเป็นครั้งแรกๆ ที่ทำให้ประชาชนคนไทยเห็นคนพิการ และเดิมพันในการแข่งขันไม่ใช่แค่เหรียญ แต่คือการทำให้คนพิการทั้งประเทศเห็นศักยภาพ และเป็นแรงบันดาลใจ กำลังใจให้คนพิการทั้งประเทศ และการเดินทางครั้งนี้ของนักกีฬาคนพิการไทย ถือเป็นความรับผิดชอบครั้งยิ่งใหญ่ นั่นคือการรับผิดชอบเกียรติและศักดิ์ศรีของนักกีฬาไทยทั้งประเทศ และอวยพรขอให้ทุกคนมีกำลังใจที่ดี ได้ทำเต็มที่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
หลังจากนั้นทางมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ได้มอบเงินสนับสนุนทีมนักกีฬา หลังจากนั้นนางสาวกัญจนาและทีมมูลนิธิ ได้พูดคุยและให้กำลังใจนักกีฬาที่มาแบบรายคน สร้างรอยยิ้มและขวัญกำลังใจให้ทีมนักกีฬาอย่างเต็มเปี่ยม(18 ก.ย.66)