เรื่องอันพึง"ใส่ใจ" ในห้วงเวลาแห่งความอาลัย

เรื่องอันพึง"ใส่ใจ" ในห้วงเวลาแห่งความอาลัย

สิ่งที่เราพึงระลึกในการกระทำเพื่อชาติบ้านเมือง คือ สร้างประโยชน์ต่อชาติ สร้างสุขให้เกิดขึ้นในสังคม ในหลายพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเน้นย้ำให้คนไทย “รู้หน้าที่” และ “รู้รักสามัคคี”

ในห้วงเวลานี้เป็นเวลาแห่งความเศร้าโศกของคนไทย แต่สิ่งหนึ่งที่เราพึงระลึกไว้เสมอ คือ พระราชดำรัสพระบรมราโชวาท เพื่อเป็น “เข็มทิศชีวิต” ในการก้าวเดินต่อไปสู่การสร้างสังคมอันเป็นไปตามพระราชปณิธาน คือ “ประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” หน้าที่ของคนไทย จึงคือการร่วมแรงร่วมใจกัน รักสามัคคีและสร้างชาติบ้านเมืองให้เจริญดีงามไปด้วยกัน เพื่อส่งต่อสังคมที่ดีให้วันข้างหน้าให้กับคนรุ่นหลัง

สิ่งที่เราพึงระลึกในการกระทำเพื่อชาติบ้านเมือง คือ สร้างประโยชน์ต่อชาติ และสร้างสุขให้เกิดขึ้นในสังคม ในหลายพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเน้นย้ำให้คนไทย “รู้หน้าที่” และ “รู้รักสามัคคี” ซึ่งเป็นแนวทางในการสร้างชีวิต สร้างสังคมที่พึงประสงค์

ในห้วงหลายวันที่ผ่านมา ภาพที่น่าชื่นหัวใจไม่น้อย คือ การเห็นความรู้รักสามัคคี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และภาพของความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แต่ก็ยังมีสิ่งที่ติดในใจอยู่บ้าง เมื่อมีภาพที่บางคนใช้อารมณ์ในการตัดสินผู้อื่นจนเกินงาม เช่น เรื่องการไว้ทุกข์...ซึ่งในช่วงที่อารมณ์ของสังคมอ่อนไหว บางครั้ง บางคนก็อาจลืมตัวที่จะมุ่งตัดสินคนอื่นไปก่อน โดยไม่ได้ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนก็ต้องติง เตือน ดึง คนเหล่านั้นให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม

เรื่องอันพึง"ใส่ใจ" ในห้วงเวลาแห่งความอาลัย

การไว้ทุกข์ คือ กาลเทศะของสังคมในขณะนี้ แต่อย่างหนึ่งที่พึงระลึกกันไว้ คือ นอกจากการไว้ทุกข์ ทุกคนต่างก็ต้องมีเวลาที่จะใช้ชีวิตของตัวเอง มีเวลาที่จะประกอบกิจการงานหรือทำหน้าที่อื่นๆ เพื่อให้เศรษฐกิจ สังคมของไทยขับเคลื่อนต่อไป นั่นคือเขาทำ “หน้าที่” ของตัวเองอยู่

เศรษฐกิจของไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี ขับเคลื่อนด้วยภาคการท่องเที่ยวจำนวนมาก ในภาคธุรกิจหลายๆ อย่างก็เงินสะพัดช่วงนี้ ช่วงเทศกาลเงินก็สะพัดด้วยกำลังซื้อจำนวนมาก ทั้งการจับจ่ายใช้สอย การซื้อของขวัญ ฯลฯ คงไม่มีใครอยากให้หยุดชะงักไปเสียหมด กิจกรรมเหล่านี้ก็ควรจะต้องดำเนินเดินหน้าต่อไป เพียงแต่อาจลดระดับความสนุกสนานลงมาในระดับหนึ่งเพื่อให้เข้ากับกาลเทศะของสังคม ซึ่งก็ไม่ควรมีใครไปชี้หน้าต่อว่าเขา ทุกคนต่างก็มีความคิดเป็นของตัวเอง ดังนั้นต้องตระหนักรู้กันว่า อะไร แค่ไหนจึง “พอดี”

ต้องขอให้รู้ “ความพอดี” กันทั้งฝ่ายที่เฝ้าจับตาดูผู้อื่น และฝ่ายที่ต้องการ “ใช้ชีวิต” ทำงานของตัวเองไป...ไม่มีใครอยากเห็นภาพความขัดแย้งแตกแยกในขณะนี้หรอก เพราะหัวใจคนไทยวันนี้ต่างก็ล้วนอยากทำดีเพื่อเป็นการ “ปฏิบัติบูชา” แด่องค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

เรื่องอันพึง"ใส่ใจ" ในห้วงเวลาแห่งความอาลัย

สิ่งที่น่าสนใจในโลกโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คขณะนี้...เรียกว่า นอกจากน่าสนใจแล้ว ยังน่าชื่นใจและน่าดีใจ คือ สิ่งที่น่าจะเรียกว่า “ความเอื้ออาทรด้านข้อมูลข่าวสาร” ที่มีต่อกัน เมื่อภาคส่วนต่างๆ ได้นำข้อมูลที่น่าสนใจ ทั้งข้อมูลด้านพระราชกรณียกิจ ข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ข้อมูลภาพถ่ายต่างๆ เกี่ยวกับ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเผยแพร่ ซึ่งบางเรื่องที่เผยแพร่น่าสนใจมาก เพราะเป็นข้อมูลหรือรูปภาพที่หาได้ยากยิ่ง

ความสะดวกของการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในโลกโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค คือ มันลดข้อจำกัดเรื่องพื้นที่และเวลา คือ นำเสนอเนื้อหาได้ไม่จำกัด และสามารถนำเสนอได้รวดเร็วแทบจะเป็นเวลาจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และในโลกยุคนี้ ต่างคนต่างเรียกได้ว่ามี “พื้นที่สื่อ” เป็นของตัวเอง ที่จะนำเสนอเนื้อหาของตัวได้อย่างเสรี...ใครที่มีเรื่องเล่า เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย หรือภาพถ่ายหายากก็เอามาแบ่งปันกันให้คนอื่นได้ร่วมรับรู้

เมื่อเป็นข้อมูลที่ดี ข้อมูลที่ใครๆ ต่างเห็นว่ามีคุณค่า ข้อมูลเหล่านั้นก็ถูกแชร์ออกไปในวงกว้าง หรือโพสต์ในพื้นที่สื่อของตัวเองเพื่อเก็บไว้อ่าน ไว้ดู ข้อมูลถูกแชร์ให้คนไทยต่างได้เห็นแง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มากยิ่งขึ้น เรียกได้ว่า บนพื้นที่โซเชี่ยลเน็ตเวิร์คของคนไทยขณะนี้ ทั้งหน้าเฟซบุ๊ก หน้าไอจี ทวิตเตอร์ ก็มีข้อมูลจำนวนมาก มันเกิดขึ้นด้วยความเอื้ออารี ที่อยากจะแบ่งปันและเล่าสู่กันฟัง เกิดขึ้นด้วยการที่ผองไทยมีหัวใจเช่นเดียวกัน...หัวใจที่อยากจะบอกใครต่อใครว่า “ทำไมเราจึงรักในหลวง” จึงทำข้อมูลเหล่านี้

เรื่องอันพึง"ใส่ใจ" ในห้วงเวลาแห่งความอาลัย

ขณะนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการทำสิ่งที่เรียกว่าการ “สื่อสารเชิงรุก” ตรงนี้ไม่ทราบว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง นั่งเป็นเจ้ากระทรวงอยู่ และกรมประชาสัมพันธ์ ที่มี “เสธ.ไก่อู” พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด นั่งเป็นอธิบดีอยู่ จะสนใจ “ร่วมด้วย” ในการทำสื่อสารเชิงรุกบ้างหรือไม่

คือ น่าจะได้ร่วมผลิตเนื้อหา นำเสนอข้อมูลต่างๆ จากภาครัฐเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ ภาพหายากของพระองค์ท่าน ให้มีการเผยแพร่ แบ่ง แชร์ แจกจ่ายต่อๆ กันไป ซึ่งข้อมูลทางภาครัฐ อาจมีมากและเก็บรวมเป็นระบบ ละเอียดกว่าที่ภาคประชาชนหรือภาคเอกชนหามาก็ได้ก็นำไปผสมรวมร่วมด้วยช่วยกัน

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับพระราชประวัติไปจนถึง “ประวัติสถาบัน” มีมากมาย ซึ่งการนำลงโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คมีข้อดี คือ เป็นข้อมูลที่มีการ “ย่อย” มีการสังเคราะห์ตีความ สรุปรวบให้เข้าใจง่าย พร้อมภาพประกอบ สามารถเปิดอ่านที่ไหนก็ได้ เพราะต่างคนต่างก็มีอุปกรณ์ในการเข้าถึง (โทรศัพท์มือถือ) เรียกว่า...นั่งว่างๆ ระหว่างรออะไร หรือระหว่างโดยสารรถก็เปิดออกอ่านได้สะดวก...เรียกว่าเป็น “การสื่อสารทางตรง” ก็ไม่ผิด เพราะข้อมูลเข้าถึงระดับปัจเจก

ช่วงนี้ประชาชนพร้อมเปิดรับและมีความต้องการที่จะแสวงหาข้อมูลข่าวสารเหล่านี้อ่าน เพราะทุกคนในสังคมต่างก็พูดถึงเรื่องเดียวกันก็ทำข้อมูลเผยแพร่โซเชี่ยลเน็ตเวิร์คยิ่งเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ง่าย...เราเคยได้ยินคนเก่าๆ บอกว่า... “เด็กรุ่นใหม่หลายๆ คน เกิดไม่ทันช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชกรณียกิจมากมาย ช่วงนี้แหละเป็นเวลาที่ไม่ว่าคนรุ่นไหนก็เหมาะสมจะได้เรียนรู้”

เรื่องอันพึง"ใส่ใจ" ในห้วงเวลาแห่งความอาลัย

เรื่องที่เห็นๆ ว่า มีการเผยแพร่อยู่ และน่าสนใจยิ่งยวด คือ เรื่อง “การเมืองต้นรัชกาล” ว่า สถาบันมีการวางตัวอย่างไรในช่วงความผันผวนทางการเมือง ในการนำพาประเทศชาติฝ่ามรสุมมาได้ ตลอดจนบทบาทของสถาบันในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองต่างๆ ว่า สถาบันมีบทบาทในการระงับยับยั้งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างไร ถ้าให้ดี อ้างอิงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้ชัดเจนเพื่อขจัดความไม่รู้ หรือขจัดไอ้เนื้อหาประเภท “เขาว่า” แล้วมโนกันต่อเป็นฉากๆ ที่พูดกันไปเรื่อยเปื่อย และไม่เห็นจะเป็นผลดีกับใคร

นอกจากที่กล่าวมา ข้อมูลเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ พระมหากรุณาธิคุณด้านต่างๆ จนถึงพระอัจฉริยภาพ ล้วนแล้วแต่น่าสนใจ และมีมากมาย เพียงแต่นำมาเรียบเรียงให้เข้าถึงและเข้าใจง่าย “ฝ่ายสื่อสารภาครัฐ” สนใจทำหรือไม่

อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องฝากให้ภาครัฐพิจารณา คือ การดำเนินการกับกรณีกระทำผิดตามมาตรา 112 ...ซึ่งสิ่งที่เห็นในขณะนี้...ในบางกรณีอยากจะเรียกว่า “นี่ไม่ใช่แค่ความเห็นต่าง” อย่างที่คนกระทำผิดเหล่านั้นอ้าง หรือเรียกร้องให้สังคมเข้าใจ แต่ภาพที่ออกมามัน คือ การจงใจเหยียบย่ำหัวใจคนไทย ฉวยโอกาสที่สังคมกำลังอยู่ระหว่างความทุกข์โศกในการทำลายหัวใจคนไทย แล้วคิดว่าเป็นเรื่องสนุกที่ได้ “เกรียน”

ความเป็นเสรีนิยมที่เหมาะสม ไม่ใช่คิดจะสำรอกอะไรออกมาก็ได้แล้วอ้างว่าเป็นสิทธิ์ หลักการเบื้องต้นแห่งสิทธิเสรีภาพเขาสอนกันปาวๆ คือ “การใช้สิทธิเสรีภาพ ต้องไม่ล่วงละเมิดต่อผู้อื่น” ไม่รู้บางคนเขาเรียนมาถึงประโยคนี้หรือไม่ หรือจำเอาแค่ที่ตัวเองชอบแล้วคิดว่าวิธีคิดทฤษฎีมันจบลงแค่นั้น และความเห็นต่างที่แท้จริงก็ต้องยอมรับความเห็นของผู้อื่น ไม่ใช่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล

เรื่องอันพึง"ใส่ใจ" ในห้วงเวลาแห่งความอาลัย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่สำคัญ คือ สิ่งที่เป็นความรักและศรัทธา คนมีมารยาท รู้กาลเทศะของสังคม เขาจะไม่แตะต้องกัน...ความรักและศรัทธาของใครก็ไม่ต้องการให้ใครมาย่ำยี หยามหยันไยไพรักและศรัทธานั้น...เหมือนคุณรักพ่อแม่ของคุณ ซึ่งคุณจะยอมได้ไหมถ้ามีใครมาด่าว่าหยาบคาย (แต่เกรียนบางคนไม่รู้จะคิดไปถึงจุดนั้นหรือเปล่า เพราะทำตัวราวกับไร้ราก เกิดมาจากกระบอกไม่ไผ่ ไม่คิดว่า ธาตุกตัญญูเป็นสมบัติของคนดี)

รัฐบาลอาจใช้โอกาสนี้ สื่อสารให้สังคมเข้าใจก็ได้ ว่า ประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ยังคงมีความจำเป็นอย่างไร เนื่องจากเราได้เห็นพฤติกรรมของคนบางจำพวกแล้วว่า “การเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงความเห็นต่าง” กับบางคนมันเป็นแค่ฉากหน้า แต่ความจริงแล้ว อยากให้ยกเลิกกฎหมายเพื่อ “ให้ได้ด่า ได้เกรียน แล้วจะได้สนุกถ้าเห็นคนอื่นออกมาโกรธ” ซึ่งคนจำพวกนั้น เรียกว่า ได้เห็นคนอื่นออกมาดิ้น...

พูดก็พูดเถอะ บางครั้งก็ไม่เห็นจะน่าเห็นใจ ถ้าคนในสังคมรวมหัวกัน “ตบเกรียน” สั่งสอนเสียบ้างเพราะบางคนก็ทำตัวอย่างที่เรียกได้ว่า “ล่อเป้า” เอง แต่เราต้องเข้าใจว่า กฎหมายคือข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันในสังคมแล้ว ดังนั้น เกิดอะไรขึ้นเราก็ต้องยึดถือกฎหมายไว้ ไม่พึงให้เกิดภาพว่า “เราไม่แก้ปัญหาด้วยวิธีอารยะ”

รัฐบาลอาจใช้โอกาสนี้ ชี้แจงผ่านทูตแต่ละประเทศ ที่คนจำพวกนั้นไปอาศัยอยู่ให้ทราบด้วยว่า พฤติกรรมที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่เสรีภาพทางการแสดงความเห็น แต่มันล้ำเส้นไปถึงขั้นล่วงละเมิด ขั้นเหยียบย่ำหัวใจกัน เช่นนี้แล้วองค์กรต่างๆ ที่ช่วยเหลือ ประเทศที่ช่วยเหลือก็ควรต้องพิจารณาว่า ควรจะให้ความช่วยเหลืออีกหรือไม่ เมื่อคนเหล่านี้จงใจกระทำความผิด ไม่ใช่ต้องการใช้เสรีภาพ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ (คำนี้ต่อไประวังจะกลายเป็นข้ออ้างทำชั่ว)

...นี่คือสิ่งที่อยากฝากให้คิดและทำในช่วงนี้

คอลัมน์ : ที่เห็นที่เป็นอยู่

โดย “บุหงาตันหยง”

ขอบคุณ… http://www.dailynews.co.th/article/532330 (ขนาดไฟล์: 167)

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 27 ต.ค.59
วันที่โพสต์: 27/10/2559 เวลา 09:42:24 ดูภาพสไลด์โชว์ เรื่องอันพึง"ใส่ใจ" ในห้วงเวลาแห่งความอาลัย