ชง‘ยาแรง’กติกาการเมืองยุคใหม่ กรธ.ไขปมกฎหมายคุมพรรค

ชง‘ยาแรง’กติกาการเมืองยุคใหม่ กรธ.ไขปมกฎหมายคุมพรรค

ขณะที่นายกรัฐมนตรี ได้ทูลเกล้าฯ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปแล้ว ระหว่างนี้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ นำโดย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ก็ได้เตรียมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ ก่อนนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปที่ กำหนดให้มีขึ้นช่วงปลายปี 2560 นี้

สำหรับร่างพ.ร.ป.ที่มีการพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก คือร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เพราะมี “ยาแรง” ที่กรธ.กำหนดขึ้นสำหรับกำราบพรรคการเมืองและนักการเมือง ให้อยู่ในครรลองครองธรรม

นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ฐานเศรษฐกิจ” เปิดใจทุกประเด็นร้อน ตลอดจนความคืบหน้าในการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างพ.ร.ป.กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า ตามกรอบแผนงานของ กรธ. อยากทำให้แล้วเสร็จก่อนจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดว่าน่าจะทำให้เสร็จได้ภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้

“กรธ.ตั้งใจไปถึงขั้นที่ว่า จะทำการเปรียบเทียบให้เห็นว่า เราเปลี่ยนเพราะอะไร ที่สำคัญเพื่อให้สาธารณะชนได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นว่า สิ่งเหล่านี้จะเป็นทางแก้ปัญหาทางการเมืองของบ้านเราได้อย่างไร ซึ่งกรธ.ต้องส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาขั้นตอนสุดท้ายอีกครั้ง ดังนั้น กรณีที่บอกว่า ให้ประหารชีวิตกรณีซื้อขายตำแหน่ง ทาง สนช.อาจเห็นว่าแค่ปรับเปลี่ยนตัวกรรมการบริหารก็พอ หรือไม่อาจแรงกว่าเรา ให้ประหารสองหนก็ได้ (หัวเราะ) ก็ต้องรอดูกัน”

ไม่คิด “เซตซีโร่” พรรคการเมือง

สำหรับตัวร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ส่วนใหญ่พิจารณาไปแล้ว มีบางมาตราที่ส่งกลับไปให้อนุกรรมการฯ ช่วยร่างตามหลักการ ปรับถ้อยคำให้เกิดความชัดเจน มีแต่บทเฉพาะกาลที่ยังไม่ได้พิจารณากันเพราะในร่าง กรธ.ได้ปรับเปลี่ยนเรื่องวิธีการจัดตั้งพรรค การทำหน้าที่ของกรรมการบริหาร คุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นกรรมการพรรค รวมไปถึงสมาชิกพรรคซึ่งต่างไปจากเดิม

อีกทั้งยังมีกรณีที่ปัจจุบัน มีพรรคการเมืองที่จัดตั้งก่อนและหลังจากที่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2550 ประกาศใช้ ซึ่งไม่เหมือนกันอีก จึงเกิดมีกระแสข่าวว่า กรธ.มีแนวคิดที่จะเซตซีโร่พรรคการเมือง ยืนยันว่า ไม่ใช่ข้อเสนอของเรา กรธ.คิดว่าต้องปรับเปลี่ยน แต่ไม่ได้หมายความว่า ให้ไปยุบพรรคทั้งหมดแล้วมาทำกันใหม่ เพียงแต่รายละเอียดของพรรคการเมืองตามกฎหมายที่กรธ.คิดกันนั้น ไม่เหมือนเดิม

แต่คิดว่า ควรให้เวลาสำหรับพรรคการเมืองเก่าได้ปรับตัวให้เข้ากับกฎหมายใหม่ เราต้องการให้เวลา จึงบอกว่าต้องมาทำกฎหมายพรรคการเมืองก่อน ต้องให้เวลากับพรรคการเมือง กับนักการเมืองที่อยู่ในระบบได้ปรับตัวกันบ้าง

หากคิดจากพื้นฐานความต้องการ อยากเห็นพรรคการเมืองเป็นหน่วยของประชาชนในการเข้ามาสู่แวดวงการเมือง ไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก เพราะฐานของระบบพรรคการเมืองจะต้องเป็นคนที่จะเป็นตัวแทนของประชาชนในระดับใดระดับหนึ่งได้ ในความเห็นผมคิดว่า ระบบพรรคการเมืองถ้าเดินไปตามแนวคิดของเรา เห็นว่า สมาชิกพรรคควรที่จะมีบทบาท มีส่วนร่วมร่วมกันมาก ไม่อยากเห็นนายทุนพรรคเป็นคนครอบงำ ไม่อยากเห็นผู้มีอิทธิพลเพียงบางคนบางกลุ่มมาชักใย มาทำให้พรรคกลายเป็นพรรคส่วนบุคคล

จึงเขียนเรื่องการมีส่วนร่วมคัดเลือกตัวผู้สมัคร มีส่วนร่วมให้พรรคการเมืองวางนโยบายเรื่องที่ประชาชนสนใจ ไม่ใช่มุ่งตอบสนองผลประโยชน์เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เกิดแนวคิดออกมาว่า อยากเห็นตัวแทน หรือมีสาขาพรรคเพื่อรับนโยบายในพื้นที่ กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งอาจไม่ใช่เริ่มตั้งแต่ตอนจัดตั้ง แต่อาจเกิดขึ้นภายหลังจากที่จัดตั้งพรรคไปแล้ว อาทิ ทุกภาคมีสาขาพรรคอย่างน้อย 1 สาขา สาขาหนึ่งควรมีสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 200 คน หรือในแต่ละจังหวัด ควรจะมีตัวแทนพรรคในทุกจังหวัด โดยแต่ละจังหวัดอาจจะมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 100 คน เป็นต้น

“เป็นตุ๊กตาที่ตั้งไว้ สาขาพรรคอาจจะจำเป็น ส่วนประเด็นตัวแทนพรรคในแต่ละจังหวัด เป็นเรื่องที่ กรธ.คาดหวังรองลงมา การที่จะทำให้ได้ทุกจังหวัดนั้นเราเข้าใจว่า อาจจะเป็นเรื่องยาก ค่อยเป็นค่อยไป เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ เพราะพรรคการเมืองควรเป็นตัวแทนของประชาชนที่ไม่ได้เลือกเพียงแค่ภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งเท่านั้น”

ชำแหละคุณสมบัติ5ข้อส่อยุบพรรค

ในประเด็นร้อนเรื่องคุณสมบัติ 5 ข้ออันนำไปสู่การยุบพรรคนั้น ศ.ดร.อุดม อธิบายว่า แนวคิดของ กรธ.เรื่องการยุบพรรค บางเรื่องมีอยู่แล้วในกฎหมายเดิมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) คือ 1.นโยบายพรรคเป็นอันตรายต่อความมั่นคงหรือไม่ ซึ่งทุกประเทศมีเหมือนกัน และ 2.นโยบายพรรคไปกำหนดในสิ่งที่มีลักษณะขัดขวางต่อระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ทราบกันอยู่

ขณะที่ 3 ข้อหลังเป็นข้อเสนอของ กรธ.ที่แยกออกมาจาก กกต.คือ รับเงินบริจาคจากต่างชาติ จากบุคคลที่สนับสนุนการกระทำให้ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย และจากการซื้อขายตำแหน่ง เป็นเรื่องของพฤติการณ์เฉพาะที่เกิดขึ้นในบ้านเรา

กรธ.พยายามคิดให้รับกับสภาพการณ์สังคมบ้านเรา คิดหาทางออกกันว่าจะแก้อย่างไร เขียนแล้วใช้ไม่ได้เกิดการดื้อยาจะยิ่งหนักไปใหญ่ เราไม่ปฏิเสธว่า บ้านเมืองต้องอาศัยนักการเมือง เขาอาจรู้สึกว่าเป็นคนแรกๆที่ได้รับผลกระทบ ไปปรามาสเอาปูนหมายหัวว่า จะเข้ามาคอร์รัปชั่นมาหาประโยชน์ต่างๆ เรามองว่า นักการเมืองต้องมีอุดมการณ์ให้มากขึ้น ต้องเน้นเรื่องการเสียสละ ทำอย่างไรจะให้สังคมได้สิ่งที่ดีจากคนที่เข้ามามากขึ้น กระตุ้นให้สังคมตื่นตัวต่อปัญหาทางการเมือง

ถ้าเป็นคนทั่วไปก็ติดคุก เป็นระดับพรรค อ้างว่าต้องการเงินมารันท์กิจกรรมพรรค การตัดสินใจบนฐานแบบนี้ทำลายระบอบประชาธิปไตยที่เราต้องการ “ประชาธิปไตย” บ้านเรา ถ้าไม่มีตังค์จะบริหารจัดการไม่ได้อย่างไรอย่างนั้นหรือ?

เราเข้าใจปัญหาว่า ต้องมีปัจจัยมาผลักดันกิจกรรมทางการเมือง เพียงแต่บอกว่า ถ้าจะเป็นเช่นนั้นมาแบบนโต๊ะให้เห็นกันชัดๆ อย่ามีลับลมคมใน ซึ่งเราก็ไม่ได้ตัดมือตัดเท้าพรรคการเมืองหรือนักการเมือง สามารถมีเงินสนับสนุนได้ ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายอย่างโปร่งใส ระบุตัวได้กรณีจำนวนมากทำให้เห็นว่า เข้ามาอยู่ในวงการการเมืองไม่ได้เข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์

อย่างไรก็ดี สุดท้ายพรรคการเมือง เป็นเพียงปัจจัยประการหนึ่ง ประชาชน กลุ่มทุนในประเทศ ระบบราชการประจำ คงต้องร่วมกันคิดว่า จะมีส่วนทำให้ระบบการเมืองของเราไปสู่ระบบที่อยู่ในร่องในรอยได้อย่างไร ไม่ใช่ข้าราชการประจำอยากได้ตำแหน่ง ไม่มีระเบียบวินัย พร้อมจะหาประโยชน์ให้กับฝ่ายการเมืองอย่างไรก็ได้ไม่สนใจบ้านเมือง

กลุ่มทุน หรือประชาชนที่เห็นทางได้ด้วยวิธีการล็อบบี้ เลือกคนที่เห็นว่าจะมาอุปถัมภ์เรา ระบบการเมืองเช่นนี้ทำให้บ้านเมืองไปไม่รอด แบ่งฝักแบ่งฝ่ายมีคนได้มีคนไม่ได้ โดยไม่มีเหตุผล เพราะแต่ละฝ่ายอิงกับผลประโยชน์ตัวเอง

สร้างกระบวนการ”บันไดดารา”

นายอุดม ชี้ว่า บ้านเมืองมีคนอยากอาสาเข้ามาทำงานมาก แต่ต้องมีเสียงสนับสนุนในเชิงคณิตศาสตร์มาก ต้องมาคิดกันว่า จะมีวิธีใดที่ทำให้การตัดสินด้วยจำนวนของผู้สนับสนุนนั้น มีเหตุมีผล มีคนจำนวนหนึ่งบอกว่า ความคิดดี แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักของใคร ยังไม่เป็นที่ศรัทธาของคนที่มีสิทธิเลือกตั้งจะทำอย่างไร เราจำเป็นต้องสร้าง “บันไดดารา” เพราะความเป็นจริงจะได้รับความนิยมจากประชาชนในระบอบประชาธิปไตย การเมืองไม่ใช่ระบบราชการที่ต้องไต่จากซีต่ำไปซีสูง การเมืองต้องการฐานความศรัทธาของประชาชนและการพิสูจน์ตัวเองของผู้ลงสมัคร หลายคนมีฐานจากคนในพื้นที่ ในท้องถิ่นทำงานไต่ขึ้นมา

จากประสบการณ์ที่เห็นในต่างประเทศ นักการเมืองทุกคนจะสวมหมวก 2-3 ใบ คือ ระดับท้องถิ่น เป็นนายกเทศมนตรี ขึ้นมาระดับจังหวัด แล้วจึงมาเป็น ส.ส. ส.ว.ทำให้เขาเห็นภาพกว้าง ไม่ใช่ชาวบ้านมาขอให้สร้างสะพานก็ไปสร้างให้ ซึ่งเราห้ามด้วยซ้ำในการไปครอบงำลักษณะนี้ หน้าที่ ส.ส.ไม่ใช่ดูแค่ในพื้นที่ของตัวเอง แต่ต้องประสานกับพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดูเป็นภูมิภาค

“บันไดดาราของผม คือ คนจะมาเป็น ส.ส. หรือตัวแทนพรรค ควรมีกระบวนการสรรหาจากคนในพื้นที่ไม่ใช่กรรมการบริหารพรรคเป็นคนชี้ อยากเห็นกรรมการส่วนหนึ่งบวกกับคนในพื้นที่ส่วนหนึ่ง ร่วมกันคัดสรร คือ เมื่อคัดสรรมาแล้วจึงส่งมาให้กรรมการบริหารพรรคดู เป็นหลักการของประชาธิปไตยที่เราอยากให้เกิด”

ไม่เห็นนักการเมืองเป็นศัตรู

ศ.ดร.อุดม กล่าวด้วยว่า ข้อแตกต่างอีกประการที่มีการปรับเปลี่ยน อาทิ การจัดตั้งพรรคการเมือง สำหรับร่างเดิมของ กกต.กำหนดให้มีสมาชิกพรรคเริ่มแรก 5,000 คน ส่วนของกรธ.ให้มี 500 คน และปรับเปลี่ยนให้ 500 คนนี้กระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ที่ไม่ได้พูดถึงคือเรื่องของทุนประเดิมพรรคสัก 1 ล้านบาท 500 คนๆ ละ 2,000 บาท ก็น่าจะพอเห็นหน้าเห็นหลังกันได้บ้าง พอที่จะฝากผีฝากไข้ได้ ไม่ใช่คิดว่า ตั้งพรรคแล้วต้องมารอเงินจาก กกต.อย่างเดียว ส่วนค่าสมาชิกพรรค ให้ไปกำหนดกันเองในแต่ละพรรคว่า จะเก็บค่าสมาชิกกันเท่าไร เพราะเงินส่วนนี้เป็นเรื่องที่ไปคิดกันทีหลังได้

“เราพูดถึงกันขั้นที่ว่า ถ้าจะระดมเงินเข้าพรรคด้วยการขายโต๊ะ จัดเลี้ยง ดินเนอร์ทอล์ก ขายของ ขายบริการต่างๆ เพื่อหาเงินเข้าพรรคซึ่งก็ทำได้หากถูกต้องตามกฎหมาย แม้แต่การบริจาคเงินเข้าพรรคการเมืองแล้วนำมาลดหย่อนภาษี เราก็สนับสนุนเขียนเอาไว้ให้ ยืนยันว่าไม่ได้เอาใจพรรคใหญ่ เพราะแต่ละพรรคก็มีวิวัฒนาการ จะใหญ่จะเล็กก็ต้องมีอะไรที่เคลื่อนไหว

สิ่งที่กรรมการร่างพยายามวาง อาจดูฮาร์ดคอร์สำหรับฝ่ายการเมือง แต่ผมคิดว่าบ้านเมืองเราปล่อยให้คนเข้ามาทำอะไรจนไม่มีระเบียบมานาน ยืนยันว่า เราไม่ได้เห็นนักการเมืองเป็นศัตรูแต่คิดว่านักการเมืองต้องเป็นคนที่เข้ามาทำงานให้บ้านเมือง คุณอาสา สมัครเข้ามาไม่ได้ถูกใครบังคับให้เข้ามาเล่นการเมือง การกำหนดโทษร้ายแรง ไม่ได้หมายความว่า จะทำให้คนกระทำผิดเกิดความกลัว แต่ว่าโทษร้ายแรงจะมีผลต่อการลดความกังวลใจของคนที่ต้องตกอยู่ภายใต้สภาวการณ์นั้น เช่น เรารู้สึกว่าชาวบ้านเขาเสื่อมศรัทธาต่อระบบ อยากเห็นอะไรที่เปลี่ยนแปลง

“ส่วนทางความเป็นจริงทำแล้วไม่ได้ผล เราก็ต้องมาพูดกันว่า จับจุดไม่ถูกตรงไหน ผมคิดว่า พลังสร้างสรรค์ของคนในบ้านเมืองไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน หรือนักการเมือง กรธ.ยินดีรับฟัง กฎหมายเป็นเรื่องสังคม ถ้าเรากินยาผิดมันก็รักษาโรคไม่ได้ เรากำลังพยายามที่จะผลิตยาอะไรขึ้นมาสักอย่าง หากท่านคิดว่า มันพอสมควรก็จะทำให้เราทุกคนรู้สึกว่า ปลอดภัย รู้สึกร่วมชะตากรรมเดียวกัน เราวางโทษเช่นนี้เพื่อใคร ทำให้คนที่รู้สึกเสียหายเกิดความรู้สึกปลอดภัย สิ่งที่เราเห็น คือ อย่างน้อยทำให้สังคมที่รู้สึกเบื่อหน่ายการเมืองมีความหวังขึ้นมาได้”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,210 วันที่ 17 – 19 พฤศจิกายน 2559

ขอบคุณ... http://www.thansettakij.com/2016/11/16/113749 (ขนาดไฟล์: 167)

ที่มา: thansettakij.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 16 พ.ย.59
วันที่โพสต์: 17/11/2559 เวลา 09:28:23 ดูภาพสไลด์โชว์ ชง‘ยาแรง’กติกาการเมืองยุคใหม่ กรธ.ไขปมกฎหมายคุมพรรค