หลักประกัน-รายได้ยามเกษียณ ความจำ เป็นต้องส่งเสริมการทำงาน‘ผู้สูงอายุ’

หลักประกัน-รายได้ยามเกษียณ ความจำ เป็นต้องส่งเสริมการทำงาน‘ผู้สูงอายุ’

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้จัดเวทีวิชาการเรื่อง “เตรียมพร้อมประชากรรับมือสังคมสูงวัยเต็มรูปแบบหรือยัง” เมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่ผ่านมา

การส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุเพื่อทดแทนวัยแรงงานที่ขาดแคลนในอนาคต

หลักประกัน-เงินออมผู้สูงวัยไม่เพียงพอ

รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าจากการที่สถาบันประชากรศาสตร์ ฯได้ทำการประเมินแผนผู้สูงอายุแห่งชาติหลายครั้ง พบว่าประชากรที่จะเป็นผู้สูงอายุในอนาคต คือช่วงวัย 30-59 ปี มีอัตราหลักประกันชีวิตในยามชราภาพรูปแบบใดแบบหนึ่งรวมเพียง 26.3% แยกเป็นช่วงวัย 30-39 ปี มีอัตรา 37.3% ,ช่วงวัย 40-49 ปี อัตรา 23.7 %ขณะที่ช่วงวัย 50-59 ปี กลับมีหลักประกันน้อยสุดคือเพียง 18.2 % เห็นได้ว่าส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกันยามสูงอายุ

มองในด้านเงินออมหรือทรัพย์สินของผู้สูงอายุ ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่สำรวจล่าสุดปี 2557 พบว่ากลุ่มที่ไม่มีเงินออมเลย จนถึงมีต่ำกว่า 400,000 บาท มีสัดส่วนรวมกัน 72.4 % จำนวนนี้ตอบว่าไม่มีออมเลยสัดส่วนถึง 24% และหากเทียบค่าเฉลี่ยคนเริ่มมีอายุมากขึ้น (หญิงเฉลี่ยที่ 83 ปี ,ชายมากกว่า 70 ปี ) จึงน่าเป็นห่วงว่าเงินออมจะเพียงพอหรือไม่ เพราะค่าใช้จ่ายสูงสุดของผู้สูงอายุ ก็คือการรักษาพยาบาล และบางโรคยังมีความเสี่ยงว่าอาจจะทำให้คนหมดตัวถึงขั้นล้มละลายได้ หากไม่มีเงินออมมากพอ

รายได้จากบุตรน้อยลง/คนโสดมากขึ้น

ส่วนแหล่งรายได้หลังของผู้สูงอายุ มาจากบุตรเป็นอันดับ 1 แต่มีแนวโน้มลดลงมาตลอด จากปี 2537, 2550 ,2554 และปี 2557 เป็นสัดส่วน 54.1%, 52.3%, 40.0% และ36.8 % ตามลำดับ ส่วนอันดับ 2 ยังมาจากการทำงาน และอันดับ 3 เป็น เบี้ยยังชีพที่เข้ามาเพิ่มขึ้นในระยะหลังตามนโยบายของรัฐบาล แต่ไม่ได้เป็นรายได้หลักเพียง 600-1,000 บาทต่อเดือน

” แหล่งรายได้จากบุตร ยังเป็นรายได้หลัก แต่ในอนาคตคนเริ่มเป็นโสดเพิ่มขึ้น และมีบุตรน้อยลง ที่น่าห่วงคือประชากรในวัยแรงงานเริ่มมีแนวโน้มลดลง ” รศ.ดร.วิพรรณ กล่าวและว่า

แนวทางแก้ไข นอกจากการเร่งอัตราการเกิด ซึ่งเป็นแผนระยะยาวมากกว่า เพราะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 15-20 ปี อีกทั้งการพึ่งแรงงานนำเข้าเริ่มมีข้อจำกัด เนื่องจากทุกประเทศในอาเซียน กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งไม่ต่างกับไทย ดังนั้นทางเลือกจึงหนีไม่พ้นในเรื่องการส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุ

หลักประกันยามชราภาพของประชากรอายุ 30-59 ปี

ขยายอายุเกษียณชดเชยแรงงานขาด

โดยภายในปีนี้หรือปี 2560 จะเกิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ คือจำนวนเด็กจะน้อยกว่าผู้สูงอายุ และจากการศึกษาพบว่า หากมีการขยายอายุเกษียณจาก 60ปี เป็น 65 ปี หรือ 60 ปี เป็น 69 ปี จะช่วยชะลอปัญหาและทดแทนอัตราการเกิดของเด็กที่มีแนวโน้มชะลอลงในอนาคต (ยกตัวอย่างในปี 2563หากมีขยายอายุเกษียณเป็น 64 ปี ., 69 ปีตามลำดับ จะทำให้แรงงาน ( 15-59 ปี)ในระบบจากที่มีประมาณ 44 ล้านคน ขยายเพิ่มเป็น 48ล้านคนและ 52 ล้านคน ได้ตามลำดับ : ดูตารางประกอบ )

” หากทำได้จริง จะไปช่วยแก้ปัญหาในหลายด้าน เช่นความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ฐานะการคลัง การชะลอลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ที่สำคัญที่สุดคือความอยู่ดีและเพิ่มบทบาทของผู้สูงอายุ ของการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจ แรงงานผู้สูงอายุจะเข้ามาทดแทนแรงงานที่ขาดในช่วง 10-15 ปี ข้างหน้าได้ ”

อย่างไรก็ดี แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ที่ดำเนินถึงมาถึงแผนฉบับที่ 2 (เริ่ม 2545-2564 ต่อเนื่องจากแผนฉบับ 1ที่เริ่มปี 2525-2544 ) เป็นปีที่ 15 จากการที่ประเมินสู่รอบที่ 3 พบว่าในรูปธรรมการทำงานยังไม่ขยับเขยื้อนเท่าที่ควร ส่วนใหญ่ยังมองว่าประสิทธิผลจากแรงงานผู้สูงอายุยังต่ำ ที่เป็นปัญหากว่านั้น คือแรงงานบางส่วนถูกเลิกจ้างตั้งแต่อายุ 40-50 ปี ซึ่งน่าห่วงว่าจะอยู่อย่างไรกันต่อ เพราะคนมีอายุสูงขึ้นเรื่อยๆ หรือการที่แรงงานรุ่นใหม่อยากรวยลัด ออกมาตั้งธุรกิจส่วนตัว เมื่อไม่ประสบสำเร็จล้มทั้งยืน

รวมไปถึงอุปสรรคด้านกฎหมายไม่เอื้อให้มีการจ้างงาน อาทิเป็นบางชิ้น บางเวลา และพรบ.ประกันสังคม ที่กำหนดให้ได้รับบำนาญได้ตั้งแต่อายุ 55 ปี ส่งผลให้ภาคเอกชนใช้มาเป็นตัวกำหนดอายุเกษียณ ล้อไปกับประกันสังคม

แผนยุทธศาสตร์หนุนคนสูงวัยทำงาน

รศ.ดร. วิพรรณ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาทางวิทยาลัยประชากรศาสตร์ ได้ร่วมกับมส.ผส. และสสส. จัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านการทำงานของผู้สูงอายุ แผนที่ 1 ระยะ5ปี เพื่อเพิ่มความมั่นคงและคุณภาพของผู้สูงอายุ ซึ่งสอดคล้องกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่มองผู้สูงอายุเป็นองค์รวม โดยได้วาง 5 ยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการทำงานผู้สูงอายุ คือ

1.กระจายการทำงานสู่บ้าน เนื่องจากข้อจำกัดในการเดินทางของผู้สูงอายุ หรือการส่งเสริมการทำงานผ่านออนไลน์ 2.การขยายอายุเกษียณราชการ โดยเน้นในสายงานที่ขาดแคลน ที่ไม่ใช่ตำแหน่งผู้บริหาร แต่ทั้งนี้ก็ต้องปรับปรุงกองทุนบำเหน็จบำนาญให้สอดคล้องกัน โดยขณะนี้กระทรวงแรงงานเพิ่งเริ่มเคลื่อน 3.การจ้างงานต่อเนื่องของภาคเอกชน โดยมีมาตรการจูงใจ ซึ่งในช่วงแรกประกันสังคมอาจขยาย โดยกำหนดให้ได้รับบำนาญตั้งแต่อายุ 60 ปีก่อน 4.การจ้างงานใหม่ โดยเน้นการสร้างงานให้เหมาะกับคุณวุฒิและวัยวุฒิ โดยการเตรียมคนให้พร้อมทั้งความรู้ และการอบรมทักษะ ตั้งแต่อายุ 40-45 ปี การรณรงค์ส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุ ลบอคติต่อการทำงานของผู้สูงวัย และ 5.การมีฐานข้อมูล-ตลาดแรงงาน ทั้งแหล่งผู้สูงอายุ และความต้องการของตลาด

แก้กม.ขยายอายุเกษียณขรก./เอกชน

“การขยายอายุเกษียณข้าราชการ ควรพิจารณาเฉพาะส่วนงานที่จำเป็นและขาดแคลน แต่ไม่ใช่ขยายทั่วหน้า โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริหารไม่ควรจะต่ออายุ แต่อาจจ้างในรูปแบบการเป็นที่ปรึกษา คือมาเป็นบางเวลาและได้รายได้เพียงบางส่วน ขณะที่ส่วนของภาคเอกชนอาจทำได้ใน 2 ลักษณะคือจ้างต่อหรือจ้างใหม่ เพิ่มไปจากอายุ 55 ปี ซึ่งต้องเตรียมตัวเนิ่น ๆ ตั้งแต่อายุ 40 -45 ปี แต่ยอมรับว่าขณะนี้ยังไม่เอื้ออาทิตัวกฏหมาย ประกันสังคมในปัจจุบันที่ระบุ อายุ 55 ปีก็สามารถได้สิทธิ์เรื่องบำนาญ นอกจากนี้มาตรการหนึ่งที่อาจนำมาใช้จูงใจภาคเอกชน ก็คือการลดเงินจ่ายสมทบสวัสดิการในส่วนนายจ้างสมทบ โดยปรับลดลง เพื่อจูงใจให้นายจ้างจ้างแรงงานกลุ่มนี้เข้ามาทำงานและให้ทำด้วยความสมัครใจ” รศ.ดร. วิพรรณ กล่าวและว่า

เป็นที่น่ายินดีว่าขณะนี้แผนกลยุทธ์ดังกล่าวได้ถูกนำไปเสนอในคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งมีมติรับแผนนี้ โดยได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม รับไปดำเนินการเป็นแผนปฏิบัติการ ซึ่งได้จัดทำเป็นรายปี นอกจากนี้คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ยังได้ขยายตัวแผน เป็น 5 ปี จากปี 2559-2563 เป็น 2559- 2564แต่ที่น่าเสียดายเพราะยังไม่มีความคืบหน้า ก็คือเรื่องการกระจายการทำงานสู่บ้าน เพราะยังไม่มีหน่วยงานทั้งภาครัฐหรือเอกชนรายใดนำไปทำ

Photo : Pixabay

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,197 วันที่ 2 – 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ขอบคุณ... http://www.thansettakij.com/2016/10/05/102746 (ขนาดไฟล์: 167)

ที่มา: thansettakij.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 6 ต.ค.59
วันที่โพสต์: 6/10/2559 เวลา 09:39:18 ดูภาพสไลด์โชว์ หลักประกัน-รายได้ยามเกษียณ ความจำ เป็นต้องส่งเสริมการทำงาน‘ผู้สูงอายุ’