ชงครม.ช่วยพื้นที่เกษตรน้ำท่วมไร่ละ3พันบาท
รมช.ชุติมา เผยเตรียมเสนอ ครม.ช่วยพื้นที่เกษตร นาข้าวหอมมะลิ เสียหายสิ้นเชิง ไร่ละ 3 พันบาทพร้อมจัดหาเมล็ดพันธุ์ให้ลงมือปลูกใหม่กลางเดือน ส.ค.นี้
เมื่อวันที่ 2 ส.ค.นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่เกิดอุทกภัย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน โดยเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมเขตชุมชนและพื้นที่การเกษตร โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 48 เครื่อง ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพะเยา,สกลนคร,ชัยภูมิ,ร้อยเอ็ด,ขอนแก่น,มหาสารคาม, มุกดาหาร และอุบลราชธานี ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 40 เครื่อง ในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสกลนครและ นครพนม เร่งซ่อมแซมคันดิน ทำนบดิน พนังกั้นน้ำที่เสียหาย รวมทั้งการบรรเทาความเดือดร้อนด้านปศุสัตว์ โดยสนับสนุนพืชอาหารสัตว์ 183,800 กิโลกรัม แร่ธาตุและเวชภัณฑ์ 4,106 ชุด รวมทั้งดูแลสุขภาพสัตว์ 1,662 ตัว ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลพบุรี อุบลราชธานี บุรีรัมย์ มหาสารคาม สกลนคร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด อพยพสัตว์และดูแลสุขภาพสัตว์ โดยจัดทีมสัตวแพทย์ จำนวน 150 นาย กระจายในพื้นที่ประสบอุทกภัย
นอกจากนี้ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการขอรับบริจาคสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และจัดตั้งหน่วยบริการเคลื่อนที่ให้บริการซ่อมแซมเครื่องจักรกลการเกษตรแก่สมาชิกสหกรณ์ ส่วนมาตรการในระยะต่อไป จะดำเนินการหยุดยั้งความเสียหาย โดยระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วม มีการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดโรคระบาดพืช โรคระบาดสัตว์ ในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย และหากกรณีเกิดน้ำท่วมขัง ได้เตรียมการบำบัด โดยน้ำหมักชีวภาพ จากนั้นจะฟื้นฟูให้ดีกว่าเดิม โดยสำรวจความเสียหายด้านพืช ด้านประมง ด้านปศุสัตว์ เพื่อช่วยเหลือตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งลดภาระหนี้สิน ให้แก่ สมาชิกสถาบันเกษตรกร สมาชิก สปก. และสมาชิกกองทุนหมุนเวียน โดยกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) สนับสนุนเงินทุนเพื่อช่วยเหลือสมาชิกสถาบันเกษตรกร จำนวน 300 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ
รวมทั้งจะเสนอครม.เพื่อช่วยเหลือกรณีภัยพิบัติฉุกเฉิน ไร่ละ 3,000 บาทในพื้นที่เกษตรเสียหายสิ้นเชิง โดยจะสำรวจทันทีหลังจากน้ำลด ซึ่งพื้นที่ภาคอีสาน ในขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกข้าวหอมะลิ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ปลูกไปแล้วมาเกิดน้ำท่วมขึ้นทำให้เสียหายจำนวนมากหลายล้านไร่ และหากเลยจากนี้ไปจะปลูกไม่ได้เพราะข้าวหอมมะลิ ต้องปลูกในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับช่วงแสง จึงต้องเร่งเข้าไปช่วยเหลือ โดยเฉพาะจัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าว ไปให้เกษตรกรได้ลงมือปลูกใหม่ ทั้งปลูกแซมในส่วนที่เสียหายบางส่วน ก่อนกลางเดือนส.ค.นี้
ด้านนายพีรพันธ์ คอทอง ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ได้สรุปสถานการณ์ผลกระทบด้านการเกษตร รวมทั้งสิ้น 35 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 13 จังหวัด ภาคอีสาน 19 จังหวัด ภาคกลาง 3 จังหวัด เกษตรกร 527,231 ราย แบ่งเป็น ด้านพืช 35 จังหวัด เกษตรกร 463,357 ราย พื้นที่ประสบภัย 4.14 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าว 3.77 ล้านไร่ พืชไร่ 0.33 ล้านไร่ พืชสวนและอื่น ๆ 0.04 ล้านไร่ ด้านประมง 17 จังหวัด เกษตรกร 24,786 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำประสบภัย 17,785 ไร่ (บ่อปลา) กระชัง 1,422 ตร.ม. และด้านปศุสัตว์ 12 จังหวัด เกษตรกร 39,088 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 957,523 ตัว แบ่งเป็น โค-กระบือ 96,761 ตัว สุกร 22,373 ตัว แพะ-แกะ 1,105 ตัว ม้า 95 ตัว สัตว์ปีก 837,189 ตัว แปลงหญ้า 452 ไร่ และด้านสหกรณ์ สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรผู้ประสบภัย 300 สหกรณ์ สมาชิก 50,000 ราย ซึ่งมีการกู้ยืมเงินพัฒนาสหกรณ์ 22 แห่ง วงเงินกู้ 38.28 ล้านบาท
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการขนย้ายปศุสัตว์ไปยังพื้นที่ปลอดภัย และสนับสนุนเสบียงอาหารสัตว์ไปแล้ว 183 ตัน และหน่วยงานในสังกัดได้เตรียมการสนับสนุนปัจจัยการผลิตไว้แล้ว อาทิ เมล็ดพันธุ์ข้าว 182 ตัน พันธุ์ถั่ว 103 ตัน พันธุ์ผัก 2,000 ซอง ซึ่งจะสามารถช่วยบรรเทาสถานการณ์ ลดการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์พืช และสร้างรายได้เพิ่มเติมภายหลังน้ำลดได้ นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 14 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำ 26 เครื่องที่จังหวัดสกลนคร คาดว่าจะสามารถระบายน้ำให้กลับสู่สถานการณ์ปกติได้ภายใน 4 – 5 วัน รวมทั้งได้จัดทีมหน่วยเฉพาะกิจ 18 ทีม เพื่อตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย และให้คำแนะนำในด้านต่างๆ โดยการแจ้งสิทธิ์การได้รับการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ และสำรวจความเสียหายพื้นที่ภายใน 7 วัน อย่างไรก็ตามสามารถติดตามข่าวสารและความช่วยเหลือจากกระทรวงเกษตรฯ ที่สายด่วน 1170 และติดตามสถานการณ์น้ำ ที่สายด่วนกรมชลประทาน 1460.