วัดบารมีการเมือง สุเทพ-ยิ่งลักษณ์ เกมล้มคณะไต่สวนคดีทุจริต ป.ป.ช.
แข่งเรือ แข่งพาย แข่งกันได้ แต่จะแข่งบุญวาสนานั้นอาจเป็นเรื่องยาก เช่นเดียวกับต้นทุนบารมีทางการเมืองของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย อดีตเลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กับ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี
เพราะหลังจากที่ “สุเทพ” เป็นหนึ่งในตัวละครที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งข้อกล่าวหาทุจริตโครงการสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่ง เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2558 ว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อก่อให้เกิดความเสียหายต่อ สตช.และทางราชการอย่างร้ายแรง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ทว่า… เวลาล่วงมา 2 ปีเศษ คดียังอยู่ในชั้นอนุกรรมการไต่สวน และ “วิชา มหาคุณ” กรรมการ ป.ป.ช.เวลานั้น และเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการไต่สวน แม้บัดนี้เกษียณอายุ แต่ก็ยังได้ไปเป็นอนุกรรมการไต่สวนคดีทุจริตจัดสร้างโรงพักดังกล่าว
8 ก.พ. 2560 “สุเทพ” จึงมีหนังสือถึง “พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ” ประธาน ป.ป.ช. เพื่อขอความเป็นธรรมให้เปลี่ยนคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ โดยมีใจความว่า “วิชา” มี “อคติ” กับตน
“ตนสังเกตเห็นท่าทีแสดงออกเหมือนไม่ใส่ใจต่อคำชี้แจงของตน ทำให้วิตกว่าอาจมีความเห็นที่เป็น “อคติ” เพราะในอดีต นายวิชาเคยไม่พอใจตนเรื่อง มติ ก.ตร. ต่อกรณี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ที่ไม่สอดคล้องกับมติ ป.ป.ช. ซึ่งชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง ในคดีสลายการชุมนุมของพันธมิตรฯ เมื่อ 7 ตุลาคม 2551 โดยนายวิชาเข้าใจว่าตนมีส่วนสำคัญในมติดังกล่าว ในฐานะประธาน ก.ตร.ขณะนั้น จึงเกรงว่านายวิชายังอาจมี “อคติ” ต่อตนอยู่ จึงขอเรียกร้อง 2 ประการ ดังนี้”
1. ขอเปลี่ยนคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงในคดีที่อ้างถึง เป็นอนุกรรมการชุดใหม่เข้าทำหน้าที่แทน
2. ขอโอกาสเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงในคดีโดยวาจาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เต็มคณะ ก่อนที่จะมีมติชี้มูลความผิดหรือไม่
“สุเทพ” ปิดท้ายหนังสือว่า “เพื่อความเป็นธรรมในการดำเนินกระบวนการไต่สวนคดีนี้ ขอได้โปรดอนุญาตด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง”
ต่อมาที่ประชุม ป.ป.ช.ได้มีการยกเลิกคณะอนุกรรมการไต่สวนที่ “วิชา” ร่วมเป็นกรรมการแล้ว และเปลี่ยนไปใช้กรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่เต็มคณะเป็นผู้ไต่สวน ตามหนังสือขอความเป็นธรรมของนายสุเทพ
อาจเรียกได้ว่าร้องครั้งเดียวก็ทำให้ ป.ป.ช.ต้องเปลี่ยนคณะผู้ไต่สวนคดี
หากเทียบ “ยิ่งลักษณ์” จากกรณีทุจริต “จำนำข้าว” เคยทำหนังสือคัดค้านบุคคลที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงในลักษณะเดียวกับ “สุเทพ” มาแล้ว 10 ครั้ง
เป็นการขอเปลี่ยนตัว “สุภา ปิยะจิตติ” ป.ป.ช.จากการเป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง “ยิ่งลักษณ์” ที่มีอยู่ 6 คดี ถึง 6 ครั้ง
ครั้งแรก เมื่อ 1 มีนาคม 2559
“ยิ่งลักษณ์” อ้างว่า “สุภา” มีอคติกับตนเอง เพราะมีสาเหตุโกรธเคืองตนมาก่อน และได้ปฏิบัติต่อในทางเป็นปฏิปักษ์ เป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วไป
ครั้งที่ 2 เมื่อ 22 มีนาคม 2559
“ยิ่งลักษณ์” อ้างเพิ่มเติมจากครั้งแรกว่า สาเหตุที่ “สุภา” โกรธเคืองเพราะย้ายจากรองปลัดกระทรวงการคลังที่ดูแลหนี้สินและรายจ่าย ไปเป็นรองปลัดฯ แม่บ้าน ซึ่งดูเรื่องบริหารทั่วไป โดย “สุภา” เข้าใจว่าถูกรัฐบาลลดบทบาทอันเป็นสาเหตุความโกรธเคือง และยังร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส.
ครั้งที่ 3 เมื่อ 10 พฤษภาคม 2559 “ยิ่งลักษณ์” สำทับอีกครั้งว่า “สุภา” มีอคติต่อตนเองจริง และยังไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง โดยจงใจหรือบกพร่องอย่างร้ายแรงให้ความลับทางราชการรั่วไหลไปยังฝ่ายค้าน
ครั้งที่ 4 เมื่อ 13 มิถุนายน 2559 “ยิ่งลักษณ์” อ้างเพิ่มเติมว่า “สุภา” ไปเป็นพยานเบิกความในฐานะพยานฝ่ายโจทก์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีโครงการรับจำนำข้าวซึ่งถือเป็นคู่ขัดแย้งอย่างชัดเจน
ครั้งที่ 5 เมื่อ 22 มิถุนายน 2559 “ยิ่งลักษณ์” ขอเปลี่ยนตัว “สุภา” จากการเป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนกรณีจ่ายเงินเยียวยาผู้ชุมนุมทางการเมืองรายละ 7 ล้านบาท
ครั้งที่ 6 เมื่อ 27 มิถุนายน 2559 “ยิ่งลักษณ์” ระบุเพิ่มเติมว่า สมัยที่ “สุภา” เป็นประธานอนุกรรมการปิดบัญชี ไม่ยอมบันทึกบัญชีข้าวจำนวน 2 ล้านตันเศษจนถูกรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบท้วงติง และโต้แย้งว่าข้าวไม่ได้หาย
และคัดค้าน “วิชา มหาคุณ” ออกจากการเป็นกรรมการไต่สวนคดีจำนำข้าวที่ “ยิ่งลักษณ์” เป็นผู้กล่าวหาถึง 3 ครั้ง
ครั้งแรก วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2557 ครั้งที่สอง วันที่ 20 มีนาคม 2557 และครั้งที่สาม วันที่ 8 เมษายน 2557
“ยิ่งลักษณ์” ร้องให้เปลี่ยนตัว สุภา-วิชา ถึง 9 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ นำไปสู่ฉากหนีการฟังคำพิพากษา 25 สิงหาคม 2560
ต้นทุน-บารมีการเมืองระหว่าง “สุเทพ” กับ “ยิ่งลักษณ์” จึงไม่เท่ากัน
ด้วยประการฉะนี้