มาสเตอร์โพล สำรวจผู้นำชุมชนพอใจผลงาน 2 ปี คสช.ความมั่นคง

มาสเตอร์โพล สำรวจผู้นำชุมชนพอใจผลงาน 2 ปี คสช.ความมั่นคง

"มาสเตอร์โพล" เผย สำรวจผลงาน 2 ปี คสช. แกนนำชุมชนพอใจงานมั่นคง สร้างบรรยากาศความปรองดองในสังคม ปราบกลุ่มหมิ่นสถาบัน โดนใจจัดระเบียบสังคม

เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. คณะผู้วิจัยไทย บริษัท มาสเตอร์โพล จำกัด เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพล ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่องความคิดเห็นประชาชนที่มีต่อผลการดำเนินงานของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ในห้วงเวลา 2 ปี ที่เข้ามาบริหารประเทศ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่พอใจต่อการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล และ คสช. โดยเฉพาะการดำเนินงานด้านความมั่นคง การสร้างบรรยากาศความปรองดองและสมานฉันท์ และการดำเนินงานด้านสังคมและจิตวิทยา โดยคณะผู้วิจัยได้ทำการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,085 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 27-29 พ.ค. 59

โดยแบ่งออกเป็น 7 ด้าน ประกอบด้วย ด้านความมั่นคง พบว่า แกนนำชุมชน ให้คะแนนต่อการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของ คสช. ในด้านการรับรู้และเข้าใจต่อนโยบายของรัฐบาล ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา (10 คะแนน) ให้ 8.42 คะแนน มีความพึงพอใจ 8.42 คะแนน โดยประเด็นที่ประชาชนพึงพอใจมากที่สุดคือ มาตรการการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับสถาบันฯ เช่น การจับกุมบุคคลที่กระทำการหมิ่นเบื้องสูง เว็บไซต์หมิ่น และการปกป้องเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ ถึงร้อยละ 96.7 รองลงมาคือ มาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ร้อยละ 93.3 และการจัดระเบียบสังคม เช่น การจัดระเบียบชายหาด รถตู้สาธารณะ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ร้อยละ 93.1

ด้านเศรษฐกิจ กลุ่มแกนนำชุมชน ให้คะแนนการรับรู้และเข้าใจต่อการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และมาตรการการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของ คสช. 7.93 คะแนน มีความพึงพอใจ 7.83 คะแนน โดยเฉพาะการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งของประเทศ ร้อยละ 88.5 รองลงมาคือ การให้สินเชื่อเกษตรกรร้อยละ 86.9 และการช่วยเหลือเกษตรกรจากปัญหาภัยแล้ง เช่น การจ่ายเงินชดเชยเกษตรกร มาตรการลดต้นทุนการผลิต ร้อยละ 86.0 ด้านสังคมและจิตวิทยา กลุ่มแกนนำชุมชน ให้คะแนนการรับรู้และเข้าใจต่อการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และนโยบายการดำเนินงานด้านสังคมและจิตวิทยา 8.20 คะแนน มีความพึงพอใจ 8.11 คะแนน โดยเฉพาะประเด็น การส่งเสริมวัฒนธรรม การท่องเที่ยวและกีฬา ร้อยละ 95.4 รองลงมาคือ การจัดงานและกิจกรรมเพื่อส่งเสริมศาสนาและวัฒนธรรม เนื่องในวันสำคัญต่างๆ ร้อยละ 93.5 และโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ร้อยละ 89.9

ด้านการต่างประเทศ กลุ่มแกนนำชุมชน ให้คะแนนการรับรู้และเข้าใจต่อการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และนโยบายด้านการต่างประเทศ 7.88 คะแนน มีความพึงพอใจ 7.87 คะแนน โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือและคุ้มครองคนไทยในต่างประเทศ เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัยในต่างแดน ร้อยละ 92.7 รองลงมา การส่งเสริมบทบาทที่สร้างสรรค์ของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ การเข้าร่วมประชุมในระดับนานาชาติ ร้อยละ 91.4 และการเสริมสร้างความเชื่อมั่น และชี้แจงทำความเข้าใจถึงสถานการณ์ของประเทศไทยต่อต่างประเทศ ร้อยละ 89.8 ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กลุ่มแกนนำชุมชน ให้คะแนนการรับรู้และเข้าใจต่อการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และนโยบายด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 8.08 คะแนน มีความพึงพอใจ 8.10 คะแนน มากที่สุดคือ นโยบายการปรับปรุงระบบการช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย และค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ร้อยละ 87.5 และการปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัยและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย ทั้งด้านความปลอดภัย การบริการและการอำนวยความสะดวก ร้อยละ 85.8 ด้านการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

กลุ่มแกนนำชุมชน ให้คะแนนการรับรู้และเข้าใจต่อการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และนโยบายด้านการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 7.76 คะแนน มีความพึงพอใจในการดำเนินงาน 7.76 คะแนน มากที่สุดคือ การป้องกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และการเยียวยาแก่ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อยละ 88.6 รองลงมาคือ มาตรการแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การผลักดันกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขในพื้นที่ให้มีความคืบหน้า ร้อยละ 84.6 และการพัฒนาพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยบูรณาการงานความมั่นคงและงานพัฒนาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 84.4 ด้านการสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดองและสมานฉันท์ กลุ่มแกนนำชุมชน ให้คะแนนการรับรู้และเข้าใจต่อการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และนโยบายด้านการสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดองและสมานฉันท์ 8.31 คะแนน และมีความพึงพอใจ 8.31 คะแนนเช่นกัน โดยเฉพาะประเด็นการจัดระเบียบสื่อและวิทยุชุมชนผิดกฎหมาย ร้อยละ 91.1 รองลงมาคือ การสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดองและสมานฉันท์ของคนในสังคม ร้อยละ 89.4 การเร่งปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ร้อยละ 89.3 และการเร่งรัดสะสางคดีคู่ขัดแย้งทางการเมืองให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 88.7

ทั้งนี้ เมื่อมีการจำแนกตามภูมิภาค พบว่า กลุ่มแกนนำชุมชน มีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และ คสช. มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน อาทิ นโยบายการเร่งปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม พบว่า ประชาชนในภาคใต้มีการรับรู้และเข้าใจถึงร้อยละ 100 รองลงมาคือ ภาคเหนือ ร้อยละ 99.5 ภาคกลาง ร้อยละ 98.9 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 98.6 และกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 95.8 รองลงมาคือ การเร่งรัดสะสางคดีคู่ขัดแย้งทางการเมืองให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และการป้องกันการบุกรุกป่า การทวงคืนผืนป่าที่ถูกบุกรุก

ส่วนมาตรการเรื่องปากท้อง กลุ่มแกนนำชุมชน ระบุว่า พอใจต่อการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล และ คสช. โดยเฉพาะประชาชนภาคเหนือ พึงพอใจต่อการแก้ไขปัญหาขายสลากเกินราคา ถึงร้อยละ 94.1 ส่วนประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พึงพอใจต่อการช่วยเหลือเกษตรกรจากภัยแล้ง ร้อยละ 89.3 ภาคกลาง พอใจต่อการปราบปรามผู้มีอิทธิพล อาวุธสงคราม ยาเสพติด บ่อนการพนัน ถึงร้อยละ 88.0 ภาคใต้ พอใจต่อการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายทั้งระบบ ร้อยละ 89.8 และกรุงเทพมหานคร พึงพอใจต่อการจัดระเบียบสังคม เช่น รถตู้สาธารณะ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ร้อยละ 90.5

ทั้งนี้ จากการสำรวจ คณะผู้วิจัย พบว่ากลุ่มแกนนำชุมชน ระบุว่า ยังให้การสนับสนุนจุดยืนการทำงานของ คสช. อยู่ในระดับที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผลสำรวจล่าสุด วันที่ 27 พ.ค. 59 พบว่า กลุ่มแกนนำชุมชน ยังให้การสนับสนุน คสช. ร้อยละ 74.9 ขออยู่ตรงกลาง ร้อยละ 24.3 และมีเพียงร้อยละ 0.8 ไม่สนับสนุน

ขอบคุณ... http://www.thairath.co.th/content/632342

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 5 มิ.ย.59
วันที่โพสต์: 6/06/2559 เวลา 09:13:23 ดูภาพสไลด์โชว์ มาสเตอร์โพล สำรวจผู้นำชุมชนพอใจผลงาน 2 ปี คสช.ความมั่นคง

ห้องการเมือง