เปิดใจว่าที่ ส.ส.อนาคตใหม่ "เม่น ไทยแลนด์" คนพิการทางกายหนึ่งเดียวในสภา
นายปริญญา ช่วยเกตุ คีรีรัตน์ หรือ “เม่น ไทยแลนด์” อายุ 43 ปี ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ชาว จ.ตรัง ซึ่งลงสมัครในอันดับ 23 ได้เปิดบ้านต้อนรับเพื่อนฝูงและพี่น้องประชาชนจำนวนหนึ่ง ที่เดินทางมาร่วมแสดงความยินดี ในฐานะที่จะได้เป็น ส.ส.ชาวตรังคนแรก ที่สังกัดพรรคการเมืองอื่น นอกเหนือไปจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นแชมป์เก่า ในรอบกว่า 30 ปี รวมทั้งจะได้เป็นผู้ที่พิการร่างกาย ด้านขาซ้าย เพียงคนเดียว ที่เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรของไทยในการเลือกตั้งครั้งนี้
นายปริญญา เปิดเผยกับสำนักข่าว อมรินทร์ ทีวี ว่า ก่อนหน้านี้ตนเคยรวมทีมลงสมัครการเมืองท้องถิ่น ในเทศบาล ต.ท่าพญา อ.ปะเหลียน จ.ตรัง มาแล้ว โดยตนเสนอตัวขอเป็นรองนายกเทศมนตรี แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จากนั้นจึงมุ่งทำหน้าที่นักกีฬาคนพิการทีมชาติไทยจนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง
กระทั่งเมื่อมีการตั้งพรรคอนาคตใหม่ จึงเสนอโปรไฟล์เข้าไปยัง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และผู้บริหารพรรค ว่าอยากให้โอกาสคนพิการเข้าไปนำเสนอปัญหาในสภาบ้าง ซึ่งก็ได้รับความเห็นชอบให้ลงสมัคร ส.ส.ทันที ทั้งที่ปกติผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคอื่น จะเน้นนายทุนหรือคนดัง
แต่อนาคตใหม่กลับเปิดโอกาสให้ทุกคนทุกอาชีพ รวมทั้งคนพิการ จนตนได้ลงในอันดับที่ค่อนข้างดีคือ 23 และไม่คาดคิดว่าจะได้รับการเลือกตั้ง โดยไม่ว่าจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ ก็จะต่อสู้เพื่อพัฒนาสังคมผู้พิการอย่างเต็มที่ และสร้างกติกาที่เป็นธรรม รวมทั้งพัฒนา จ.ตรัง ที่ล้าหลังจากจังหวัดอื่นๆ ในหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องปากท้อง และการท่องเที่ยว
สำหรับ นายปริญญา เป็นนักกีฬาเทเบิ้ลเทนนิสคนพิการทีมชาติไทย ที่มีผลงานระดับนาชาชาติมาแล้วหลายรายการ โดยเฉพาะการคว้าเหรียญเงินจากการแข่งขันประเภททีมชาย คลาส 8 คัพ ในเอเชียนพาราเกมส์ 2018 ที่อินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 3-16 ต.ค. 61 และเคยคว้าเหรียญทองแดง ในเอเชียนพาราเกมส์ 2014 ที่เกาหลีใต้ มาแล้วด้วย
พร้อมทั้งยังมีผลงานในระดับอื่นๆ อีกมากมาย จนล่าสุดได้รับโล่เกียรติบัตรคนพิการต้นแบบระดับประเทศ จากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อปี 2561 ก่อนที่จะสนใจการเมืองและสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่เมื่อปีที่แล้ว และได้รับเลือกให้ลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อในที่สุด
โดยก่อนหน้านี้เมื่อครั้งที่ นายปริญญา คว้าเหรียญเงิน เอเชียนพาราเกมส์ 2018 และได้นำเงินส่วนหนึ่งจากการอัดฉีด 500,000 บาท ไปซื้อจักรยานไฟฟ้า แล้วขี่จากกรุงเทพฯ กลับมายัง จ.ตรัง ในช่วงระหว่างวันที่ 18-24 ตุลาคม 2561 รวมเวลา 7 วัน โดยลำพัง เพื่อที่จะบอกในสังคมให้รับรู้ว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกัน เช่น เมื่อแข่งขันชนะได้รับเหรียญเหมือนกัน สร้างชื่อเสียงเหมือนกัน แต่หลังจากนั้น คนพิการจะได้รับการช่วยเหลือเสมือนครึ่งคนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อ นายปริญญา ถึงบ้านเกิด กลับไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับแต่อย่างใด ทั้งที่ไปสร้างชื่อเสียงให้กับ จ.ตรัง จนเป็นแรกผลักดันให้เจ้าตัวลุกขึ้นมาสู้เพื่อคนพิการในวันนี้
ขอบคุณ... https://www.sanook.com/news/7723971/