สนช.รับหลักการ พ.ร.ป.ศาลรธน.
สนช.รับหลักการ พ.ร.ป.ศาลรธน. รีเซ็ทตุลาการศาลรธน. พร้อมเพิ่มอำนาจศาลสั่งจำคุกกรณีหมิ่นศาลไม่สุจริต
28 ก.ย.60 - ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธาน โดยได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เสนอ
สำหรับสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 9 คน แบ่งเป็น 1.ผู้พิพากษาในศาลฎีกาที่ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกามาแล้ว ไม่น้อยกว่า 3 ปี ซึ่งได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจำนวน 3 คน 2.ตุลาการศาลปกครองสูงสุดซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าตุลาการศาลปกครองสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดจำนวน 2 คน
3.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีและยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ จำนวน 1 คน 4.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีและยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ จำนวน 1 คน และ 5.ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้รับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี จำนวน 2 คน
ขณะที่มาตรา 38 กำหนดให้ศาลมีอำนาจรักษาความสงบเรียบร้อยของการพิจารณาคดีหรือในกรณีมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลอาจมีคำสั่งให้บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใดกระทำการหรืองดเว้นกระทำการเพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินไปโดยสงบเรียบร้อยและรวดเร็ว นอกจากนี้ การวิจารณ์คำวินิจฉัยคดีที่กระทำโดยสุจริตและไม่ได้ใช้ถ้อยคำหรือมีความหมายหยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้ายไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
มาตรา 39 บัญญัติว่า ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งหรือระเบียบตามมาตรา 38 ให้ถือเป็นการละเมิดอำนาจศาลและให้ศาลมีอำนาจดังต่อไปนี้ 1.ตักเตือน 2.ไล่ออกจากบริเวณศาล 3.ลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน มาตรา 76 กำหนดให้ประธานและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับและมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะการให้มีกลไกการทำงานเพิ่มมากขึ้น ส่วนเรื่องความคงอยู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน ทางกรธ.ได้กำหนดเป็นมาตรฐานเดียวกันกับทุกองค์กร คือ การให้ดำรงตำแหน่งต่อไปได้เฉพาะบุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น จะมีเพียงเฉพาะกรณีของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เท่านั้นที่กรธ.บัญญัติให้แตกต่างออกไปด้วยการให้พ้นจากตำแหน่งทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อกสม.ให้มีกระบวนการสรรหาให้สอดคล้องกับนานาชาติ อย่างไรก็ตาม หากในชั้นคณะกรรมาธิการของสนช.จะมีการแก้ไขหรือมีความเห็นอย่างไรก็เป็นอำนาจหน้าที่ของสนช.
จากนั้นที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ 198 คะแนน รับหลักการแห่งร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 และได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 22 คนพร้อมกับกำหนดเวลาการทำงานต้องให้แล้วเสร็จภายใน 50 วันก่อนส่งกลับมาให้ที่ประชุมสนช.ลงมติต่อไป.