ชี้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติทำยาก หวั่นไร้การตรวจสอบ
"สุรชัย” ชี้แนวคิดตั้งรัฐบาลแห่งชาติยังเร็วไป ขณะ"เสรี”หวั่นไร้การตรวจสอบ “มาร์ค” ชี้ ข้อเสนอ “ปู่พิชัย” ทำ“บิ๊กตู่” ตกที่นั่งลำบาก ระบุรูปแบบไม่ชัดต้องเปลี่ยนโรดแม็พหรือไม่
เมื่อวันที่ 11 ก.ย.นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 กล่าวถึงข้อเสนอเรื่องจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ว่า เร็วไปหรือไม่ที่จะเสนอเรื่อง ตอนนี้ช่วยกันดูแลให้เดินหน้าไปตามโรดแม็พก่อนเพราะเรื่องนี้ต้องให้ฝ่ายการเมืองว่ากันไป เมื่อถามว่า มีฝ่ายการเมืองกังวลว่า สนช.จะเป็นตัวแปรทำให้กฎหมายลูกสะดุดเพื่อให้โรดแม็พเลื่อนออกไปอีกนั้น นายสุรชัย กล่าวว่า เท่าที่รับผิดชอบเป็นประธานกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายหลายคณะก็ยังไม่เห็นว่า มีฉบับไหนสะดุดหยุดลง ขณะเดียวกันก็ยังอยู่ในกรอบเวลาทุกฉบับ ซึ่งการพิจารณากฎหมายลูกขณะนี้ผ่านมาจำนวน 6 ฉบับ หรือเกินครึ่งทางมาแล้วก็ยังเป็นไปตามกรอบเวลา ส่วนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ฝ่ายการเมืองจะต้องพิจารณากันในอนาคตเองว่า อะไรที่เป็นประโยชน์กับชาติมากที่สุด
ด้าน นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตสปท. กล่าวว่า แนวคิดรัฐบาลแห่งชาติน่าจะเป็นไปไม่ได้ในสภาวะบ้านเมืองไทยในขณะนี้ เนื่องจากสภาพปัญหาความขัดแย้งที่สะสมมาอย่างยาวนานในฝ่ายการเมือง เพราะการตั้งรัฐบาลแห่งชาติไม่ใช่แค่ คสช.ฝ่ายเดียว แต่ตัวแปรอยู่ที่ฝ่ายการเมืองที่จะร่วมมือกัน ซึ่งดูโอกาสแล้วแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ส่วนคสช.ถ้าจะไปนำตั้งรัฐบาลแห่งชาติเอง ก็ไม่สามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาวิกฤต ทั้งนี้บ้านเมืองกำลังไปสู่การเลือกตั้ง กล่าวคือมีโรดแม็พเลือกตั้งค้ำคออยู่ ถึงแม้ผลการเลือกตั้งออกมาพรรคการเมืองจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนได้ ก็ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ ที่ประชาชนเลือกใคร ก็อยากให้พรรคนั้นเป็นรัฐบาล ไม่ใช่ให้มารวมกันแล้วตกลงกันเพื่อแบ่งอำนาจ นอกจากนี้การตั้งรัฐบาลแห่งชาติ แม้จะดูลงตัว แต่จะมีปัญหาเรื่องการตรวจสอบจากประชาชนตามมา
ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้จัดรัฐบาลแห่งชาติ ว่า นายพิชัยมองเห็นปัญหาที่มีอยู่ในใจของคนจำนวนมากว่าหาทางออกไม่เจอ เมื่อประเทศเดินต่อไปจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งต้องยอมรับ ว่าแม้เราจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่ความกังวลนี้อยู่ในใจคนจำนวนมาก นอกจากนี้ไม่แน่ใจว่าข้อเสนอของนายพิชัยจะมีรูปแบบใด เนื่องจากพูดเพียงว่านำพรรคการเมืองทุกพรรคมาและให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นหลัก ในการจัดทำเรื่องนี้ แต่ก็พูดไม่ชัดว่าจะก่อนหรือหลังเลือกตั้ง และไม่ได้พูดเจาะจงว่าจะให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี รวมถึงรูปแบบการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นอย่างไร และหากจะจัดตั้งรัฐบาลก่อนเลือกตั้งจะต้องเปลี่ยนโรดแม็พหรือไม่ เพราะหากเกิดขึ้นก่อนเลือกตั้งในทางปฏิบัติคงไม่ง่าย เนื่องจากพรรคการเมืองต่างๆมีความลังเลเป็นพื้นฐานอยู่แล้วว่าจะเข้าร่วมได้อย่างไร เพราะพรรคการเมืองต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากการเลือกตั้ง
“ความอันตรายอย่างหนึ่งของรัฐบาลแห่งชาติ คือ ขาดการตรวจสอบ ในภาวะที่ไม่มีเลือกตั้งและในภาวะพิเศษก็จะมีปัญหา ยิ่งไปกว่านั้น พล.อ.ประยุทธ์ก็อยู่ในฐานะลำบาก เพราะโจมตีนักการเมืองบ่อย การจะบอกว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นความตั้งใจดีไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ขอบอกว่าความขัดแย้งไม่ได้เกิดจากพรรคการเมือง แต่ประชาชนต่างหากคือผู้ที่ให้คำตอบ ถ้าประชาชนไม่ยอมรับพรรคการเมืองว่าทำอย่างนี้ไม่ใช่แนวทางที่ประชาชนสนับสนุน ก็จะมีกลุ่มคนที่ไม่พอใจเคลื่อนไหวอยู่ดี ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะต้องยืนยันในแนวทางและโรดแม็พที่วางไว้ “ นายอภิสิทธิ์ กล่าว.