อนาคตการตลาดไทย บนเส้นทาง Digital Retailing

อนาคตการตลาดไทย บนเส้นทาง Digital Retailing

ท่ามกลางกระแสการเข้ามาของดิจิตอล ส่งผลให้ธุรกิจทุกภาคส่วนต่างปรับตัวรองรับ เพื่อสร้างให้เป็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจ ล่าสุดสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือ PIM จัดสัมมนาขึ้นในหัวข้อ ” ทิศทางค้าปลีกสมัยใหม่ 2560 กับยุค Digital Eagagement ” โดยมี 3 กูรูในแวดวงธุรกิจ e-Business ร่วมเสวนาในหัวข้อ “อนาคตการตลาดไทยบนเส้นทาง Digital Retailing”

ผสมผสานผ่านออมนิ แชนนอล

นายอำพา ยงพิศาลภพ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท 24 Shopping จำกัด กล่าวว่า การทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซในปัจจุบันมีความพร้อม และความสะดวกมากขึ้น เมื่อเทียบกับในอดีต โดยเฉพาะเมื่อเกิดการเชื่อมโยงกับเครือข่ายธุรกิจ ทั้งเซเว่นอีเลฟเว่น 24 ช้อปปิ้ง รวมถึงทรูซีเล็คท์ หากย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีก่อน ที่เซเว่นอีเลฟเว่นถือกำเนิดเซเว่น แคตตาล็อก ไม่เคยมีใครคิดว่าจะมีระบบอีคอมเมิร์ซเกิดขึ้น เพราะขณะนั้นเซเว่นฯ มีสาขาอยู่กว่า 1,000 แห่ง เป็นระบบออฟไลน์ผสมออนไลน์ เนื่องจากระบบอินเตอร์เน็ตในประเทศไทยยังไม่สมบูรณ์นัก การจะทำอีคอมเมิร์ซจึงเป็นเรื่องที่ยาก จนเมื่อธุรกิจมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงมีการขยายระบบ พร้อมเสริมบริการเข้ามา

ขณะที่ธุรกิจ 24 ช้อปปิ้งเกิดขึ้นด้วยระบบค่อนข้างสมบูรณ์ ด้วยแนวคิดที่ต้องการต่อยอดให้ซีพีออลล์มีสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่ต้องจำหน่ายเฉพาะภายในร้าน เซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งมีพื้นที่จำกัดเพียง 120 ตร.ม.เท่านั้น แม้บางทำเลจะมีพื้นมากกว่า 200 ตร.ม. แต่มีสินค้ามากมายที่ต้องการเข้ามาวางจำหน่าย และมีสินค้ามากมายเช่นกันที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ดังนั้นหากเป็น 24 ช้อปปิ้ง ก็เป็นโอกาสในการนำเสนอสินค้าหลากหลาย และมากมายไม่จำกัดจำนวน เพราะไม่มีข้อจำกัดเรื่องของพื้นที่ ซึ่งนอกจากขายผ่านออฟไลน์ได้ ยังสามารถขายผ่านออนไลน์ได้ และหลายสินค้าสามารถผสมผสานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ หรือที่เรียกว่า ออมนิ แชนนอลได้ เช่น หนังสือ เป็นต้น

โดยความหลากหลายของออมนิ แชนนอล และจุดแข็งของซีพีออลล์ ใน 4 ด้าน ได้แก่ จำนวนร้าน , เครือข่าย , โลจิสติกส์ และ บุคลากร ซึ่งเซเว่นฯ มีจำนวนพนักงานกว่า 1.4 แสนคน ทำงานทุกวัน 7 วัน 24 ชั่วโมง ทำอย่างไรถึงจะขายสินค้าโดยไม่ต้องเห็นสินค้า และจ่ายสินค้า รับสินค้าโดยไม่ต้องเห็นสินค้า ให้บริการกับลูกค้าที่สั่งของทางออนไลน์และรับของที่ร้าน ระบบจะถูกร้อยเรียง โดยมี 24 ช้อปปิ้งเป็นจุดเชื่อมให้กับลูกค้าที่เดินเข้ามาที่ร้านและเป็นจุดเชื่อมให้กับคู่ค้าต่างๆสามารถที่จะนำสินค้าที่มีความหลากหลายเข้ามาค้าขายกันได้

สร้างแบรนด์ผ่านดิจิตอล

ด้านนางสาวเสาวนีย์ วงษ์สมพิพัฒน์ Head of Digital – Consumer Product Division บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยมีความตื่นตัวในเรื่องของดิจิตอลมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยลอรีอัลให้ความสำคัญกับการเพิ่มทักษะให้กับบุคลากรอย่างมาก เพราะที่ผ่านมายังขาดคนที่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับมีเดียและดิจิตอลอย่างมาก ทำให้บริษัทต้องเพิ่มการเข้ามาดูแลด้านคอนเทนต์ มาร์เก็ตติ้ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการทำการตลาด และเทรนด์มีเดีย รวมถึงเรื่องของอีคอมเมิร์ซ

“ลอรีอัล มองว่าคอนเทนต์ ดิจิตอล มีเดีย เป็นการสร้างแบรนด์ดิ้งอย่างหนึ่ง และเป็นทัชพ้อยท์ที่นำมาสื่อสารกับผู้บริโภค เพราะฉะนั้นหัวใจหลักของการทำคอนเทนท์ มาร์เก็ตติ้งจะอยู่ที่ผู้บริโภค ความท้าทายในปัจจุบันของการตลาดที่ยังอยู่ในโลกออฟไลน์ ไม่ได้ปรับตัวเองเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างแท้จริง”

วิเคราะห์อย่างกระจ่าง ลดเสี่ยง

ขณะที่นายสรรเสริญ สมัยสุต Chief Commercial officer บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า สิ่งที่เป็นโอกาสและความท้าทายของอีคอมเมิร์ซคือระบบอินเตอร์เน็ตของบ้านเรา ซึ่งในปัจจุบันเรามีระบบอินเตอร์เน็ตไร้สายเข้ามา 3G, 4G ความเร็วสูงที่เข้าถึงทุกพื้นที่ ทำให้คนเริ่มรู้จักเริ่มเข้าถึงการบริการด้านอินเตอร์เน็ต ด้านกฎหมาย ด้านโลจิสติกส์ที่ดีขึ้น อายุผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตจึงเปลี่ยนจากกลุ่มเด็กเป็นวัยทำงานมากขึ้น ดังนั้นสภาพแวดล้อมต่างๆ อำนวยให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างรวดเร็ว ชาเลนจ์ที่สำคัญคือทุกคนมองว่าอินเตอร์เน็ตเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างหนึ่ง เข้าถึงง่ายมีการแข่งขันสูง ซึ่งธุรกิจด้านดิจิตอลที่สำคัญต้องอาศัยการปรับตัวด้วย การยอมรับความเปลี่ยนแปลง เพราะธุรกิจไม่มีอะไรยั่งยืน ดังนั้นการเข้ามาของอินเตอร์เน็ตถือเป็นยุทธ์ศาสตร์ในการทำธุรกิจที่ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงมีทั้งในระบบออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งเกิดจากความไม่รู้ ดังนั้นวิธีการลดความเสี่ยงคือ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการทำธุรกิจออนไลน์เป็นแบบไหน วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง การทำธุรกิจบนมือถือว่ามีความเสี่ยงแต่ไม่มาก เนื่องจากสามารถหาต้นสายปลายเหตุได้ง่าย เพราะระบบรู้หมดว่าสมาร์ทโฟนเครื่องไหนสั่ง คอมพิวเตอร์เครื่องไหนจองสินค้า ดังนั้นอยากให้เข้าใจการทำธุรกิจออนไลน์ให้ดีก่อน วางแผนการทำธุรกิจเพื่อรับมือกับความเสี่ยง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,194 วันที่ 22 – 24 กันยายน พ.ศ. 2559

ขอบคุณ... http://www.thansettakij.com/2016/09/22/99671 (ขนาดไฟล์: 167)

ที่มา: thansettakij.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 23 ก.ย.59
วันที่โพสต์: 23/09/2559 เวลา 09:35:47 ดูภาพสไลด์โชว์ อนาคตการตลาดไทย บนเส้นทาง Digital Retailing