นายกฯแถลงผลประชุมACD เดินหน้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนสู่ประชาคมเอเชีย
การประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชียครั้งที่ 2 (ACD) ปิดฉากลงแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ 2 โดยมีผู้นำ 34 ประเทศเข้าร่วม ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นการรวมตัวที่สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เนื่องจากมีการเห็นพ้องเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างวิสัยทัศน์ความร่วมมือเอเชีย ค.ศ.2030 เพื่อเดินหน้าประเทศไปอีก 14 ปีข้างหน้า โดยความร่วมมือพัฒนา 6 เสาหลักไปสู่ความพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยความเชื่อมโยงระหว่างความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว และมีการรับรองปฏิญญากรุงเทพ กำหนดมาตรการพิมพ์เขียว 5 ปี เพื่อนำวิสัยทัศน์ร่วมไปสู่การปฏิบัติความร่วมมือใน 6 เสาหลัก และที่ประชุมยังเห็นพ้องการจัดตั้งสำนักเลขาธิการACDที่ประเทศคูเวต
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยเสนอตัวเป็นผู้ขับเคลื่อนในการบริหารสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางที่ทำให้เกิดผลสำเร็จในด้านต่างๆ และมีการรับรองแถลงการณ์ ACD ประกาศบทบาทของของเอเชียโดยเฉพาะช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกกำลังช่วงฟื้นตัวอย่างช้าช้าพร้อมกับรับมือความผันผวนที่เกิดขึ้นในอนาคต โดยทุกคนเชื่อมั่นว่าเอเชียยังคงเป็นประเทศที่มีศักยภาพและแข็งแกร่ง ACD เป็นกรอบความร่วมมือที่มีสภาพและใช้จุดแข็งของประเทศสมาชิกเป็นประโยชน์ร่วมกันได้
นายกรัฐมนตรี ย้ำด้วยว่า ไม่อยากให้ระบุว่าใครเป็นผู้นำแต่ให้เดินหน้าไปพร้อมกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังจึงต้องเร่งรัด ขจัดปัญหาอุปสรรคและเร่งทำข้อกำหนดและทำอย่างไรให้แผนต่างๆนำไปสู่ผลการปฏิบัติได้โดยเร็วจึงต้องหาวิธีการทำงานในทุกมิติ
นอกจากนี้ การประชุมในครั้งนี้ยังเป็นครั้งแรกที่ผู้นำ ACD ได้มีโอกาสได้รับฟังข้อเสนอทางภาคธุรกิจเอกชนของประเทศสมาชิกหลายประเทศเข้าร่วม โดยเฉพาะยิ่งการส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงินผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การส่งเสริมความร่วมมือในลักษณะหุ้นส่วนระหว่างรัฐเอกชนและประชาชน
ด้านนายแจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งบริษัทอาลีบาบา ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ รายใหญ่ในประเทศจีน ได้กล่าวนำเสนอผลการประชุมกรอบความร่วมมือเอเชีย หรือเอซีดี คอนเนค บิซิเนซ ฟอรั่ม 2016 ของภาคธุรกิจที่จัดขึ้นเมื่อวานนี้ ต่อที่ประชุมว่า ปัจจุบันทุกคนมองว่าภาคเศรษฐกิจของโลกกำลังเผชิญปัญหา ซึ่งเราควรทำให้กระบวนการโลกาภิวัฒน์เป็นไปอย่างมีส่วนร่วม ช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กและคนรุ่นใหม่ เพราะที่ผ่านมา โลกาภิวัฒน์เกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น ประกอบกับทวีปเอเชียเป็นพื้นที่ที่เป็นโอกาสอันดีของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งในปัจจุบันเอเชียมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมากที่สุดในโลก และการใช้โทรศัพท์มือถือทำให้คน 4 พันล้านคนเชื่อมต่อกัน ซึ่งจะนำไปสู่การซื้อขายและทำธุรกิจในที่ใดก็ได้ในโลก หากภาคธุรกิจเปิดรับเทคโนโลยีและโลกาภิวัฒน์ ก็จะสามารถมีกำลังในการแข่งขันได้เช่นกัน และเทคโนโลยีจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ทำให้คนตกงาน เพราะสิ่งที่ทำให้คนตกงานคือความคิดที่ล้าหลัง ภาครัฐจึงควรออกนโยบายที่สอดรับกับเทคโนโลยี และสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับธุรกิจขนาดเล็ก และช่วยเหลือคนรุ่นใหม่ ให้มีความคิดสร้างสรรค์ ทำให้ทวีปเอเชียมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำทั้งในทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของโลก