11 ต.ค.2476 "กบฏบวรเดช" ครั้งแรก หลังไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับแรก
หลายคนจำได้ว่า เหตุกบฎครั้งที่ 2 คือ “กบฏบวรเดช” นั้นที่จริงนับเป็นครั้งแรก หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง! ในปี พ.ศ. 2475 หรือหลังเรามีรัฐธรรมนูญฉบับแรก!
จริงอยู่ที่ ประเทศไทยมีการก่อกบฎครั้งแรก คือ กบฏ ร.ศ.130 ที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อปี 2455 แต่นับจากนั้นมาอีก 20 ปี ไทยเราเกิดเหตุกบฎครั้งที่ 2 คือ “กบฏบวรเดช” ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2476 โดยคณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า
หากแต่เป็นการก่อกบฏที่ต้องเรียกว่าเกิดขึ้น “ครั้งแรก” ในประวัติศาสตร์ไทย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 หรือหลังเรามีรัฐธรรมนูญฉบับแรก!
สำหรับสาเหตุนั้นมีข้อมูลระบุว่า ชนวนสำคัญที่สุด คือ ข้อโต้แย้งในเรื่องพระเกียรติยศและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ เป็นผลนำไปสู่การนำกำลังทหารก่อกบฏโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อันเป็นที่มาของชื่อ “กบฏบวรเดช”
ตามข้อมูลจาก วิกิพีเดียยังระบุถึงเหตุการณ์ในวันที่ 11 ตุลาคม 2476 ว่า มีการยิงกันครั้งแรก ที่อำเภอปากช่อง แล้วคณะผู้ก่อการได้ยกกองกำลังเข้ามาทางดอนเมือง และยึดพื้นที่เอาไว้ โดยเรียกชื่อคณะตัวเองว่า “คณะกู้บ้านเมือง” และเรียกแผนการปฏิวัติครั้งนี้ โดยใช้กองกำลังทหารจากหัวเมืองต่าง ๆ เข้าล้อมเมืองหลวงว่า แผนล้อมกวาง
โดยทางฝ่ายรัฐบาลก็ได้รู้ล่วงหน้าถึงการกบฏครั้งนี้ถึง 2 วัน และพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ก็ได้ดำเนินการต่อต้าน โดย้ประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 12 ตุลาคม 2476 ในพื้นที่จังหวัดใหญ่ทหารบกกรุงเทพ
และแต่งตั้งพันโทหลวงพิบูลสงคราม หรือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม-ยศขณะนั้น เป็นผู้บัญชาการกองกำลังผสม พร้อมรถ ปตอ. รุ่น 76 และรถถัง รุ่น 76 บรรทุกรถไฟยกออกไปปราบปรามได้สำเร็จ ขณะที่ยังส่งพันตรีหลวงเสรีเริงฤทธิ์ เข้าเจรจาให้ฝ่ายกบฏเลิกราไปเสีย และจะขอพระราชทานอภัยโทษให้ แต่ทางฝ่ายกบฏได้จับตัวพันตรีหลวงเสรีเริงฤทธิ์ไว้เป็นตัวประกัน
จนกระทั่งเวลาเที่ยงตรงฝ่ายกบฏได้ส่งหนังสือยืนเงื่อนไขทั้งหมด 6 ข้อ คือ
1.ต้องจัดการในทุกทางที่จะอำนวยผลให้ประเทศสยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปาวสาน
2.ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญโดยแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การตั้งและถอดถอนคณะรัฐบาลต้องเป็นไปตามเสียงของหมู่มาก
3.ข้าราชการซึ่งอยู่ในตำแหน่งประจำการทั้งหลายและพลเรือนต้องอยู่นอกการเมือง ตำแหน่งฝ่ายทหารตั้งแต่ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือลงไปต้องไม่มีหน้าที่ทางการเมือง
4.การแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งราชการ จักต้องถือคุณวุฒิและความสามารถเป็นหลัก ไม่ถือเอาความเกี่ยวข้องในทางการเมืองเป็นความชอบหรือเป็นข้อรังเกียจในการบรรจุเลื่อนตำแหน่ง
5.การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ต้องถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือก
6.การปกครองกองทัพบกจักต้องให้มีหน่วยผสมตามหลักยุทธวิธี เฉลี่ยอาวุธสำคัญแยกกันไปประจำตามท้องถิ่น มิให้รวมกำลังไว้เฉพาะแห่งใดแห่งหนึ่ง
แต่คำขอทั้งหมดนี้ ทางฝ่ายรัฐบาลยืนกรานไม่ยินยอม จึงเกิดการต่อสู้กันของทั้งสองฝ่าย ปะทะกันชนิดภาพยนตร์ยังอาย ทั้งกำลังทหารปืนใหญ่จากนครสวรรค์, กำลังทหารม้าจำนวน 5 กองร้อยของนครราชสีมา พร้อมปืนกล ไหนจะรถเกราะ ส่งผลให้มีทหารบาดเจ็บล้มตายเป็นอันมากกินเวลาหลายวัน
จนวันที่ 15 ตุลามคฝ่ายปฏิวัติพ่ายแพ้จนพระองค์เจ้าบวรเดชขึ้นเครื่องบินหนีออกนอกประเทศ และฝ่ายรัฐบาลสามารถปราบปรามฝ่ายปฏิวัติได้สำเร็จในที่สุด
แน่นอนทุกวันนี้ สภาพบ้านเมือง บริบทเปลี่ยนแปลงไปแล้ว การรำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต ก็อาจเป็นประวัติศาสตร์ที่บอกกล่าวเล่าสู่กันฟังกับลูกหลาน หาได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในปัจจุบันไม่
ขอบคุณ... http://www.komchadluek.net/news/today-in-history/298579 (ขนาดไฟล์: 167)